X

นครพนม เตรียมเปิดสมรภูมิ “หลุบอีเลิด” เป็นแหล่งท่องเที่ยวตามรอยเส้นทางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยบนเทือกเขาภูพาน

ม.นครพนม ร่วมกับอุทยานแห่งชาติ.ภูผายล เตรียมเปิดสมรภูมิ “หลุบอีเลิด” เป็นแหล่งท่องเที่ยวตามรอยเส้นทางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยบนเทือกเขาภูพาน


วันที่ 19 ธ.ค.66 นายณรงค์ฤทธิ์ สุมาลี อาจารย์สาขาวิชามานุษยวิทยาวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม พร้อมทีมนักวิชาการ และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติภูผายล ขึ้นสำรวจเส้นทางบนเทือกเขาภูพาน เพื่อศึกษาข้อมูลเส้นทาง สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ เพื่อเตรียมเปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และนิเวศวัฒนธรรมของพื้นที่หลุบอีเลิด ตามรอยเส้นทางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยบนเทือกเขาภูพาน ในเขตพื้นที่ ต.ก้านเหลือง อ.นาแก จ.นครพนม

โดย “หลุบอีเลิด” เป็นสถานที่สำคัญในฐานะที่เคยเป็นศูนย์กลางฐานบัญชาการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ในเขตพื้นที่ภูพาน และอีสานเหนือ ช่วงปี 2500 ถึงปี 2520 กิจกรรม “ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และนิเวศวัฒนธรรมของพื้นที่หลุบอีเลิด ตามรอยเส้นทางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในเทือกเขาภูพาน เป็นโครงการท่องเที่ยวของจังหวัดนครพนม ที่ร่วมกับคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม โดยมีนายณรงค์ฤทธิ์ สุมาลี อาจารย์สาขาวิชามานุษยวิทยาวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว เป็นหัวหน้าโครงการ เพื่อผลักดันสถานที่สำคัญดังกล่าวเป็นแหล่งท่องเที่ยวให้กับนักท่องเที่ยวได้เดินป่าเข้าชมความงดงามของเส้นทางทางธรรมชาติ และศึกษาข้อมูลอันสำคัญทางประวัติศาสตร์ของเส้นทางพรรคคอมมิวนิสต์ ในสมัยนั้น

สมรภูมิการต่อสู้ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยและรัฐบาลไทย ในสมัยนั้น มีความสืบเนื่องจากแบ่งขั้วของลัทธิทางการเมืองในระดับภูมิภาคและแพร่กระจายแทรกซึมไปทั่วโลก รวมทั้งในสังคมไทยด้วย จนยกระดับเป็นพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสยาม และพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยตามลำดับ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2470 ถึงปี 2490

และนอกจากปัจจัยภายนอกแล้ว ยังเกิดจากปัจจัยภายในสังคมไทยในขณะนั้นด้วย โดยเกิดขึ้นจากความเห็นต่างและแตกแยกทางความคิด ความคับแค้นใจจากการถูกกดขี่ข่มเหง จากเจ้าหน้าที่รัฐ จนทำให้สถานการณ์ลุกลามกลายเป็นความรุนแรงถึงขั้นจับอาวุธลุกขึ้นต่อสู้กับอำนาจรัฐอย่างจริงจัง ซึ่งจุดเริ่มต้นสำคัญของการปะทะกันด้วยกำลังอาวุธครั้งแรกระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยกับรัฐบาลหรือที่เรียกกันว่าวันเสียงปืนแตก นั้นเกิดขึ้นเมื่อเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2508 ที่บ้านนาบัว ตำบลเรณูนคร อำเภอพระธาตุพนม จังหวัดนครพนม (ในเวลานั้น) โดยสงครามประชาชนเริ่มต้นขึ้นจากการเคลื่อนไหวที่มีแนวร่วมสำคัญจากชนบทโดยเฉพาะชาวนา ได้ลุกลามไปทั่วทั้งอีสาน นับตั้งแต่ยอดภูพานถึงที่ราบนาดอน จากอีสานเหนือถึงอีสานใต้ จรดอีสานตะวันตก การเคลื่อนไหวทางการเมืองและการสู้รบของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในภาคอีสานมีความชัดเจนเปิดเผย และดุเดือดกว่าภาคอื่น ๆ อีกทั้งยังเป็นเขตการเคลื่อนไหวที่มีมวลชนเป็นแนวร่วมค่อนข้างมาก มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

ต่อมาสถานการณ์ความขัดแย้งของประเทศแกนนำอุดมการณ์ทางการเมืองคอมมิวนิสต์ คือ โซเวียตและจีน รวมทั้งการดำเนินการเชิงยุทธศาสตร์การเมืองโลกระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน และประเทศไทยกับจีน ประกอบกับแนวทางในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของรัฐบาลไทยในเวลานั้นที่เน้นการใช้นโยบายการเมืองนำการทหาร ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 ได้เปิดโอกาสให้ผู้ปฏิบัติงานตามแนวทางของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในเขตป่าได้คืนกลับสู่เมืองเพื่อร่วมเป็นผู้พัฒนาชาติไทย ซึ่งมีผลให้สถานการณ์ความขัดแย้งและการต่อสู้ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยกับรัฐบาล ได้คลี่คลายและสงบลง เช่นเดียวกับสมรภูมิ “หลุบอีเลิด” ที่ได้ลดอุณหภูมิความร้อนแรงลง และค่อยคลี่คลายบรรยากาศความขัดแย้งลงตามลำดับ

เทือกเขาภูพาน ครอบคลุมพื้นที่อำเภอเมืองสกลนคร อำเภอโคกศรีสุพรรณ อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม และอำเภอดงหลวง อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร สภาพภูมิศาสตร์ทั่วไปเป็นที่ราบสูงสลับกับเทือกเขาหินทราย รายล้อมด้วยภูเขาสูงชัน มีป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และป่าดิบแล้ง ส่วน “หลุบอีเลิด” เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาภูพาน มีลักษณะคล้ายแอ่งกระทะ ปัจจุบันมีอุทยานแห่งชาติภูผายล ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นหน่วยงานดูแล ครอบคลุมพื้นที่หลายตำบลของอำเภอนาแก จังหวัดนครพนม และบางส่วนของตำบลดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร การสำรวจพื้นที่เส้นทางของทีมนักวิชาการมหาวิทยาลัยนครพนม ใช้การเดินเท้าจากพื้นที่เชิงเขาริมอ่างเก็บน้ำห้วยวังแปว บ้านจอมศรี ตำบลก้านเหลือง อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม เดินลัดเลาะขึ้นไปตามป่าสลับกับโขดหินขนาดใหญ่ โดยระหว่างทางจะมีจุดสำคัญเชิงประวัติศาสตร์หลายแห่ง เช่น ถ้ำพวง หินโจมแปะ ถ้ำผีหลอก รอยเมย หลุบอีเลิด หมุดทางทหาร ถ้ำไฮ ถ้ำทอง ถ้ำร้อยเตียง และจุดชมวิวที่สูงที่สุดบนเทือกเขาภูพาน คือ ลานหินแตก มีลักษณะคล้ายหินที่แตกแยกจากกันหลายจุด และเป็นจุดชมวิว 360 องศา สามารถชมพระอาทิตย์ ขึ้น-ลง ได้อย่างสวยงาม ซึ่งพื้นที่โดยรอบของลานหินแตกสามารถใช้เป็นจุดกางเต็นท์ หรือผูกเปลนอนพักแรมในยามค่ำคืนได้ หากเป็นช่วงหน้าหนาวอากาศจะหนาวเย็นมาก เหมาะกับนักท่องเที่ยวสายเดินป่าอย่างแท้จริง เพราะระยะทางจากเนินเขาข้างล่างขึ้นไปยัง “ลานหินแตก” รวมระยะทาง 10 กิโลเมตร และในการเดินป่าต้องใช้เวลา 3 วัน 2 คืน หรือ 2 วัน 1 คืน (ตามเส้นทางที่เลือกเข้าชม) ส่วนการเตรียมตัวควรมีการวอร์มร่างกายให้พร้อม พักผ่อนให้เพียงพอ เนื่องจากทางเดินค่อนข้างสูงและชัน สำหรับอาหารควรเป็นอาหารแห้ง และสิ่งของเครื่องใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น สำคัญที่สุดคือน้ำดื่มที่แต่ละคนต้องมีติดตัวระหว่างเดินทางท่องเที่ยวให้เพียงพอด้วย

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน