X

ไทแสกอาจสามารถจัดงาน กินเตด ขึ้นปีใหม่ไทแสกอย่างยิ่งใหญ่

เมื่อวันที่ 11 ก.พ..67 นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธานเปิดงานประเพณี “วันรวมใจไทแสก” หรือตรุษไทแสกประจำปี 2567 ซึ่งชาวไทแสกเรียกว่า กินเตด ที่ชุมชนบ้านอาจสามารถ (ริมฝั่งแม่น้ำโขง) ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม พร้อมกับนางสงวน จันทร์พร ประธานแม่บ้านมหาดไทย จังหวัดนครพนม เป็นเกียรติในงานประเพณี “วันรวมใจไทแสก” และ ดร.ขวัญ ศุภพานี โพธิ์สุ นายกองค์การบริหาร ส่วนจังหวัดนครพนม นายสมศักดิ์ บุญจันทร์ นายอำเภอเมืองนครพนม โดยมีนายปรีชา ศรีสงค์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลอาจสามารถ นายไพรัตน์ สุสิงห์ กำนันตำบลอาจสามารถ พร้อมผู้ใหญ่บ้าน ชุมชนตำบลอาจสามารถ ให้การต้อนรับ
การจัดงานในครั้งนี้เพื่ออนุรักษ์และสืบทอดประเพณีไทแสกให้คงอยู่ตลอดไป ชนเผ่าไทแสก เป็น 1 ใน 9 ชนเผ่า ของ จังหวัดนครพนม ที่มีมาแต่โบราณ จากอดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมชุมชนดั้งเดิมที่มีบรรพบุรุษอพยพมาจากจีนและเวียดนาม กระจายมาอยู่ตามสองฝั่งแม่น้ำโขง ดินแดน 12 ปันนา รวมถึง เมืองท่าแขก แขวงคำม่วน สปป.ลาว และข้ามฝั่งแม่น้ำโขง มาอยู่ที่ ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม ในยุคสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 หรือ ประมาณ พ.ศ.2367 – 2394
ทุกปีจะจัดช่วง เดือนกุมภาพันธ์ ขึ้น 2 ค่ำ เดือน 3 ปีนี้จัดระหว่างวันที่ 10-12 กุมภาพันธ์ ไฮไลท์ของงานจะเป็นที่ 11 กุมภาพันธ์ จะมีกิจกรรมที่สำคัญ คือพิธี “กินเตดเดน” เป็นภาษาไทแสก หมายถึงจัดพิธีบวงสรวงไหว้บรรพบุรุษ คล้ายตรุษจีน การแสดงแสกเต้นสาก เพื่อเป็นสิริมงคล การประกวดเทพีไทแสก -ธิดาไทแสก ประกวดซุ้มซอย แสดงซุ้มวิธีชีวิตวัฒนธรรมไทแสกของชุมชนต่างๆ สำหรับประเพณี “วันรวมใจไทแสก” ไฮไลท์สำคัญอีกอย่างหนึ่ง หลังจากเสร็จพิธีทำบุญ บวงสรวงไหว้บรรพบุรุษเจ้าปู่โองมู้ คือ การแสดงแสกเต้นสาก เกิดจากพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ ในอดีตเดิม เพื่อบูชาบวงสรวงบรรพบุรุษ เป็นต้นตำรับการเต้นสาก มีที่เดียวในประเทศไทย จนถึงปัจจุบัน นำมาเป็นการละเล่นแสดงโชว์ในงานพิธีสำคัญ ถือเป็นการแสดงที่ยากต้องใช้ความชำนาญ ใช้ผู้แสดงกว่า 10 คน นำไม้ยาว 2-3 เมตร เป็นคู่ มานั่งกระทบ เป็นจังหวะ
สมัยโบราณในการเคาะจังหวะจะใช้ไม้สากตำข้าวไม่มีการเตรียม จับไม้สากมาเคาะเป็นจังหวะได้เลย ปัจจุบันจังหวะการตีสากจะมีหลายจังหวะด้วยกัน หากคนตีสากไม่เป็นและเต้นสากไม่เป็น หรือ เต้นไม่ถูกจังหวะ ไม้สากก็จะตีกระทบขาคนที่เต้น ให้เกิดการเจ็บปวดได้

ผู้ทำหน้าที่เคาะไม้สาก จะนั่งตรงข้าม จับคู่กันประมาณ 5 ถึง 7 คู่ แล้วแต่ความยาวของไม้รองไม้สากจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายก็ได้
ผู้เต้น จะทำท่าเต้นคล้ายๆ รำลาวกระทบไม้แต่จังหวะการเต้นจะเร็วกว่ามาก จะมีทั้งเต้นเดี่ยว เต้นเป็นคู่ มีจังหวะช้า จังหวะเร็ว ผู้เต้นจะมีทั้งชายและหญิง ผู้ร้อง เนื้อเพลงภาษาแสกแล้วประกอบดนตรี จะเป็นผู้หญิงหรือชายก็ได้ เครื่องแต่งกายในการแสดงสาก
ผู้ชาย เสื้อดำแขนสั้น ผ้าย้อมหม้อสีคราม เสื้อคอกลมติดกระดุมด้านหน้ากางเกงขาก๊วย หรือขาครึ่งท่อ ผ้าคาดเอว เป็นผ้าขาวม้า เป็นลายตะล่องสีแดงส่วนผ้าพาดบ่า ใช้ผ้าสีแดงล้วน

ผู้หญิง เสื้อแขนยาวสีดำ ผ่าอก ติดกระดุมด้านหน้า ผ้าถุงสีดำมีเชิงที่ปลายผ้าถุง ผ้าถุงยาวกรอมเท้า ผ้าคาดเอวนิยมเป็นผ้าลายเดี่ยวกันกับลายเชิงผ้าถุงผ้าเบี่ยงซ้าย ใช้ผ้าสีแดง นิยมใส่ตุ้มหู กำไลขา และสร้อยขา และสร้อยคอผมนิยมไว้ผมยาวเกล้ารัดมวย
ที่สำคัญการที่จะนำไปแสดงที่อื่นจะต้องทำพิธีขออนุญาต “โองมู้” อนุญาตแล้วจึงนำไปแสดง การนำเต้นสากไปแสดงโดยไม่ได้ขออนุญาตก็จะมีเหตุให้มีอันเป็นไป เช่น ทำให้เจ็บไข้ไม่สบายโดยหาสาเหตุไม่ได้

ชาวไทแสกเดิมจะมีชุดประจำถิ่นจากผ้าฝ้ายสีเข้ม ขริบ สไบสีแดง มีภาษาวัฒนธรรมเป็นของตัวเอง ทุกปี ชาวไทแสกจะต้องมีการทำบุญกราบไหว้สักการบูชา เจ้าเด่นหวั่วปู่โองมู้ ริมฝั่งแม่น้ำโขง ถือเป็นบรรพบุรุษที่ก่อตั้งหมู่บ้าน ดูแลชาวไทแสกมาแต่อดีต จึงได้ร่วมกันจัดสร้างศาลขึ้น เป็นที่รวมจิตใจ ปัจจุบันได้พัฒนาเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ มีการจัดจำหน่าย สินค้าโอท็อป มีการจัดแสดงวัฒนธรรมประเพณีรับนักท่องเที่ยว รวมถึงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงปลาในกระชังริมฝั่งแม่น้ำโขง เปิดร้านอาหารเมนูปลาในพื้นที่ ขาดไม่ได้ที่ต้องชิมลิ้มรส “เมี่ยงตาสวด” หรือ “เมี่ยงตาเหลือก”
ประเพณีแสกเต้นสาก ที่หาดูได้ยาก เป็นการสืบสานพิธีความเชื่อ นำมาสู่การแสดง ส่งเสริมการท่องเที่ยว ให้เกิดความยั่งยืนในตำบลอาจสามารถ และเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพให้ชุมชน สัมผัสวิถีชีวิต เอกลักษณ์ วัฒนธรรมชนเผ่าไทแสก โดยจะจัดงานช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ในช่วงวันขึ้น 2 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน