X

เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่งวงนครพนม ร้องถูกกรมปศุสัตว์ ลอยแพ ทั้งที่เคยส่งเสริมให้เลี้ยงไก่งวงอย่างจริงจัง

เมื่อวันที่ 22 พ.ค.67 ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่พบนายเชษฐา กัญญาวงศ์ หรือลุงโย อายุ 59 ปี บ้านเลขที่ 19/1 หมู่ 8 บ้านคำเกิ้ม ต.อาจสามารถ อ.เมือง จ.นครพนม โดยเปิดฟาร์มเลี้ยงไก่งวง”คำเพิ่มฟาร์ม” ลุงโยเล่าว่า เดิมทีนั้นเมื่อปี 2545 ตนซื้อไก่งวงมาเลี้ยงเป็นรายแรกยังหมู่บ้านคำเกิ้ม อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม พร้อมด้วยกลุ่มผู้เลี้ยงต่างอำเภอของนครพนม สร้างผลผลิตจากการเลี้ยงนับหมื่นตัว ซึ่งได้รับความนิยมและสนใจจากผู้บริโภค

กระทั่งต่อมาช่วงราวปี 52-53 ทางกลุ่มผู้เลี้ยงไก่งวง ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงอย่างจริงจังจากสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครพนม เต็มรูปแบบครบวงจรด้วยการเข้ามาสนับสนุนช่วยเหลือ โดยปลูกสร้างโรงเชือดพร้อมแปรรูป ให้คำแนะนำต่างๆ ตลอดทั้งสนง.เกษตรอำเภอเมืองนครพนม ได้เข้ามาส่งเสริมให้มีการจดทะเบียนเป็น”กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงไก่งวงคำเกิ้ม” รวมถึง 12 กลุ่มอำเภอและทำเป็นเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศ โดยแปรรูปเนื้อไก่งวงส่งจำหน่ายทั้งภายในและต่างประเทศ จนได้มีคำสั่งซื้อจากกลุ่มประเทศทางตะวันออกกลางและญี่ปุ่น จำนวนหลายสิบตัน ทำให้กลุ่มเกษตรกรเกิดความเชื่อมั่นตลาด ต่างระดมลงทุนปลูกสร้างโรงเรือนและขยายกิจการกันอย่างต่อเนื่อง

ลุงโย กล่าวถึงปัญหา การตลาดความต้องการที่มีคำสั่งซื้อในขณะที่ทุกอย่างกำลังดำเนินการไปได้ด้วยดี ทางกลุ่มฯ ถูกสั่งระงับจำหน่ายเพื่อการส่งออกทั้งที่ผ่านมา ได้รับการส่งเสริม ดูแลและควบคุมทุกขั้นตอนจากหน่วยงานปศุสัตว์มาโดยตลอด ส่วนสาเหตุจากการกล่าวอ้าง ไก่งวงไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนส่งเสริมต่อกรมปศุสัตว์ จึงทำให้ทุกอย่างเกิดสุญญากาศโดยทันที ชิ้นส่วนไก่งวงที่เตรียมไว้เพื่อการส่งออกหลายสิบตันต้องหยุดชะงัก ต้นทุนค่าใช้จ่ายที่กู้ยืมจากสถาบันการเงินกลายเป็นหนี้เสีย

ต่อมาทางกลุ่มฯ ต่างพยายามหาทางออกร่วมกันกับภาครัฐ แต่ไม่มีความคืบหน้าใดๆ แต่ในทางตรงกันข้ามเกิดเงื่อนไขมากมายตั้งแต่ลักษณะโรงเรือน ข้อจำกัดสุขลักษณะของโรงเชือด รวมทั้งภาษีปศุสัตว์ที่ไม่เป็นธรรม โดยเชื่อว่า ทางกลุ่มผู้เลี้ยงฯกำลังถูกกีดกันจากนายทุนทางการเมืองที่ทำธุรกิจแปรรูปสัตว์ปีกออกไปยังต่างประเทศรายใหญ่ โดยใช้รัฐเป็นเครื่องมือ

ล่าสุด ทราบว่าทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แจ้งมาให้ทางส่งผู้แทนกลุ่มฯเข้าปรึกษาและเพื่อหาหนทางเยียวยาต่อปัญหาที่ผ่านมา สำหรับตนอยากขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หันมาสนับสนุนกลุ่มผู้เลี้ยงไก่งวงให้เป็นรูปธรรมจะดีกว่า เพราะทางกลุ่มฯมีประสบการณ์ มีตลาดทั้งในและต่างประเทศที่มีความต้องการอยู่แล้ว ขอเพียงความจริงใจในการส่งเสริม ลดขั้นตอนและภาษีการแปรรูปที่เป็นธรรม เนื่องจากเวลานี้การเชือดไก่งวง ต่อ 1 ตัว ค่าใช้จ่าย 20-30 บาท ภาษีอีกตัวละ 20 บาท ซึ่งแพงกว่าสัตว์ชนิดอื่น ๆ

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน