X

ทีมนักวิจัย ม.นครพนม ร่วมกับชาวบ้านพื้นที่ศรีสงคราม ปลูกต้นยางนาและปล่อยพันธุ์ปลาลงแหล่งอนุบาล 10,000 ตัว เพิ่มห่วงโซ่อาหารปลาลุ่มน้ำสงคราม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นุชรัตน์ มังคละคีรี หัวหน้าโครงการยกระดับห่วงโซ่อุปทานปลาตากแห้งน้ำสงครามตอนล่าง พร้อมด้วยทีมนักวิจัย ลงพื้นที่วัดศรีวิชัย เพื่อสรุปงานวิจัยและคืนข้อมูลให้กับชุมชนในพื้นที่ โดยมีพระครูวินัยรสสุนทร เจ้าอาวาสวัดศรีวิชัย พร้อมผู้นำชุมชนและชาวบ้านร่วมต้อนรับ ณ ศาลาวัดศรีวิชัย บ้านสามผง ตำบลสามผง อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นุชรัตน์ มังคละคีรี หัวหน้าโครงการยกระดับห่วงโซ่อุปทานปลาตากแห้งน้ำสงครามตอนล่าง กล่าวว่า โครงการยกระดับห่วงโซ่อุปทานปลาตากแห้งน้ำสงครามตอนล่าง เป็นการดำเนินกิจกรรมภายใต้กรอบงานวิจัย “การพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการในพื้นที่ (Local Enterprises) บนฐานทรัพยากรพื้นถิ่น เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่” เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนชุมชน ในเรื่องของอาชีพการหาปลาและการแปรรูปผลิตภัณฑ์ปลาตากแห้งของผู้ประกอบการในพื้นที่ ให้มีรายได้ที่มั่งคงต่อเนื่องและเกิดความยั่งยืน โดยได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และมหาวิทยาลัยนครพนม (มนพ.) ซึ่งงานวิจัยเริ่มมาตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน 2566 – เดือนเมษายน 2567 (รวมระยะเวลาดำเนินงาน 1 ปี) ทำให้ชาวบ้านในชุมชนมีอาชีพที่มั่นคง เกิดรายได้หมุนเวียนในพื้นที่ของอำเภอศรีสงคราม ได้แก่ บ้านปากยาม บ้านสามผง บ้านท่าบ่อ บ้านยางงอย และบ้านศรีเวินชัย ซึ่งเป็นพื้นที่หาปลาของคนในลุ่มน้ำสงคราม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นุชรัตน์ กล่าว

ด้าน พระครูวินัยรสสุนทร เจ้าอาวาสวัดศรีวิชัย กล่าวว่า ลำน้ำสงครามเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่ถือเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของคนในพื้นที่ ปัจจุบันความต้องการของคนมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ทางกลับกันวัตถุดิบ (ปลา) ลดลง เราก็ต้องหันมาพูดคุยหาแนวทางร่วมกันที่จะทำให้วิถีชีวิตกับภาคธุรกิจเกิดสมดุลและมีความยั่งยืน ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ ซึ่งการดำเนินงานวิจัยของทีมมหาวิทยาลัยนครพนม ทำให้ชาวบ้านเห็นคุณค่าและทางออกร่วมกันในการที่จะหวงแหน อนุรักษ์ วิถี ภูมิปัญญาของชุมชน เพราะส่วนหนึ่งเป็นการฟังเสียงสะท้อนจากชุมชน ทำให้เกิดการต่อยอดที่จะพัฒนาร่วมกันได้อีกในหลายมิติ ส่วนทางวัดศรีวิชัยเองก็ดำเนินโครงการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำจืดมานานจนถึงปัจจุบัน ถือเป็นการช่วยในการเพาะพันธุ์ปลาอีกทางหนึ่ง เพื่อเพิ่มจำนวนของประชากรปลาซึ่งถือเป็นวัตถุดิบจากธรรมชาติทดแทนให้คืนสู่ห่วงโซ่อุปทานด้วยเช่นกัน พระครูวินัยรสสุนทร กล่าว

 

การลงพื้นที่ครั้งนี้ เป็นการสรุปและคืนข้อมูลงานวิจัยที่ได้จากการดำเนินงานให้กับชุมชน เพื่อเป็นข้อมูลให้กับชาวบ้านได้ศึกษาเพิ่มเติม จากการร่วมดำเนินกิจกรรมมาด้วยกันตลอดระยะเวลา 1 ปี โดยครั้งนี้ ทางทีมนักวิจัยได้นำต้นกล้าของ “ต้นยางนา” จากศูนย์วิจัยและฝึกอบรมการเกษตร มหาวิทยาลัยนครพนม จำนวน 36 ต้น เพื่อปลูกร่วมกันกับชาวบ้าน ให้เป็นพื้นที่สีเขียวและแหล่งศึกษาทางธรรมชาติ รวมถึงการปล่อย “ปลาสร้อยขาว” จากศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดนครพนม จำนวน 10,000 ตัว เพื่อให้เป็นแหล่งอนุบาลเพาะพันธุ์ปลากลับคืนสู่ลำน้ำสงครามเมื่อระดับน้ำลดลง

ทั้งนี้ มีศาสตราจารย์ นพ.บวรศิลป์ เชาวน์ชื่น อุปนายกสภามหาวิทยาลัยนครพนม และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรศักดิ์ ยตะโคตร รักษาราชการแทนคณบดีวิทยาลัยการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมบริการ ลงพื้นที่ทำกิจกรรมร่วมกับชุมชน ณ เขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาวัดศรีวิชัย

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน