วันที่ 14 กรกฎาคม 2567 นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า ตามที่จังหวัดนครพนมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และมูลนิธิพญาศรีสัตตนาคราช ร่วมกันจัดงานบวงสรวงพญาศรีสัตตนาคราช ประจำปี 2567 ระหว่างวันที่ 7-13 กรกฎาคม 2567 ณ ลานพญาศรีสัตตตนาคราช ต.ในเมือง อ.เมืองนครพนม จ.นครพนม เพื่อสืบสานตำนานความเชื่อความศรัทธาชาวลุ่มน้ำโขงที่มีต่อพญานาค ส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดนครพนมในการยกระดับเข้าสู่เมืองหลัก และกระจายได้จากการท่องเที่ยวสู่ชุมชน สนับสนุน Soft Power ตามนโยบายของรัฐบาล อีกทั้งเป็นการยกระดับแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดนครพนม นั้น
ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กล่าวว่า การจัดงานบวงสรวงพญาศรีสัตตนาคราชปีนี้ถือว่ายิ่งใหญ่กว่าทุกปีที่ผ่านมา มีการรวมพลังแห่งความเชื่อและความศรัทธา ร่วมสร้างเครื่องบวงสรวงพานบายศรีสูง 7 เมตร 70 เซนติเมตร จากดอกไม้สดและใบตองสด ถือว่าเป็น 3 ที่สุดของพานบายศรีคือ สูงที่สุด สวยที่สุด และใหญ่ที่สุด โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการจัดทำพานบายศรีจากผู้มีจิตศรัทธาภาคประชาชนถึง 2 แสนบาท และมีกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย ประกอบด้วย พิธีบวงสรวงและรำบูชาพญาศรีสัตตนาคราชตลอดระยะเวลา 7 วัน จาก 12 อำเภอ นางรำสวมใส่ชุดพื้นเมืองชุดประจำชนเผ่าตามอัตลักษณ์กลุ่มชาติพันธุ์ 9 ชนเผ่า 2 เชื้อชาติ รวมทั้งผู้ศรัทธาและนักท่องเที่ยวทั่วไป ไม่น้อยกว่าวันละ 700 คน โดยเฉพาะวันที่ 7 กรกฎาคม 2567 (วันที่ 7 เดือน 7) ซึ่งเป็นวันเปิดงาน มีพิธีบวงสรวงพญาศรีสัตตนาคราช ตามความเชื่อศาสนาพราหมณ์ และศาสนาพุทธ การจัดแสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์ ตอน พระรามราชสุริยวงศ์ โดยวิทยาลัยนาฎศิลปกาฬสินธุ์ ใช้นักแสดง 100 คน จัดริ้วขบวนแห่เครื่องพานบายศรีบูชาพญาศรีสัตตนาคราชที่มีความสูง 7 เมตร 70 เซนติเมตร พร้อมขบวนนางรำกว่า 1,200 คน และแขกรับเชิญพิเศษ นักท่องเที่ยว จากหน้าธนาคาร ธ.ก.ส. ถนนนิตโย ไปยังลานพญาศรีสัตตนาคราช เพื่อประกอบพิธีกล่าวคำบูชาหน้าองค์พญาศรีสัตตนาคราช และประกอบพิธีเปิดงาน โดยนางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม การแสดงชุดวิถีถิ่น วิถีชน เมืองศิวิไลซ์ พร้อมรำบวงสรวงประกอบเพลง 7 ชุดการแสดง อีกทั้งยังได้รับเกียรติจากเจ้าแขวงคำม่วน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) มาร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดงาน พร้อมนางรำมาร่วมรำบวงสรวงพญาศรีสัตตนาคราชด้วย เป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและเชื่อมความสัมพันธ์อันดีของทั้งสองประเทศอีกด้วย และวันสุดท้ายของงานคือ 13 ก.ค.2567 มีนางรำกว่า 1,000 คน
ข่าวน่าสนใจ:
- เทศบาล เมืองเขลางค์นคร ลำปาง รับโล่รางวัลอปท.ที่มีผลการปฏิบัติงานดีเด่น
- อันตรายมาก!! ผู้รับเหมาสุดชุ่ย ไม่ติดไฟส่องสว่างหรือไฟแจ้งเตือน ทำเกิดอุบัติเหตุ จ.สระแก้ว
- เมืองพัทยาร่วมกับ ททท. แถลงข่าวจัดงานเทศกาลดนตรีแจ๊สระดับโลก 6-7 ธ.ค. นี้
- ร้อยเอ็ด…จังหวัดร้อยเอ็ดแถลงข่าวงานประเพณี “สมมาน้ำ คืนเพ็ง เส็งประทีป” ครั้งที่ 26 ประจำปี 2567 ททท.หนุน 1 ใน 5 พื้นที่อัตลักษณ์ทั่วประเทศ
ส่วนอีก 6 วันของการจัดงานมีขบวนแห่เครื่องพานบายศรีบูชาพญาศรีสัตตนาคราช โดยมีประธานประจำวันเกิดทุกวันพร้อมขบวนนางรำไม่น้อยกว่า 700 คน และมีแขกรับเชิญพิเศษทุกวัน ส่วนกิจกรรมอื่น ๆ ภายในงานตลอดระยะเวลา 7 วัน เช่น การออกโรงทานจากผู้มีจิตศรัทธา การจำหน่ายสินค้า OTOP การจำหน่ายสินค้าถนนคนเดิน คาราวานสินค้า มหกรรมอาหาร การแสดงศิลปะวัฒนธรรม (หมอลำ) การแสดงศิลปะวัฒนธรรมเพื่อการท่องเที่ยว 9 ชนเผ่า 2 เชื้อชาติ ขบวนคาร์นิวัล เป็นต้น แม้ว่าบางวันจะมีฝนตกลงมาแต่ด้วยแรงพลังแห่งความศรัทธาที่มีต่อองค์พญาศรีสัตตนาคราช ผู้เข้ร่วมงานทุกคนก็ไม่ถอยยังคงประกอบพิธีต่างๆจนจบ
ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กล่าวด้วยว่า จากความร่วมแรงร่วมใจของทุกภาคส่วนในจังหวัดนครพนม ทั้งส่วนราชการต่าง ๆ รัฐวิสาหกิจ อำเภอทุกอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง กำนันผู้ใหญ่บ้าน องค์กรภาคเอกชนทุกองค์กร มูลนิธิ สมาคม ชมรมต่าง ๆ ผู้ประกอบการร้านค้า สื่อมวลชนทุกแขนง ช่างภาพอาสาและประชาชนชาวนครพนมทุกคน จึงทำให้การจัดงานบวงสรวงพญาศรีสัตตนาคราช ประจำปี 2567 สำเร็จลุล่วงด้วยดี มีนักท่องเที่ยวเข้ามายังจังหวัดนครพนมเพิ่มมากขึ้น ทำให้การจัดงานเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวในวงกว้างมากขึ้น ซึ่งเห็นได้จากมีผู้มาร่วมงานจากทั่วประเทศ มีภาพกิจกรรมการจัดงานปรากฎทางสื่อต่างๆทุกแขนงอย่างต่อเนื่อง จึงขอขอบคุณทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนมา ณ โอกาสนี้ด้วย..
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: