X

ผู้ว่าฯ นครพนม และรองเลขาธิการ สทนช. ลงพื้นที่อ.ศรีสงคราม ติดตามน้ำท่วม คาดนาข้าวเสียหาย 20,000 ไร่ สั่งเร่งช่วยเหลือด่วน

ผู้ว่าฯ นครพนม และรองเลขาธิการ สทนช.ลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำท่วมพื้นที่ทางการเกษตรในพื้นที่อำเภอศรีสงคราม คาดการณ์นาข้าวเสียหายประมาณ 20,000 ไร่ พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเร่งสำรวจความเสียหายเพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนโดยเร็ว

วันเสาร์ที่ 24 สิงหาคม 2567 เวลา 13.30 น. นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม พร้อมด้วยนายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. นายสันติพันธุ์ พันธุขันธ์ หัวหน้าโครงการชลประทานนครพนม นายวรวิทย์ พิมพนิตย์ ปลัดจังหวัดนครพนม และนายเดช บำรุงหงษ์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครพนม ลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำท่วมขังพื้นที่ทางการเกษตร พื้นที่อำเภอศรีสงคราม ที่บริเวณประตูระบายน้ำอูน ต.ศรีสงคราม อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม ซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำจากแม่น้ำ 2 สาย คือ ลำน้ำอูน ที่มีต้นน้ำมาจากจังหวัดสกลนคร และแม่น้ำสงครามที่มีต้นน้ำมาจากจังหวัดอุดรธานี ไหลมาบรรจบกันที่อำเภอศรีสงคราม ขณะนี้ที่ประตูระบายน้ำอูน ระดับน้ำสูงกว่าระดับกักเก็บ 3.60 เมตร ประกอบกับระดับน้ำในแม่น้ำโขงหนุนสูงทำให้การระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขงไหลเป็นไปอย่างเชื่องช้า เป็นเหตุให้น้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ทางการเกษตรที่เป็นนาข้าวในพื้นที่อำเภอศรีสงคราม 9 ตำบล 48 หมู่บ้าน จำนวน 21,000 ไร่ คาดว่าจะเสียหายประมาณ 15,000 ไร่ เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน 2,164 ครัวเรือน และอำเภอนาทม มีพื้นที่น้ำท่วม 3 ตำบล นาข้าวได้รับผลกระทบประมาณ 8,700 ไร่ คาดว่าจะเสียหายจำนวนประมาณ 5,000 ไร่

นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กล่าวว่า ได้สั่งการให้นายอำเภอทั้ง 2 อำเภอ ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดและมอบหมายให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ประสานข้อมูลในการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมสั่งการให้สำนักงานเกษตรอำเภอศรีสงคราม และเกษตรอำเภอนาทม เร่งดำเนินการสำรวจความเสียหาย และประสานงานกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครพนม เพื่อเตรียมการประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย(อุทกภัย) และประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินต่อไป

ขณะเดียวกัน นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กล่าวถึงปัญหาสถานการณ์น้ำ พื้นที่แม่น้ำสงครามตั้งแต่ประตูระบายน้ำอูน ถึงปากแม่น้ำโขง ที่ตำบลไชยบุรี อ.ท่าอุเทน รวมระยะทางประมาณ 66 กิโลเมตร ไม่สามารถที่จะขุดลอกหรือพัฒนาปรับปรุงได้เนื่องจากเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ หรือ แรมซาร์ไซต์ ซึ่งในอนาคตต้องหารือกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องว่าจะสามารถดำเนินการอย่างไรได้บ้าง เนื่องจากในฤดูฝนน้ำจะท่วม แต่พอถึงฤดูแล้งน้ำก็ประสบกับปัญหาขาดแคลนน้ำ ทำให้ปัจจุบันสามารถกักเก็บกักน้ำได้เพียง 5 % เท่านั้น ส่วนที่เหลือ 95 % ต้องถูกปล่อยไหลทิ้งลงสู่แม่น้ำโขงไปอย่างน่าเสียดาย

นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. กล่าวว่า สทนช.ได้มีการเฝ้าติดตามระวังระดับน้ำในแม่น้ำโขงตั้งแต่จังหวัดเชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ มาจนถึงจังหวัดนครพนม กล่าวถึง จากรายงานการตรวจวัดระดับน้ำทุกวันเวลา 07.00 น. คาดว่าที่จังหวัดนครพนม น่าจะมีโอกาสที่น้ำในแม่น้ำโขงจะเพิ่มขึ้นได้อีก เฉลี่ยประมาณ 30-40 เซนติเมตร และจะทรงตัวหากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม อย่างไรก็ตามทาง สทนช.จะได้มีการส่งข้อมูลติดตามสถานการณ์น้ำ เพื่อให้ประชาชนพื้นที่ได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน