X

นครพนมเตรียมประกาศพื้นที่ประสบภัยอุทกภัย 3 อำเภอ เฝ้าระวังระดับน้ำโขงสูงสุด 10.80 เมตร เดือนสิงหาคม 67

ผวจ.นครพนม เตรียมประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย(อุทกภัย) และประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน 3 อำเภอ 14 ตำบล 59 หมู่บ้าน พร้อมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังระดับน้ำโขงอย่างใกล้ชิด คาดว่าระดับน้ำขึ้นสูงสุด 10.80 เมตร ในเดือนสิงหาคม 2567


วันที่ 27 ส.ค.67 นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ได้ให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ หัวหน้าสำนักงาน ปภ.จังหวัด เกษตรจังหวัด ประมงจังหวัด ปศุสัตว์จังหวัด ผอ.โครงการชลประทานจังหวัด และ ผอ.อุตุนิยมวิทยานครพนม ได้สรุปสถานการณ์น้ำ อุทกภัย ความเสียหาย ผลกระทบจากอุทกภัย และการคาดหมายลักษณะอากาศ ต่อที่ประชุมคณะกรมการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ หัวหน้าหน่วยงาน และนายอำเภอ ณ ห้องประชุมพระธาตุพนม ศาลากลางจังหวัดนครพนม ซึ่งขณะนี้จังหวัดนครพนม ได้เกิดอุทกภัยประชาชนได้รับผลกระทบ จำนวน 3 อำเภอ 14 อำเภอ 59 หมู่บ้าน 2,107 ครัวเรือน ได้แก่ อำเภอศรีสงคราม 9 ตำบล 39 หมู่บ้าน 1,498 ครัวเรือน อ.นาทม 3 ตำบล 16 หมู่บ้าน 466 ครัวเรือน และ อำเภอท่าอุเทน 2 ตำบล 4 หมู่บ้าน 43 ครัวเรือน มีนาข้าวที่คาดว่าได้รับความเสียหาย 23,970 ไร่ ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่อำเภอศรีสงครามและอำเภอนาทม เนื่องจากเป็นที่ลุ่มต่ำ นอกจากนี้ยังปาล์มน้ำมัน มะพร้าวน้ำหอม พืชไร่ ด้านประมง ได้รับผลกระทบ 8 ราย บ่อเลี้ยงปลาจำนวน 10 บ่อ ด้านปศุสัตว์ ได้รับผลกระทบ 3 ราย โคกระบือ 175 ราย
ส่วนระดับน้ำโขง เมื่อเช้าวันที่ 27 ส.ค.67 วัดได้ 10.35 เมตร ต่ำกว่าระดับวิกฤต 1.65 เมตร (ระดับวิกฤต 12 เมตร )เพิ่มขึ้นจากเมื่อวันที่ 26 ส.ค.67 จำนวน 0.18 เมตร คาดการณ์ว่าระดับน้ำโขงจะขึ้นสูงสุดในช่วงสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ที่ระดับ 10.80 เมตร จากนั้นจะทรงตัวและค่อยลดระดับลง


นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กล่าวว่า ขณะนี้จังหวัดกำลังเตรียมประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย(อุทกภัย) และประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน โดยขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจความเสียที่เกิดขึ้น เพื่อจะได้ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่อไป โดยในเบื้องต้นให้ใช้เงินสำรองขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก่อน หากไม่พอให้ใช้เงินสำรองที่อยู่ในอำนาจของนายอำเภอ ซึ่งผู้ว่าฯได้โอนมอบอำนาจให้อำเภอละ 5 แสนบาท หากไม่พออีกก็จะใช้เงินสำรองที่อยู่ในอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด จำนวน 14 ล้านบาท จาก 20 ล้านบาท หากงบประมาณยังไม่พออีกก็ขอเพิ่มไปยังส่วนกลางต่อไป นอกจากนี้ขอให้พี่น้องประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงโดยเฉพาะริมฝั่งแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขาต่าง ๆ ได้เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่งอย่างใกล้ชิด เพื่อความไม่ประมาทให้ขนย้ายสิ่งของขึ้นไปไว้ในที่สูง หากน้ำท่วมบ้านเรือนขอให้อพยพไปอยู่ในที่ปลอดภัย หรือศูนย์พักพิงชั่วคราว และขอให้ติดตามข่าวสารการพยากรณ์อากาศและการประกาศแจ้งเตือนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งจากส่วนกลาง และหน่วยงานในจังหวัด อำเภอ หรือผู้นำท้องที่ผู้นำท้องถิ่นอย่างใกล้ชิดด้วย

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน