ผู้ว่าฯนครพนม สั่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากพายุ “ยางิ” พร้อมทั้งแจ้งเตือนประชาชนเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
วันที่ 6 ก.ย.67 นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศแจ้งเตือนเรื่องพายุ “ใต้ฝุ่นยางิ” ที่คาดว่าจะเคลื่อนผ่านเกาะไหหลำ ประเทศจีน และขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ในวันที่ 7 กันยายน 2567 หลังจากนั้นจะอ่อนกำลังลงตามลำดับ คาดว่าจะสลายตัวใน สปป.ลาว แม้ศูนย์กลางของพายุไม่ได้เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย แต่รัศมีของพายุอาจจะทำให้ภาคเหนือตอนบบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน รวมทั้งจังหวัดนครพนม จะมีฝนตกหนักถึงหนักมาก และลมกระโชกแรงบางแห่ง ในช่วงวันที่ 7 – 8 กันยายน 2567 อย่างไรก็ตามขณะนี้หลายพื้นที่ของจังหวัดนครพนมเริ่มได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของพายุ “ยางิ” แล้ว ท้องฟ้ามีเมฆฝนปกคลุมมืดคลึ้ม มีฝนตกเป็นระยะ ฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงในบางพื้นที่ จึงขอแจ้งเตือนให้พี่น้องประชาชนได้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ไม่ออกไปอยู่กลางแจ้งเพราะอาจถูกฟ้าผ่าได้ ตรวจดูแล ทรัพย์สิน สัตว์เลี้ยง ให้เรียบร้อย ดูแลบ้านที่อยู่อาศัยให้มั่นคง คอยดูแลบุคคลในครัวเรือนโดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็ก ๆ อย่าให้ออกไปเล่นน้ำโดยลำพัง เพราะอาจจมน้ำได้
ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กล่าวต่อว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครพนม จึงขอให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอำเภอ/ท้องถิ่น /ศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทานอำเภอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการ ดังนี้ 1.) แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ให้เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์และติดตามข้อมูลสภาวะอากาศ และข่าวสารจากทางราชการ ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้กับประชาชนในการปฏิบัติตนให้ปลอดภัยจากสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและดินถล่ม การเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 การเฝ้าระวังระดับน้ำที่เพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณสายหลักและแม่น้ำสาขาในพื้นที่ รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองด้วย สำหรับเกษตรกรควรป้องกันผลผลิตทางการเกษตรที่อาจได้รับความเสียหาย 2.)ให้เตรียมพร้อมกำลังพลและเครื่องมือเครื่องจักรกลที่ใช้งานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยบูรณาการร่วมกับส่วนราชการ หน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือภาคส่วนอื่นๆในพื้นที่ที่สามารถสนับสนุนการปฏิบัติ เพื่อให้ความพร้อมในการช่วยเหลือประสบภัยตลอด 24 ชั่วโมง 3.) กรณีสิ่งสาธารณประโยชน์ในพื้นที่ได้รับผลกระทบจนประชาชนในพื้นที่ไม่สามารถใช้งานได้ เช่น ต้นไม้ล้มทับเส้นทางสัญจร เสาไฟฟ้าโค่น หรือระบบท่อประปาได้รับความเสียหาย ขอให้ประสานหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในพื้นที่เข้าดำเนินการแก้ไขให้สามารถกลับมาใช้งานได้เป็นปกติ และ 4.)หากเกิดสถานการณ์ในพื้นที่ให้รายงานสถานการณ์และการให้ความช่วยเหลือให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครพนมทราบโดยเร็ว ทางโทรศัพท์หมายเลข 0 4251 1025 และรายงานสถานการณ์/การให้ความช่วยเหลือทุกระยะ…
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: