เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและอุทกภัยลุ่มน้ำโขง และความก้าวหน้า 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 ที่จังหวัดนครพนม
วันที่ 11 ก.ย.67 เวลา 09.30 น. นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (เลขาธิการ สทนช.)พร้อมคณะ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและอุทกภัยลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ และความก้าวหน้า 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 ที่จังหวัดนครพนม พร้อมเป็นประธานการประชุมหน่วยบริหารจัดการน้ำ ครั้งที่ 8/2567 ณ ห้องประชุมพระธาตุพนม ศาลากลางจังหวัดนครพนม เพื่อรับทราบสภาพอากาศ สถานการณ์ฝนและการคาดการณ์ รายงานภาพรวมสถานการณ์น้ำ และการคาดการณ์ และรายงานการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2567 จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งพิจารณาการบริหารจัดการลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ชี-มูล และการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ มีนางรณิดา เหลืองฐิติสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการและผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมและรายงานสถานการณ์ อาทิ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครพนม สถานีอุตุนิยมวิทยานครพนม โครงการชลประทานนครพนม มณฑลทหารบกที่ 210 เป็นต้น พร้อมทั้งประชุมผ่านระบบออนไลน์ร่วมกับผู้แทนจังหวัดต่าง ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีพื้นที่ติดแม่น้ำโขงด้วย จากนั้นช่วงบ่ายเวลา 14.00 น. เลขาธิการ สทนช.และคณะ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำโขง บริเวณตลาดอินโดจีน ต.ในเมือง และถนนสวรรค์ชายโขง ต.ท่าค้อ อ.เมืองนครพนม จ.นครพนม
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กล่าวว่า ทางสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำพร้อมรายงานให้นายกรัฐมนตรี(นางสาวแพทองธาร ชินวัตร) ได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่ประสบอุทกภัยเป็นอย่างมาก โดยในส่วนของพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีการวิเคราะห์สถานการณ์ฝนคาดการณ์แล้วในช่วงสัปดาห์นี้มีแนวโน้มที่จะมีปริมาณฝนในพื้นที่ค่อนข้างมาก ประกอบกับในส่วนของสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงมีปริมาณน้ำค่อนข้างมากมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้น เนื่องจากฝนตกหนักในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และ สปป.ลาว ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้นในช่วงวันที่ 12 -18 กันยายน 2567 ประมาณ 0.5-1.0 เมตร บริเวณจังหวัดเชียงราย เลย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และ อุบลราชานี และมีแนวโน้มล้นตลิ่งบริเวณจังหวัดหนองคาย 0.5-1.0 เมตร และที่ อ.เชียงคาน จ.เลย มีแนวโน้มที่น้ำล้นตลิ่งได้ถึง 1 เมตรเศษ ๆ จึงขอให้เฝ้าระวังระดับน้ำที่เพิ่มขึ้นและเตรียมรับมือจากสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งและท่วมขังบริเวณริมแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขา เนื่องจากไม่สามารถระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขงได้โดยสะดวก อย่างไรก็ตามในวันนี้เราก็มีการประชุมกับทางจังหวัดริมน้ำโขงทั้งหมด แล้วก็ในส่วนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือในจังหวัดอื่น ๆ ด้วยอีกส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะของจังหวัดนครราชสีมา
เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า หลังจากวันที่ 14- 15 กันยายน เป็นต้นไป ช่วงนั้นปริมาณฝนก็อาจจะไปตกในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างมากขึ้นรวมไปถึงภาคตะวันออกด้วย เพราะฉะนั้นก็อยู่ในเกณฑ์ที่จะต้องเฝ้าระวัง โดยเฉพาะเขื่อน/อ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำมาก ๆ ต้องเร่งระบายออกมาก่อน เพื่อเตรียมรองรับน้ำฝนชุดใหม่ที่จะตกลงมาเติม ซึ่งทางสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติก็ได้มีการแจ้งเตือนไปแล้วว่ามีพื้นที่ไหนที่มีความเสี่ยงบ้างในแต่ละจังหวัด ขอให้หน่วยงานต่าง ๆ เอาข้อมูลเหล่านี้ไปบริหารจัดการดูแลพี่น้องประชาชนทั้งชีวิตและทรัพย์สินเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย
เลขาธิการ สทนช. กล่าวต่อว่า ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงประมาณวันที่ 25 กันยายนนี้ ยังไม่มีพายุที่จะก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิกหรือทะเลจีนใต้ ยังไม่มีแนวโน้มที่จะเข้ามาโดยตรงต่อทางประเทศไทย แต่หลังจากนั้นเราต้องมาติดตามสถานการณ์ในเรื่องของการก่อตัวของพายุอีกทีหนึ่งว่าจะมีทิศทางหรือมีแนวโน้มที่จะเคลื่อนผ่านมาทางบ้านเราหรือไม่
สำหรับจังหวัดนครพนม โดยสำนักงาน ปภ.จังหวัดนครพนม ได้มีการประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยและเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีฉุกเฉิน อุทกภัย 4 อำเภอ คือ อ.ศรีสงคราม อ.นาทม อ.ท่าอุเทน และ อ.นาหว้า มีพื้นที่ประสบภัย 20 ตำบล 142 หมู่บ้าน ผู้ประสบภัย 10,980 คน 4,200 ครัวเรือน ขณะที่สำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม ได้คาดการณ์ว่ามีพื้นที่ทางการเกษตรได้รับความเสียหาย 61,612 ไร่ ส่วนระดับน้ำโขงที่ไหลผ่านจังหวัดนครพนมวันนี้(11 ก.ย.67) อยู่ที่ระดับ 9.05 เมตร เพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน(10 ก.ย.67) 14 ซม. ยังต่ำกว่าระดับวิกฤต 2.95 เมตร ซึ่งระดับวิกฤตอยู่ที่ 12 เมตร ..
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: