นครพนม – ในวันที่ 3 และ 4 มีนาคมนี้ ทางจังหวัดจะร่วมกับอีกหลายหน่วยงาน จัดงานปั่นจักรยานเชื่อมสองแผ่นดิน ไทย-ลาว โดยเริ่มต้นจากสะพานมิตรภาพฯ 3
จังหวัดนครพนม ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีลักษณะเป็นแนวยาวเลียบตามฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ประมาณ 174 กม. (บ้านแพง-ธาตุพนม) ภูมิประเทศทั่วไป เป็นป่าเขาที่เนินสูงและทีราบ ด้านทิศตะวันออกติดกับแขวงคำม่วน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว) โดยมีแม่น้ำโขงเป็นเส้นกั้นพรมแดน เสน่ห์ของแขวงคำม่วนคือ มีเทือกทิวเขาสลับซับซ้อน อากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี ทำให้จังหวัดนครพนมได้รับอานิสงส์กับบรรยากาศนี้ด้วย
จากอากาศที่บริสุทธิ์เหมาะแก่การเดินทางท่องเที่ยว เลาะชมความงามตามธรรมชาติ กีฬาที่เหมาะสมคงหนีไปพ้นการปั่นจักรยาน ในวันเสาร์ที่ 3 และวันอาทิตย์ที่ 4 มีนาคม 2561 จังหวัดนครพนม ร่วมกับ ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครพนม(ททก.) ททท.สำนักงานเขตจังหวัดนครพนม หอการค้าจังหวัดนครพนม และชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพจังหวัดนครพนม จึงจัดปั่นเชื่อม 2 แผ่นดิน ไทย-ลาว สตาร์ทจากสะพานมิตรภาพฯ 3(นครพนม-คำม่วน) ไหว้พระธาตุศรีโคดตะบอง จากนั่นปั่นเลาะเนินไหล่เขาไปสักการะพระธาตุอิงฮัง แขวงสะหวันนะเขต เพื่อศึกษาประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวพันกับองค์พระธาตุพนมของไทย ค้างคืนที่สะหวันนะเขต 1 คืน วันรุ่งขึ้นปั่นข้ามสะพานมิตรภาพฯ 2 (สะหวันนะเขต-มุกดาหาร) แวะสักการะองค์พระธาตุพนม แล้วจบทริปที่สักการะพระมหาธาตุ เขตเทศบาลเมืองนครพนม ทั้งหมดทั้งปวง มี นายสุรัตน์ (เฮียฮอลล์) ก้องเกียรติกมล ประธานหอการค้าจังหวัดนครพนม เป็นแม่งานใหญ่ และยังเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในระดับต้นๆของจังหวัด
เรามาทำความรู้จักพระธาตุอิงฮัง และพระธาตุศรีโคตรบูร บนเส้นทางปั่นจักรยานเชื่อม 2 แผ่นดินกัน กล่าวคือ “พระธาตุอิงฮัง” เป็นพระธาตุคู่แฝดของ”พระธาตุพนม” สูง 25 เมตร ตั้งอยู่ทางหลวงหมายเลข 13 เลียบถนนบ้านโพนสิม แขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว ห่างจากตัวเมืองประมาณ 13 กม. มีภาพสลักนูนสูงแบบฮินดู สันนิษฐานน่าจะเป็นศิลปะเขมร ประดับประดารอบพระธาตุทั้ง 4 ด้าน ช่วงเดือนธันวาคมของทุกปี จะมีการจัดงานนมัสการพระธาตุอิงฮังอย่างยิ่งใหญ่ โดยจะมีขบวนแห่เทียน และฟ้อนรำถวายองค์พระธาตุ
ข่าวน่าสนใจ:
- ตรัง "โลกเปลี่ยน เราไม่เปลี่ยน" บอกรักทะเลด้วยสองมือ ณ หาดฉางหลาง ทะเลตรัง ก้าวขา-พาสองมือเก็บขยะทะเล รังสรรค์งานศิลป์
- THACCA ร่วมกับ วธ. สนับสนุน 220 ล้านบาท ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมภาพยนตร์และซอฟต์พาวเวอร์ไทย
- ชัยภูมิ นทท.แห่สัมผัสทะเลหมอกน้ำค้างแข็งหลายพื้นที่แตะ 7 องศาคึกคัก!
- นครพนมปล่อยแถวใหญ่! กวาดล้างอาชญากรรมและจัดระเบียบจราจร รับเทศกาลปีใหม่ 2568
คำว่า “อิงฮัง” เป็นคำในภาษาลาว หมายถึง “พิงรัง” หรือ “พิงต้นรัง” ในภาษาไทย
(ต้นรัง เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ต้นสาละ ซึ่งเป็นต้นไม้สำคัญในตำนานแห่งพระพุทธประวัติ)
ประวัติความเป็นมาทราบว่า”พระธาตุอิงฮัง” สร้างขึ้นประมาณ พ.ศ.400 สมัยอาณาจักรศรีโคตรบอง หรือ ศรีโคตรบูร รุ่งเรืองสุดขีด ในยุคพระเจ้าสุมิตธรรมวงศา โดยสร้างขึ้นตามคำแนะนำของสมณทูตสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ที่เดินทางเข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในดินแดนสุวรรณภูมิ เริ่มแรกสร้างเป็นธาตุกู่ เสร็จแล้วได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ “กระดูกสันหลังพระพุทธเจ้า”ที่อัญเชิญมาจากกรุงราชคฤห์ มาประดิษฐานไว้ภายในกู่ธาตุ เพื่อเป็นเครื่องหมายแทนสถานที่ปรินิพพานที่องค์สัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานในป่าฮัง(ป่ารัง)
ตำนานอุรังคธาตุ กล่าวไว้ว่า ในสมัยพุทธกาลองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เสด็จเปิดโลกและรับอาราธนามาฉันภัตตาหารที่บริเวณนี้ ต่อมาพระเจ้าพระเจ้าสุมิตธรรมวงศา กษัตริย์ผู้ปกครองอาณาจักรศรีโคตรบอง ได้สร้างพระธาตุองค์นี้ขึ้นพร้อมตั้งชื่อว่า”พระธาตุอิงฮัง” จนถึงศตวรรษที่ 9 อาณาจักรศรีโคตรบอง เริ่มเสื่อมอำนาจ ชาวขอมรุกเข้ามามีอำนาจแทน พระธาตุอิงฮัง จึงถูกดัดแปลงเป็นเทวสถานของศาสนาพราหมณ์ ภายใต้การบัญชาการของพระเจ้าสุมนธาธิราชราชา มีการสร้างต่อเติมองค์พระธาตุ ตกแต่งลวดลาย ประติมากรรมเป็นเรื่องเมถุนสังวาส และรามายนะ นับแต่นั้นมาลักษณะศิลปกรรมของพระธาตุอิงฮัง จึงเป็นศิลปะแบบขอมโบราณ พร้อมกับเรียกชื่อว่า “อินทรปราสาท”
กาลล่วงเลยถึงศตวรรษที่ 14 ชนชาติลาวได้เข้ามามีอำนาจแทนขอม “พระโพธิสารราช” กษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านช้าง ซึ่งเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ได้ชักชวนพุทธศาสนิกชนบูรณปฏิสังขรณ์ ประกอบด้วย “พระธาตุพนม พระธาตุอิงฮัง และ พระธาตุโพนคึมใหญ่” จนถึงสมัยพระไชยเชษฐาธิราชเจ้า ได้ต่อเติมศิลปะล้านช้างเข้าไปผสมผสานในองค์พระธาตุอิงฮัง ดัดแปลงให้เป็นพระธาตุทางพระพุทธศาสนา โดยฐานพระธาตุแต่ละด้านกว้าง 9 เมตร สูง 25 เมตร ปรากฏอยู่จนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ยังมีตำนานความเชื่อของชุมชนบ้านธาตุอิงฮังในละแวกนั้น เล่ากันว่าการที่องค์สัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาเสวยภัตตาหารบริเวณนี้ และเสวยภัตตาหารที่ทำจากเนื้อหมู จึงเกิดอาหารเป็นพิษ ชุมชนบ้านธาตุอิงฮัง จึงไม่มีใครเลี้ยงหมูจนถึงปัจจุบัน นี่คือความเชื่อพุทธของชาวบ้าน ที่มีระบบความเชื่อ ความศรัทธา ปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างเคร่งครัด
ส่วนที่ “แขวงคำม่วน” สปป.ลาว ฝั่งตรงข้ามกับจังหวัดนครพนม มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญเชื่อมโยงกับนครพนมคือ “พระธาตุศรีโคดตะบอง”หรือที่คนไทยนิยมเรียกว่าพระธาตุศรีโคตรบูร ประดิษฐานอยู่ใน “วัดพระธาตุศรีโคดตะบอง”(วัดพระธาตุศรีโคตรบูร) วัดคู่บ้านคู่เมืองคำม่วน
“พระธาตุศรีโคดตะบอง” เป็นพระธาตุพี่น้องกับพระธาตุพนมของไทย สร้างขึ้นในยุคเดียวกับพระธาตุพนม เมื่อครั้งที่ยังเป็นอาณาจักรศรีโคตรบูร เชื่อกันว่าสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้านันทเสนแห่งเมืองศรีโคตรบูร ภายในวัดมีอนุสาวรีย์ของพระยาศรีโคดตะบอง กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ของอาณาจักรศรีโคตรบูร ที่สุดท้ายแล้วต้องสิ้นชีพเพราะโดนพระชายาหักหลัง ด้วยเหตุนี้ชาวลาวจึงไม่ขอพรเรื่องความรักจากพระธาตุองค์นี้ เพราะเป็นสถานที่เก็บอัฐธาตุของพระยาศรีโคดตะบอง แต่มักนิยมบนบานเรื่องการงานและเรื่องของหาย
และ “พระธาตุนคร” ประดิษฐานที่วัดมหาธาตุ ถนนสุนทรวิจิตร เขตเทศบาลเมืองนครพนม ภายในบรรจุพระอรหันต์สารีริกธาตุ พร้อมกับองค์พระพุทธรูปทองคำ และของมีค่าต่างๆ ที่ประชาชนผู้มีจิตศรัทธาได้ถวาย กล่าวกันว่าผู้ที่ไปนมัสการพระธาตุแห่งนี้ จะได้รับอานิสงส์เสริมบุญบารมี และมีอำนาจวาสนาเป็นเจ้าคนนายคน
ส่วนสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ทั้งสองแห่ง มีชื่อเรียกว่า “สะพานมิตรภาพไทย-ลาว 2”(สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 อยู่ จ.หนองคาย) เป็นสะพานข้ามแม่น้ำโขง เชื่อมต่อจังหวัดมุกดาหารของประเทศไทย เข้ากับแขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางเศรษฐกิจตะวัน ตกตะวันออก ซึ่งเริ่มจากพม่า ผ่าน ไทย ลาวและสิ้นสุดที่เวียดนาม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงของธนาคารการพัฒนาแห่งเอเชีย ซึ่งมีความยาวทั้งหมด 1,600 เมตร มีความกว้าง 12 เมตร และมีช่องการจราจร 2 ช่อง เปิดทำการเมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2549
สะพานมิตรภาพไทย-ลาว 3 (นครพนม-คำม่วน) ก็เป็นเส้นทางการคมนาคมขนส่งด้านการค้า และการท่องเที่ยวเชื่อมโยงจากประเทศไทย ประเทศลาว ประเทศเวียดนาม และภาคใต้ของประเทศจีน ซึ่งมีความยาวรวม 1,423 เมตร มีความกว้าง 13 เมตร และมีการช่องจราจร 2 ช่อง เพื่อเป็นการรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2015 ทั้งนี้ วันศุกร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2552 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์สะพานฯ และเสด็จทรงเป็นประธานพิธีเปิดอย่างเป็นทางการร่วมกับสหายบุนยัง วอละจิด รองประธานประเทศลาว ในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 เวลา 11.11 น. (11/11/11/11/11) เลขหนึ่งสิบตัวนี้ อันที่จริงคือเลข 11 บอกวัน ว. เวลา น. คือ เวลา 11 นาฬิกา 11 นาที วันที่ 11 เดือน 11(พฤศจิกายน) ค.ศ. 2011(พ.ศ.2554) เป็นวันฤกษ์งามยามดีที่ “สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3” ได้เปิดอย่างเป็นทางการ
กิจกรรมปั่นจักรยานเชื่อม 2 แผ่นดิน ครั้งนี้ มีค่าสมัครท่านละ 1,500 บาท(รวมค่าประกันอุบัติเหตุ อาหาร 4 มื้อ ที่พัก 1 คืน ค่ารถเซอร์วิส และค่าผ่านแดน) รับจำนวนเพียง 200 ท่านเท่านั้น นักปั่นน่องเหล็กทุกคนต้องมีพาสปอร์ต ที่เหลืออายุการใช้งานถึงวันที่ 2 กันยายน 2561 รับเสื้อปั่นจักรยาน เป็นที่ระลึกคนละ 1 ตัว สามารถแจ้งชื่อ-นามสกุล เบอร์โทรศัพท์ และขนาดเสื้อจักรยาน ไปยังหมายเลข 086-3210566 มีนักปั่นระดับตำนานหลายท่านแจ้งความจำนงแล้วหลายท่าน หนึ่งในนั้นมี นายศุภชัย (ครูแก้ว) โพธิ์สุ อดีต รมช.เกษตรฯ และนักปั่นจาก อุดรธานี ร้อยเอ็ด ชลบุรี นครราชสีมา อำนาจเจริญ หนองคาย สกลนคร ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ กรุงเทพฯ ศรีสะเกษ และนครพนม
ปั่นจักรยานครั้งนี้ กินลมชมวิว ศึกษาประวัติศาสตร์โบราณ สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ได้ทั้งบุญและสุขภาพ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: