นครพนม – วันที่ 8 ก.พ.62 เวลา 13.30 น. บริเวณบ้านเลขที่ 59 หมู่ 1 บ้านหนองแวง ต.นาราชควาย อ.เมือง จ.นครพนม นางประสงค์ จำปา อายุ 60 ปี เจ้าของบ้าน น้องมาย หลานสาว อายุ 13 ปี นักเรียนชั้น ม.1 โรงเรียนศรีบัวบาน ต.หนองญาติ อ.เมือง จ.นครพนม และนายวินัย สอนแพง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 ต้อนรับคณะหัวหน้าส่วนราชการประกอบด้วย นายแพทย์ยุทธชัย ตริสกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครพนม นางอภิญญา ชมภูมาศ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ฯนครพนม(พมจ.ฯ) น.ส.พัทธ์ธีรา ขุนชะ หัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัวฯ นางบุญร่วม ปริปุณณะ รอง ผอ.รพ.นครพนม ด้านการพยาบาล และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
จากกรณี เมื่อวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา นายสงกรานต์ นนทะวงษา อายุ 33 ปี ลูกชายของนางประสงค์ ได้ใช้เชือกไนล่อนผูกคอตายในห้องนอน โดยไม่มีใครทราบว่านายสงกรานต์ปลิดชีพตนเองตั้งแต่เมื่อไหร่ กระทั่งน้องมายกลับมาจากโรงเรียน เห็นพ่อล็อกประตูห้อง จึงใช้กุญแจสำรองเปิดเข้าไปพบร่างของพ่อห้อยต่องแต่งกับขื่อ ถึงกับผงะตกใจรีบวิ่งออกมาบอกให้คนมาช่วย แต่ก็สายเกินไป เพราะนายสงกรานต์เสียชีวิตไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง ตามข้อสันนิษฐานของแพทย์เวร รพ.นครพนม
ข่าวน่าสนใจ:
- คู่แข่งนอกสายตานายก ก้อย “พนธ์ มรุชพงษ์สาธร” ขอวัดดีกรีว่าที่นายก อบจ.แปดริ้ว
- นนทบุรี หนุ่ม 16 ขับเบนช์ เสียหลักเหินขึ้นไปคาอยู่บนรถ 6 ล้อรอดตายปาฏิหาริย์
- ผู้ใหญ่บ้านร่วมกับชุมชน จัดทำบุญส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่
- นครพนม: เลขาธิการ ป.ป.ส. และ มทภ.2/ผบ.นบ.ยส.24 ประชุมสรุปผลรอบ 3 เดือน โชว์ผลงานยึดยาบ้ากว่า 45 ล้านเม็ด มูลค่ากว่า 3 พันล้านบาท
ซึ่งหลังจากเกิดเหตุสลดดังกล่าว น้องมายลูกสาวคนเดียวของผู้ตาย เผยทั้งน้ำตาว่า ได้เงินค่าขนมไปโรงเรียนจากพ่อวันละ 40 บาท ต่อจากนี้ไม่มีพ่อแล้วใครจะเป็นคนช่วยเหลือ เพราะนางประสงค์ จำปา ผู้เป็นย่าก็อายุ 60 ปีแล้ว หูตาฝ้าฟางทำงานไม่ค่อยได้ ส่วนแม่หลังเลิกรากับพ่อก็หนีหายเข้ากรุงเทพ ไม่เคยส่งเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ภาระจึงตกหนักอยู่ที่พ่อคนเดียว
หลังข่าวสลดใจเผยแพร่ออกไป ทำให้หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดนครพนมประชุมหารือ เพื่อหาทางช่วยเหลือครอบครัวนี้ จนพร้อมเพรียงกันในวันและเวลาดังกล่าว จึงเดินทางไปเยี่ยมเยียนสองย่าหลาน โดยห้องที่นายสงกรานต์ใช้เป็นสุสานฆ่าตัวตาย ถูกรื้อทิ้งปล่อยให้เป็นที่โล่ง ซึ่งนางอภิญญาฯพมจ.นครพนม ได้มอบเงินช่วยเหลือเบื้องต้น 2,000 บาท และบรรจุปัญหาของน้องมายเป็นวาระเร่งด่วน โดยจะมีเงินช่วยเหลือค่าเล่าเรียนน้องมายอีกเดือนละ 2,000 บาท จนกว่าจะอายุครบ 18 ปี ตามระเบียบของกระทรวงพัฒนาสังคมฯ
ทางด้าน น.ส.จารุภา สิงห์ศรี ปลัด อบต.นาราชควาย หลังได้รับการเปิดเผยผลการเรียนของน้องมายจาก น.ส.พุทธพร จันปุ่ม ครูประจำชั้น ม.1 ว่า การเรียนของน้องมายอยู่ในเกณฑ์ดี ได้เกรดเฉลี่ย 3.66 จึงจะเสนอให้ทาง อบต.นาราชควาย ยื่นมือมาดูแลค่าใช้จ่ายจนกว่าจะจบปริญญาตรี เพราะในอดีตเคยมีเด็กเรียนดีแต่ขาดทุน อบต.ฯก็ช่วยเหลือจนจบมาแล้ว
ด้านนางประสงค์ผู้เป็นย่า นพ.ยุทธชัยฯกล่าวว่าจากการพูดคุยในเบื้องต้น นางประสงค์เคยทำงานสานผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ ระยะหลังตามองไม่ค่อยเห็นจึงวางมือ เบื้องต้นจะให้ไปตรวจเช็คสายตาการมองเห็นว่าป่วยด้วยโรคทางสายตาหรือไม่ เมื่อทราบต้นเหตุก็จะดำเนินการรักษา ให้ดวงตากลับมาใช้งานได้อีกครั้ง
น.ส.อภัสฎา เหล่าทะนนท์ พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลจิตเวชฯนครพนม ซึ่งทำงานร่วมกับ น.ส.ธิดารัตน์ เลี่ยวปรีชา พยาบาลจิตเวช รพ.นครพนม เผยเพิ่มเติมว่าจะมีตารางมาพบปะกับครอบครัวนี้บ่อยๆ เพราะทราบจากคุณย่าว่าน้องมายยังมีอาการนอนผวา จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และตอนกลางคืนต้องเปิดไฟให้สว่างจ้าทั้งคืน หากอาการดังกล่าวยังไม่สงบจะต้องนำตัวไปรักษาอย่างทันท่วงที
หลังจากนั้นน้องมายได้ลุกไปจุดธูป บอกกล่าวต่อดวงวิญญาณของนายสงกรานต์ ว่า “พ่อมีหลายหน่วยงานมาช่วยครอบครัวเราแล้ว พ่อไม่ต้องห่วง ขอให้พ่อไปสู่สุคติ” ระหว่างนั้นก็มีกลิ่นศพโชยมาเตะจมูกผู้อยู่ในบริเวณนั้นเป็นระยะๆ ซึ่งนายวินัย ผญบ.ม.2 บอกว่าวิญญาณนายสงกรานต์น่าจะรับรู้เรื่องนี้แล้ว
นพ.ยุทธชัย ตริสกุล ผอ.รพ.นครพนม กล่าวเพิ่มเติมว่า จังหวัดนครพนมในรอบ 4 เดือน(ตุลาคม 61-8 กุมภาพันธ์ 62) มีคนฆ่าตัวตายสำเร็จแล้ว 22 ราย ไม่สำเร็จ 31 ราย ซึ่งทางกรมสุขภาพจิต มีเกณฑ์ว่าใน 1 ปี มีคนตายฆ่าตัวตายไม่เกิน 35 ราย แต่จังหวัดนครพนมเพียง 4 เดือนเศษ เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายถึง 22 คน ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 ก.พ.ที่ผ่านมา เป็นหญิงสาวที่มีสามีเป็นชาวญี่ปุ่น ป่วยด้วยโรคซึมเศร้า ใช้สายไฟฟ้าผูกคอตายในห้องเช่า จังหวัดนครพนมจึงถือว่าเข้าขั้นวิกฤต ปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวกระตุ้น อาจจะเป็นคนรอบข้างที่ไม่ให้ความสำคัญ จึงทำให้ผู้ป่วยคิดว่าตนเป็นส่วนเกิน ประกอบกับมีประวัติเสพยาเสพติด และการดื่มสุราซึ่งจัดอยู่ในจำพวกสิ่งเสพติด ตลอดจนปัญหาครอบครัว ฯลฯ ตลอดเวลาทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดฯ(สสจ.ฯ) รพ.นครพนม รพ.จิตเวชฯ และพัฒนาการสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ต่างบูรณาการทำงานร่วมกันเสมอ โดยมีเครือข่ายที่ใกล้ชิดในพื้นที่คืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) จะตรวจเช็คบุคคลที่มีประวัติการรักษาด้วยโรคซึมเศร้า และต้องรายงานผลให้ทราบเป็นระยะ “กังวลที่สุดคือพฤติกรรมเลียนแบบ เป้าหมายที่ต้องทำทันที คือการลดจำนวนการฆ่าตัวตายลงให้ได้” นพ.ยุทธชัยฯกล่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: