นครพนม – วันที่ 12 ก.พ.62 เวลา 08.00 น. บริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขง ท่าเทียบเรือข้ามฟากระหว่างประเทศไทย-ลาว อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ซึ่งเป็นชุมชนเก่าแก่ของอำเภอ พระเทพวรมุนี เจ้าคณะจังหวัดนครพนม และเจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นายสยาม ศิริมงคล ผวจ.ฯ เป็นประธานฝ่ายฆราวาส พร้อมหัวหน้าส่วนราชการ นำพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทย-ลาว นับแสน ที่เบียดเสียดกันเต็มริมตลิ่งจนไม่มีที่เดิน ตลอดจน “ข้าโอกาส” พระธาตุพนม ร่วมประกอบพิธีอัญเชิญพระอุปคุตจากใต้บาดาลแม่น้ำโขง หลังอัญเชิญก็จะแห่ไปตามถนนกุศลรัษฎากร เพื่อนำไปประดิษฐาน ณ วิหารหอพระแก้ว ด้านหน้าองค์พระธาตุพนมฯ ซึ่งพิธีดังกล่าวเป็นพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ
พิธีเริ่มตามฤกษ์เวลา 08.00 น. พระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถา จากนั้น ผวจ.นครพนมกล่าวคำอัญเชิญพระอุปคุต ที่ตามตำนานกล่าวว่าท่านจำศีลภาวนาอยู่ใต้บาดาล โดยมีผู้ดำน้ำลงไปอัญเชิญ จำนวน 5 คน ประกอบด้วย พล.ต.ปราโมทย์ นาคจันทึก ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 210 (มทบ.210) พล.ต.ต.ธนชาติ รอดคลองตัน ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครพนม(ผบก.ภ.จว.ฯ) น.อ.อภิชาติ แก้วดวงเทียน ผู้บังคับหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขงเขตนครพนม(ผบ.นรข.เขตฯ) นายชัยวัฒน์ ชัยเวชพิสิฐ นายอำเภอธาตุพนม และนายประสาท ทัศดร รักษาการพัฒนาการจังหวัดฯ เพื่อนำมาส่งให้แก่ ผวจ.นครพนมที่ยืนรออยู่บนปะรำพิธี ซึ่งกลางลำแม่น้ำโขงมีเรือรักษาความปลอดภัยจาก 3 หน่วยงาน คือ นรข. ตำรวจน้ำ และกรมเจ้าท่า
ข่าวน่าสนใจ:
- โครงการคุ้มครองเด็กเพื่อความปลอดภัยจากสื่อออนไลน์
- สุดยอดงานกฐินบุญต่อชีวิตคน พระอาจารย์เขียวทอดกฐินสามัคคีจัดซื้อรถพยาบาลฉุกเฉินและอุปกรณ์ทางการแพทย์มุลค่ากว่า5ล้านบาท
- ตรัง "บุญกฐิน-ตักบาตรขนมโค" หนึ่งเดียวในไทย ชาวตรังแห่ร่วมงานทอดกฐินออกโรงทานคับคั่ง
- ททท. จัดงานใหญ่ "วิจิตรเจ้าพระยา 2024" สวยงามตระการตา กระตุ้นการท่องเที่ยวส่งท้ายปีนี้
พิธีสำคัญนี้จะจัดขึ้นทุกปี ก่อนเปิดงานนมัสการองค์พระธาตุพนม (ชาวอีสานเรียกว่างานบุญเดือนสาม) เพื่อขอให้พระอุปคุต พระอรหันต์ผู้มีฤทธานุภาพสูง ในตำนานระบุว่าท่านอยู่ในสมัยแผ่นดินของพระเจ้าอโศกมหาราชขึ้นครองราชย์ หรือหลังพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานไปแล้ว 200 ปี
ตำนานเล่าว่าท่านเป็นพระอรหันต์ที่ลงไปจำพรรษาถือศีลปฏิบัติธรรมอยู่ใต้บาดาล (สะดือทะเล) ดังนั้นการอัญเชิญจึงสมมุติว่าแม่น้ำโขงคือสะดือทะเลที่อยู่ของพระอุปคุตจำศีลภาวนา เพื่อให้ท่านมาช่วยคุ้มครอง ปกปักรักษา ปกป้องภยันตรายไม่ให้เกิดขึ้น จนกว่างานนมัสการองค์พระธาตุพนมจะสำเร็จลุล่วง ซึ่งในปีนี้งานนมัสการฯจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-20 ก.พ. (9 วัน 9 คืน) ในริ้วขบวนแห่บนถนนกุศลรัษฎากร เนืองแน่นด้วยเหล่าพุทธศาสนิกชนทั้งไทยและลาว โรยดอกไม้หอมดอกไม้มงคลตลอดเส้นทางการอัญเชิญ
ส่วนในช่วงบ่าย เวลา 15.30 น. พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน จะเดินทางมาเป็นประธานพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ และพระเทพวรมุนี เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมฯ นำประกอบพิธีสักการบูชา เวียนเทียนรอบองค์พระธาตุพนม หลังเสร็จสิ้นพิธีเปิดจะเป็นการรำตำนานพระธาตุพนม ที่ปรับปรุงมาจากการฟ้อนรำแห่กองบุญ ในเทศกาลงานนมัสการพระธาตุพนม โดยนำเอาบทสวดสดุดีองค์พระธาตุพนม ทำนองสรภัญญะ มาประกอบกับวงดนตรีมโหรี ในเนื้อร้องมีการกล่าวถึงตำนานและความพิสดารขององค์พระธาตุพนม ตั้งแต่เริ่มก่อสร้างปี พ.ศ.8 เป็นต้นมา
พระธาตุพนม ถือเป็นพระธาตุศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองมายาวนาน มีอายุเก่าแก่ถึง 2,500 ปี ภายในมีการบรรจุพระอุรังคธาตุ หรือกระดูกส่วนหน้าอกของพระพุทธเจ้า ตำนานกล่าวว่าสร้างเมื่อปี พ.ศ.8 โดยพระมหากัสสปะ ผู้เป็นสาวกได้อัญเชิญพระอุรังคธาตุ เข้าบรรจุภายในที่อันสมควร แล้วให้ปิดประตูอุโมงค์ไว้ทั้ง 4 ด้าน โดยสร้างประตูด้วยไม้ประดู่ ใส่ดาลปิดไว้ทั้ง 4 ด้าน แล้วให้คนไปนำเอาเสาศิลาจากเมืองกุสินารา 1 ต้น มาฝังไว้ที่มุมเหนือตะวันออก แปลงรูปอัศมุขี (ยักษิณีหน้าเป็นม้า) ไว้โคนต้นเพื่อเป็นหลักชัยมงคลแก่บ้านเมืองในชมพูทวีป
จากนั้นได้นำเอาเสาศิลาจากเมืองพาราณสี 1 ต้น ฝังไว้มุมใต้ตะวันออก แปลงรูปอัศมุขีไว้โคนต้น เพื่อหมายมงคลแก่โลก นำเอาเสาศิลาจากเมืองตักศิลา 1 ต้น ฝังไว้มุมเหนือตะวันตก ส่วนพญาสุวรรณพิงคาระให้สร้างรูปม้าอาชาไนยไว้ตัวหนึ่ง หันหน้าไปทางทิศเหนือ เพื่อแสดงว่าพระบรมธาตุเสด็จออกมาทางทิศทางนั้น และพระพุทธศาสนาจักเจริญรุ่งเรืองจากเหนือเจือมาใต้ แล้วพระมหากัสสปะก็ให้สร้างม้าพลาหกไว้ตัวหนึ่งมาคู่กัน หันหน้าไปทางทิศเหนือ เพื่อเป็นปริศนาว่า พญาศรีโคตบูรจักได้สถาปนาพระอุรังคธาตุไว้ตราบเท่า 5,000 พระวัสสา เกิดทางใต้และขึ้นไปทางเหนือ ซึ่งเสาอินทขีลศิลาทั้ง 4 ต้นที่กล่าวมาข้างต้น ยังปรากฏเป็นหลักฐานอยู่ 2 ต้น ทางทิศตะวันออก ส่วนอีก 2 ต้นนั้น ได้ก่อหอระฆังหุ้มไว้ ส่วนม้าศิลาทั้ง 2 ตัว ก็ยังปรากฏอยู่ถึงปัจจุบัน ซึ่งองค์พระธาตุพนมยังเป็นพระธาตุประจำของผู้ที่เกิดวันอาทิตย์ และคนที่เกิดปีวอก
สำหรับงานนมัสการองค์พระธาตุพนมถือเป็นประเพณีสำคัญสืบทอดมาอย่างยาวนาน โดยชาวพุทธทั้งไทยและชาวลาวเชื่อถือสืบกันมา กล่าวกันว่าถ้าใครมีโอกาสเดินทางไปกราบไหว้พระธาตุพนม ถวายเครื่องสักการบูชาหน้าองค์พระธาตุด้วยตนเองแล้ว จิตใจจะสงบเยือกเย็นอย่างน่าอัศจรรย์ ถ้ายังไม่บรรลุนิพพานในชาตินี้ เมื่อเสียชีวิตไปแล้ววิญญาณก็จะได้ไปสู่สวรรค์ ชาวพุทธในถิ่นนี้ถือกันว่าองค์พระธาตุพนมไม่เพียงแต่จะเป็นเจดีย์ที่บรรจุพระอุรังคธาตุเท่านั้น แต่ยังเป็นสถานที่ซึ่งครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าเมื่อยังทรงพระชนม์อยู่ ได้เสด็จมาประทับแรมอยู่หนึ่งราตรีอีกด้วย ทำให้ทุกปีจะมีประชาชนจากทั่วทุกสารทิศของไทยและเทศ ต่างดั้นด้นเดินทางกันมาร่วมพิธีมากมายนับแสนคน จัดเป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน
ส่วนคำว่า “ข้าโอกาส” กล่าวกันว่าเกิดขึ้นราว พ.ศ.500 ในสมัยเจ้าพระยาสุมิตตธรรมวงศา ผู้ครองเมืองมรุกขนคร ท่านทรงมีความเสื่อมใสศรัทธาต่อองค์พระธาตุพนมยิ่งนัก จึงเกณฑ์ไพร่พลร่วมกันบูรณะจนแล้วเสร็จ จึงเกิดคำว่า “ข้าโอกาส” เป็นข้าอุปัฏฐากพระธาตุพนม ติดปากมาถึงปัจจุบัน ซึ่งผู้ที่เดินทางไปนมัสการองค์พระธาตุพนม จะเห็นข้าโอกาสสวมชุดสีขาว คอยปัดกวาดเช็ดถูทำความสะอาด เก็บสิ่งของ หรือจัดดอกไม้รอบองค์พระธาตุพนม นั่นคือข้าโอกาสผู้อุทิศตนเป็นสาวกรับใช้ใกล้ชิดกับองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: