นครพนม – วันที่ 22 ก.พ.62 เวลา 09.19 น. ชาวบ้านชนเผ่าไทญ้อ(ย้อ) บ้านเสาเล้าใหญ่ ต.โพนสวรรค์ อ.โพนสวรรค์ จ.นครพนม ให้การต้อนรับ นายสยาม ศิริมงคล ผวจ.นครพนม ที่เดินทางมาเป็นประธานในพิธียกยอดฉัตรทองคำ วัดธาตุจำปา เนื่องในงานนมัสการองค์พระธาตุจำปา ประจำปี 2562 ระหว่างวันที่ 20-24 ก.พ. มีนายบำรุง ศรีลาชัย นายอำเภอโพนสวรรค์ กล่าวรายงานและเล่าประวัติความเป็นมาของพระธาตุจำปา มีประธานฝ่ายสงฆ์ประกอบด้วย พระราชสิริวัฒน์(เจ้าคุณเพชร) รองเจ้าคณะจังหวัดฯ เจ้าอาวาสวัดสว่างสุวรรณาราม เขตเทศบาลเมืองนครพนม หลวงปู่คำไหล ปริสุทโธ วัดศรีชมภู บ้านอูนนา ต.นางัว อ.นาหว้า จ.นครพนม พระเกจิอาจารย์ชื่อดัง และพระอธิการสุวินัย มหาคุโณ เจ้าอาวาสวัดธาตุจำปา ซึ่งมีประชาชนแห่แหนมาร่วมงานอย่างล้นหลาม
โดยวัดธาตุจำปา ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่บ้านเสาเล้า ใหญ่ สิ่งก่อสร้างสำคัญที่พบ ได้แก่ องค์พระธาตุจำปา ตามประวัติการสร้างวัดธาตุจำปา พบว่าก่อสร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ.2253 หรือ 309 ปี (ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี มีเจ้าครองแผ่นดินพระนามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ) โดยการนำของพระภิกษุดี กตปุญโญ และนายกัญญา ดวงคูสัน พร้อมด้วยชาวบ้านเสาเล้าส่วนใหญ่เป็นชนเผ่าไทญ้อ ซึ่งอพยพมาจากแขวงคำม่วน ในประเทศ สปป.ลาว และหมู่บ้านใกล้เคียงร่วมกันสร้างวัดนี้ขึ้นมาเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ
ส่วนองค์พระธาตุจำปานั้น มีหลักฐานการก่อสร้างเมื่อ พ.ศ.2458 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โดยการนำของพระภิกษุเม้า ปัญญาวโร ใช้เวลาก่อสร้างทั้งสิ้นประมาณ 7 ปี ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของพระธาตุจำปา เป็นธาตุอีสานสมัยรัตนโกสินทร์ ก่อด้วยอิฐถือปูน แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ฐานกว้างยาวด้านละ 4.40 เมตร สูงประมาณ 20 เมตร มีกำแพงแก้วล้อมรอบ 2 ชั้น ทำซุ้มประตูทั้ง 4 ด้าน ลักษณะพระธาตุเป็นแบบกลุ่มฐานสูง ซึ่งได้รับอิทธิพลรูปแบบจากองค์พระธาตุพนม (องค์ก่อนบูรณะเมื่อปี พ.ศ. 2483) และมีรูปทรงคล้ายกลับพระธาตุท่าอุเทนมากที่สุด แต่ต่างกันที่มีขนาดเล็กกว่า ภายในองค์พระธาตุได้บรรจุวัตถุมงคล หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา มีพระพุทธรูปทองคำ คุดขอ นอ งา เขี้ยวหมูตัน จันทะคาด พร้อมของมีค่าอีกมาก
ลักษณะของเรือนธาตุเป็นทรงสี่เหลี่ยมสูง เรือนธาตุชั้นแรกและชั้นที่ 2 ประดับด้วยซุ้มประตูหลอกและลายปูนปั้นลงสีอย่างสวยงามทั้ง 4 ด้าน ถัดขึ้นไปเป็นส่วนองค์ระฆังทำทรงบัวเหลี่ยมประดับด้วยกระจกสีและลายดอกจอก ปูนปั้น ถัดขึ้นไปเป็นแอวขันรองรับส่วนตีนหีบที่ยืดสูงคอดเรียวขึ้นไปเป็นลักษณะคอขวด โดยระหว่างปลียอดและส่วนตีนหีบคั่นกลางด้วยแอวขัน จากนั้นจึงเป็นส่วนของยอดธาตุที่ทำเป็นบัวเหลี่ยมเรียวขึ้นไปสู่ยอดสุดติด กับฉัตร ซึ่งแต่เดิมฉัตรทำด้วยทองเหลืองแต่ถูกฟ้าผ่าเมื่อปี พ.ศ.2525 หลวงพ่อกันเจ้าอาวาสในขณะนั้น จึงได้นำเฉวตฉัตรจากกรมศิลปากรขึ้นไปใส่ไว้ใหม่ ขณะเดียวกันพระครูปลัดหวล วัดรัชฎาธิฐาน เขตตลิ่งชัน กทม. ได้นำเอาอัฐธาตุพระอรหันต์จากกรมศิลปากร มาบรรจุไว้ในองค์พระธาตุ อยู่ตรงบริเวณกระจกใบใหญ่ กระทั่งปี 2558 ยอดเฉวตฉัตรได้หักลงมาอีกครั้ง เนื่องจากเกิดวาตภัย พายุฤดูร้อนพัดถล่มบ้านเรือนราษฎรพังพินาศ จึงมีการสร้างเฉวตฉัตรใหม่ เป็นทองคำหนักเกือบ 60 บาท โดยกำหนดยกยอดฉัตรในงานนมัสการองค์พระธาตุจำปา ประจำปี 2562 นี้
ข่าวน่าสนใจ:
พระธาตุจำปาได้ชื่อว่าเป็นพระธาตุที่มีอายุมากกว่า 100 ปี เป็นโบราณสถานที่มีความสำคัญกับชุมชนในแถบจังหวัดนครพนม โดยเฉพาะในเขตอำเภอโพนสวรรค์ โดยถือว่าเป็นพระธาตุที่มีความสำคัญ 1 ใน 5 แห่งที่มีความศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่เคารพบูชาเช่นเดียวกับวัดพระธาตุพนม ฯ พระธาตุท่าอุเทน พระธาตุเรณูนคร และพระธาตุประสิทธิ์ และโบราณสถานในวัดธาตุจำปา ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ และกำหนดขอบเขตโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 122 ตอนพิเศษ 69 ง ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2548 มีพื้นที่ประมาณ 2 ไร่ 80 ตารางวา
สำหรับงานนมัสการพระธาตุจำปา ได้ถูกกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันแรม 1 ค่ำ-แรม 5 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี รวม 5 วัน 5 คืน ซึ่งเป็นการจัดงานในรูปแบบ รักษาขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมของท้องถิ่น โดยใช้ชื่อว่างานสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่น ประเพณีนมัสการพระธาตุจำปา ตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน เพื่ออนุรักษ์ สืบสาน และดำรงไว้ซึ่งศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีของชนเผ่าไทญ้อที่สืบทอดกันมาแต่บรรพบุรุษ แสดงออกถึงความรัก สมัครสมาน สามัคคี และความศรัทธาของพี่น้องชาวโพนสวรรค์ ที่มีต่อองค์พระธาตุจำปา เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองมาช้านาน อีกทั้งยังเป็นการประชาสัมพันธ์องค์พระธาตุจำปา ให้เป็นที่รู้จักแก่สาธารณชน อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: