นครพนม – วันที่ 27 มี.ค.62 เวลา 09.00 น. นายสยาม ศิริมงคล ผวจ.นครพนม พร้อมด้วยนางวิไลวรรณ ไกรโสดา รอง ผวจ.ฯ พล.ต.ปราโมทย์ นาคจันทึก ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 210 (ผบ.มทบ.210) พล.ต.ต.ธนชาติ รอดคลองตัน ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดฯ(ผบก.ภ.จว.นครพนม) นำคณะหัวหน้าส่วนราชการ ตลอดจนเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ บริเวณบ่อน้ำพระอินทร์ แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ ภายในวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อ.ธาตุพนม เพื่อตรวจติดตามการเตรียมความพร้อม ที่จะใช้ในการประกอบพระราชพิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ของจังหวัดนครพนม เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
การลงพื้นที่ในครั้งนี้เป็นการติดตามงานอย่างต่อเนื่อง โดยก่อนหน้านี้ วันที่ 25 มี.ค. ผวจ.นครพนม ได้มาตรวจความเรียบร้อย และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการบูรณะโครงสร้างของโรงเรือนเดิม ที่สร้างครอบบ่อน้ำพระอินทร์ แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ของจังหวัดนครพนมใหม่ รวมถึงการปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบให้สถานที่มีความเป็นระเบียบ เรียบร้อย สวยงาม สมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างสูงสุด
นอกจากนี้ นายสยามฯ ผวจ.นครพนม ยังรับหน้าที่เป็นไกด์ นำพาหัวหน้าส่วนราชการ ไปตามจุดกำหนดต่าง ๆ ที่จะใช้ประกอบพระราชพิธี เน้นให้ตรงกับพระราชพิธีโบราณ เช่นการกว้านน้ำจากบ่อขึ้นมาให้ผู้ว่าฯตักใส่ขันน้ำสาคร ก่อนจะเคลื่อนย้ายน้ำศักดิ์สิทธิ์ไปยังพระอุโบสถ ที่ตั้งอยู่ด้านหน้าองค์พระธาตุพนม เพื่อประกอบพิธีเวียนเทียนสมโภชน้ำอภิเษก
มีการเตรียมความพร้อมในการรักษาความปลอดภัย และการจัดระเบียบการจราจร เพราะนอกจากข้าราชการกว่า 1,000 คน แล้ว ยังมีประชาชนที่แสดงความประสงค์เข้าร่วมพิธี ไม่น้อยกว่า 7,000 คน รวมถึงการปฐมพยาบาลและการประชาสัมพันธ์ ภาพรวมมีความคืบหน้าไปแล้วเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์
ข่าวน่าสนใจ:
- ชัยภูมิเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดใหญ่งานวันการศึกษาเอกชนภาคอีสาน!
- ตรัง ผู้ตรวจฯกระทรวงพาณิชย์ ลงตรังเยี่ยมแปลงปลูกพริกไทยตรัง-สุราชุมชน ผู้ผลิตต่อยอดสินค้า GI "พริกไทยตรังพันธุ์ปะเหลียน สู่มาตรฐาน EU organic…
- พร้อมรับสมัครเลือกตั้งนายกและสมาชิกสภา อบจ.พังงา เชิญชวนคนดีมีความสามารถมาสมัคร 23-27 ธันวาคมนี้
- ททท.สำนักงานนครพนม จัดกิจกรรม TAT Nakhonphanom Open House #10
บ่อน้ำพระอินทร์เป็นบ่อน้ำโบราณของวัดพระธาตุพนมฯ ที่มีมาช้านาน ตั้งแต่สมัยก่อสร้างองค์พระธาตุพนม ในอดีตกาลนั้นการสร้างพระธาตุจะมีชาวบ้านมาร่วมกันก่อสร้างองค์พระธาตุพนมจำนวนมาก ซึ่งในระหว่างการสร้างจำเป็นต้องใช้น้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และการบริหารจัดการด้านต่าง ๆ ดังนั้นจึงได้มีการขุดบ่อขึ้นมา โดยบ่อน้ำพระอินทร์ ตั้งอยู่ทางทิศเหนือ ห่างจากองค์พระธาตุพนมประมาณ 60 เมตร มีขนาดกว้าง 1.5 เมตร ลึก 10 เมตร เป็นบ่อน้ำจืด ใส สะอาด มีน้ำอยู่ตลอดทั้งปี ครั้งล่าสุดที่มีการประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่บ่อน้ำพระอินทร์แห่งนี้ คือเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2554 ในพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554
สำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ถือเป็นพระราชพิธีเก่าแก่ โดยมีประวัติความเป็นมาว่า เป็นพระราชพิธีสำหรับผู้ที่จะเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นองค์พระมหากษัตริย์ เพื่อดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์อย่างสมบูรณ์ หรือเป็นพิธีที่จัดขึ้นเพื่อรับรองฐานะความเป็นประมุขของรัฐอย่างเป็นทางการ
ปรากฏหลักฐานครั้งแรกในประวัติศาสตร์ในศิลาจารึกวัดศรีชุมของพญาลิไทแห่งกรุงสุโขทัย สมัยที่พ่อขุนผาเมือง ได้อภิเษกให้พระสหายคือ พ่อขุนบางกลางหาว เป็นพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ผู้ครองกรุงสุโขทัย แต่ไม่ปรากฏรายละเอียดการประกอบพระราชพิธี
กระทั่งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อขึ้นเสวยราชสมบัติ ได้ทรงทำพระราชพิธีนี้อย่างสังเขป เมื่อปี พ.ศ. 2325 ครั้งหนึ่งก่อน จากนั้นได้ทรงตั้งคณะกรรมการสอบสวนแบบแผนโดยถี่ถ้วน แล้วตั้งขึ้นเป็นตำรา จากนั้นก็ทรงพิธีบรมราชาภิเษกแบบเต็มพิธี ตามตำราอีกครั้ง เมื่อปี พ.ศ. 2328 และได้ใช้เป็นแบบแผนตามตำรากับรัชกาลต่อมาจนถึงปัจจุบัน
หากนับตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี ได้มีการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมาแล้วจำนวน 11 ครั้ง
สำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร จะเป็นการประกอบพระราชพิธีครั้งที่ 12 ระหว่างวันที่ 4-6 พฤษภาคม 2562
ทั้งนี้ หากพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใด มิได้ผ่านการพิธีบรมราชาภิเษก ถือว่าทรงเป็นพระเจ้าอยู่หัวยังไม่เต็มพระองค์ เครื่องยศและพระนามต่าง ๆ จะแตกต่างไปจากพระเจ้าอยู่หัวที่ผ่านการพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว เช่น จะไม่มีคำว่า “พระบาท” นำหน้าพระนาม จะมีแค่เพียงคำว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” โดยหลังประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว ในวันที่เดียวกันนั้นของปีถัดไป จะกลายเป็นวันฉัตรมงคล
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: