นครพนม – วันที่ 27 เม.ย.62 ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดนครพนมว่า พอย่างเข้าฤดูร้อนเดือนเมษายนจนถึงฤดูฝนเดือนพฤษภาคม จะมีอาหารพื้นเมืองที่ได้จากป่าชุมชนธรรมชาติหลากหลายที่ชาวบ้านหาจากป่า นำออกมาจำหน่ายเสริมรายได้ตามวิถีชีวิตคนชนบท ซึ่งปัจจุบันอาหารประจำถิ่นเริ่มหายากและมีราคาแพงขึ้นทุกปี อาทิ ไข่มดแดง แมลงจินูน เห็ดผึ้ง เห็ดเผาะ โดยเฉพาะในเดือนเมษา-พฤษภาคมนี้จะมีแมลงชนิดหนึ่งคือ แมงแคงจิก หรือแมงแคง ลักษณะตัวแบนๆ เล็กๆ อาศัยอยู่ในป่าต้นจิก ต้นค้อ ชาวบ้านจะหามาจำหน่ายให้กับแม่ค้าเพื่อนำมาขายต่อในราคาที่แพงกว่าอาหารพื้นเมืองที่กล่าวข้างต้น
นางสาวนุชบา กองอาสา อายุ 25 ปี บ้านลาดกะเฌอ ต.ห้วยยาง อ.ภูพาน จ.สกลนคร แม่ค้าขายแมงแคง ในตลาดนัดทุกวันเสาร์ ข้างห้างสรรพสินค้าโลตัส สาขาท่าอุเทน จ.นครพนม เปิดเผยว่า ตนประกอบอาชีพขายอาหารป่ามาแล้วกว่า 7 ปี เพราะมีบ้านอยู่บนเทือกเขาภูพาน ป่ายังมีความอุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านจึงเข้าไปหาผักป่าตามฤดูกาลมาส่งขายให้ตน เช่นแมงแคงจิกตอนออกใหม่ๆรับซื้อกิโลกรัมละ 1,800 บาท เอามาขายต่อในราคากิโลกรัมละ 2,500 บาท แม้จะแพงอย่างไรก็ไม่พอขาย หากฝนฟ้าอำนวยไม่ตกมาตอนตั้งแผงก็ขายหมดทุกวัน ตอนหลังแมงแคงจับได้เยอะ ราคารับซื้อลดมาที่ กก.ละ 1,600 บาท ขายปลีก กก.ละ 2,000 บาท
“ซื้อมาเท่าไรก็ขายหมด พื้นที่ในจังหวัดนครพนมยังหายาก เนื่องจากป่าชุมชนถูกเผาทำลาย จากการทำลายป่าที่เป็นแหล่งอาศัยของแมงแคง ส่วนมากจะมีแถบเทือกเขาภูพาน อย่างอำเภอนาแก จ.นครพนม เพราะป่ายังมีความสมบูรณ์ ปีนี้ชาวบ้านบอกว่าหายากต้องเข้าไปลึกกว่าปกติ จึงจะพบแมลงแคงจิกอาศัยอยู่” น.ส.นุชบา กล่าว
นอกจากจะมีแมงแคงเป็นสินค้าชูโรงแล้ว แผงดังกล่าวยังมีพืชอาหารป่าที่มีรสชาติอร่อย เช่น เห็ดเผาะหนัง ราคา กก.ละ 600 บาท แมงจีนูน กก.ละ 350 บาท ผักหวานป่า กก.ละ 250 บาท น้องวัว(รกวัว) กก.ละ 350 บาท และลูกอ๊อด(ฮวก) กก.ละ 250 บาท ล้วนเป็นอาหารมีคุณค่าทางโภชนาการทั้งสิ้น โดยเฉพาะแมงแคงนักเปิบต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าแพงกว่าเป็ดย่างปักกิ่งเยอะ
ข่าวน่าสนใจ:
- สงขลา เมืองชายแดนสะเดา จัดงานลอยกระทงสืบสานประเพณี ชวนมาเลย์เที่ยวไทย
- นราธิวาส-สุดทน! พ่อค้าแม่ค้าร้อง ส.ส.นำเรื่องเข้าสภาฯ หลัง "บอสตลาดเก็นติ้ง" จัดหนัก! ปรับราคาเช่า-ต่อสัญญาสูงลิ่ว
- สมาคมพ่อค้านครพนม จัดงานสมโภช ‘เจ้าพ่อหมื่น’ ปี 2567 เสริมสิริมงคล
- นบ.ยส.24 โดย ร้อย.ฉก.ทพ.2101 โชว์ฝีมือจับผู้ต้องหาพร้อมของกลางยาบ้า จำนวน 12,000 เม็ด
สำหรับแมงแคงจิก มีชื่อพื้นบ้านว่า แมงแคง แมงแคงค้อ แมงขิว ฉายาเป็นจอมยุทธ์ใบไม้ผลิ ตัวเต็มวัยมีสีน้ำตาลปนเหลือง รูปร่างลักษณะคล้ายโล่ ยาวประมาณ 25-31 มม. ส่วนกว้างตอนอก ประมาณ 15-17 มม. ตัวเมียจะวางไข่เป็นกลุ่มตามใบหรือเรียงตามก้านดอก ไข่กลุ่มหนึ่งจะมีจำนวนโดยเฉลี่ย 14 ฟอง ประมาณ 7-14 วัน ไข่จะฟักออกมาเป็นตัวอ่อน มีสีแดงและจะมีการลอกคราบ 5 ครั้ง ราว 61-74 วัน ตัวอ่อนจะเจริญออกมาเป็นตัวเต็มวัย
แหล่งที่พบตามต้นค้อ (ตะคร้อ) ต้นจิก ต้นฮัง(รัง) และป่าเต็งรังทั่วไป ส่วนมากพบตามต้นค้อ ซึ่งแมงแคงดำรงชีวิตด้วยการกินน้ำเลี้ยงจากยอดใบอ่อนต้นค้อ จึงพบได้มากตามต้นค้อเป็นหลัก แต่ทางภาคเหนือจะพบแถวต้นลำไย ช่วงที่พบได้ง่ายคือเดือน เม.ย.-มิ.ย. บนต้นค้อที่กำลังงอกใบใหม่ ส่วนวงจรชีวิตแมงแคง มีอายุขัย นับตั้งแต่ไข่-ตัวเต็มวัย-ตาย ประมาณ 1 ปี ส่วนศัตรูร้ายของแมงแคง ได้แก่ นกกะปูด นกกระลาง นกไก่นา กะปอม และมนุษย์
แมงแคงเป็นเมนูอีสานรสโอชาชั้นยอด นำไปปรุงเป็นอาหาร ได้หลายชนิด เช่นกินดิบๆ เพียงเด็ดปีกทิ้ง แล้วบีบตรงส่วนท้องเพื่อให้ฉี่ที่มีกลิ่นฉุนๆ ออก โยนใส่ปากเคี้ยวรสชาติมัน หรือนำไปคั่วไฟอ่อนๆ โรยเกลือเล็กน้อย แต่ส่วนมากจะนำไปทำน้ำพริก หรือแจ่วแมงแคง หลายคนบอกว่ารสชาติอร่อยกว่าน้ำพริกแมงดา เพราะมีกลิ่นหอมไม่ฉุน และนับวันจะมีราคาแพงขึ้นทุกปี เนื่องจากเริ่มหายากเข้าไปทุกที
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: