นครพนม – “วัดโพธิ์ศรี” ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง ถนนสุนทรวิจิตร ใกล้กับพญาศรีสัตตนาคราช เขตเทศบาลเมืองนครพนม เป็นวัดเก่าแก่สันนิษฐานว่าตั้งขึ้นพร้อมกับเมืองนครพนม โดยบริเวณตรงข้ามกับวัดมีต้นโพธิ์ใหญ่ตระหง่าน จึงได้ตั้งชื่อวัดตามต้นโพธิ์นั้น ต่อมาต้นโพธิ์ได้หักโค่นลงตามอายุขัย เจ้าอาวาสในขณะนั้นได้นำหน่อมาปลูกข้างกำแพงวัดด้านทิศเหนือของโบสถ์ และยังอยู่ให้เห็นจนถึงปัจจุบัน
เมื่อลอดผ่านซุ้มประตู(ประตูโขง)หน้าวัด มีวิหารอยู่ตรงหน้า เป็นที่ประดิษฐาน”พระทอง” พระพุทธรูปสกุลช่างล้านช้าง ปางมารวิชัย ประทับนั่งเหนือฐานอาสนบัลลังก์บัวชั้นเดียว ฐานล่างประกอบด้วยฐาน 8 เหลี่ยม จำนวน 3 ชั้น พระรัศมีมีเปลวพระศกเม็ด มีไรพระศก ฐานล่างด้านหน้ามีอักษร 2 บรรทัด โดยบรรทัดแรกเป็นอักษรไทยอีสาน และบรรทัดที่สองเป็นอักษรไทย ธรรมอีสาน เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริการหนังสือตัวเขียนและจารึก กองหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร ได้ถอดความไว้ดังนี้ บรรทัดที่หนึ่ง สร้างเมื่อปีมะแม พ.ศ.2066 ตรงกับสมัยพระเมืองแก้วครองเมืองเชียงใหม่ และตรงกับรัชสมัยพระรามาธิบดีที่ 2 แห่งกรุงศรีอยุธยา นับถือปี 2562 พระทองมีอายุถึง 496 ปี
มีตำนานเล่าขานว่า มีพี่น้อง 4 คน เป็นชายสองชื่อนายเกิ้นกับนายแก้น และหญิงอีกสองชื่อนางต้อกับนางตั้น โดยขณะกำลังขุดดิน ถากถาง ในแปลงการเกษตรของพวกตน เกิดลมฝนตั้งเค้าทะมึนมาแต่ไกล นางต้อและนางตั้นจึงรีบกลับบ้านก่อน ระหว่างทางเห็นรุ้งกินน้ำ กำลังใช้ขันทองคำตักน้ำกิน จึงเกิดความโลภอยากได้ขันทองคำนั้น นางต้อจึงถอดผ้าซิ่นเปลือยกายถือไม้ไล่รุ้ง รุ้งก็ตกใจทิ้งขันไว้แล้วสลายตัวไป สองพี่น้องแอบนำขันทองคำดังกล่าวไปซ่อนไว้ โดยไม่ยอมบอกเล่าให้ใครฟัง
อยู่มาก็มีคนในบ้านมีอันเป็นไป เจ็บไข้ได้ป่วยเป็นประจำ จึงคิดว่าเป็นเพราะแย่งขันทองคำมาจากรุ้ง และไม่มีบุญวาสนาที่จะครอบครองขันทองคำ จึงนำขันทองคำไปฝากไว้กับพระ ปรากฏว่าคนที่ป่วยก็หาย แต่สองพี่น้องยังกังวลอยู่ จึงคิดจะนำขันทองใบนี้หล่อเป็นพระพุทธรูป ในสมัยนั้นมีช่างหล่อพระฝีมือดีอยู่บ้านกูบกองหล่อ แถวลำน้ำหินปูน ประเทศลาว ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับ อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม ในปัจจุบัน
ข่าวน่าสนใจ:
ช่างได้หล่อเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยเสร็จเรียบร้อย จึงอัญเชิญลงเรือแพพร้อมกับนางต้อ นางตั้น ล่องแพออกจากลำน้ำหินปูนสู่แม่น้ำโขงที่ปากน้ำหินปูน แพพระทองไหลล่องมาถึงบริเวณหน้าวัดบ้านห้อมก็ไหลวนไม่ยอมไปไหน จึงเชื่อว่าพระทองมีความประสงค์จะอยู่ที่นี่ จึงอัญเชิญขึ้นไปประดิษฐานที่วัดบ้านห้อม ต.อาจสามารถ อ.เมือง จ.นครพนม
ต่อมาความทราบถึงเจ้าเมืองนครพนม พิจารณาเห็นว่าพระทองเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่ควรจะประดิษฐานที่บ้านห้อม เกรงจะมีคนร้ายมาลักขโมย จึงเห็นสมควรอัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดโพธิ์ศรี ในตัวเมืองนครพนม จนถึงปัจจุบัน
พระครูโพธิกิจวิมล เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ศรี กล่าวว่าเคยทำพิธีอัญเชิญพระทองจากวิหาร เพื่อสรงน้ำในวันสงกรานต์ แต่มักจะเกิดพายุฝนตกหนักทุกครั้ง ภายหลังต้องเปลี่ยนเป็นพระพุทธรูปองค์อื่นแทน ปัจจุบันทุกวันเพ็ญเดือน 6 หรือวันวิสาขบูชา จะนิมนต์พระทองมาไว้ที่หอสรง(หน้าหอพระทอง) เพื่อให้ประชาชนทมาทำบุญวิสาขบูชา และสรงน้ำหลวงพ่อพระทองด้วย หลังจากนั้นก็ทำพิธีสู่ขวัญหลวงพ่อพระทอง และในวันออกพรรษา(บุญไต้ประทีป โคมไฟ หรือบุญไต้น้ำมัน ทอดปราสาทผึ้ง ไหลเรือไฟ แข่งเรือยาว) ชาวบ้านห้อมยังถือว่าตนเป็น”ข้าโอกาสพระทอง” จะจัดทำปราสาทผึ้ง พร้อมดอกไม้เงิน ดอกไม้ทองใส่เรือล่องมาทอดถวายที่วัดโพธิ์ศรี เป็นประเพณีมาประจำทุกๆปี ตามที่บรรพบุรุษที่เคยเป็นข้าโอกาสหลวงพ่อพระทองมาแล้ว
เจ้าอาวาสยังกล่าวเพิ่มเติมว่า แม้จะเปลี่ยนพิธีสรงน้ำพระทองจากวันสงกรานต์มาเป็นวันวิสาขบูชาแล้วก็ตาม หลังจากสรงน้ำแล้วมักจะมีฝนตามมาเสมอ “ปีนี้(2562) นายนิวัต เจียวิริยะบุญญา นายกเทศมนตรีเมืองนครพนม จัดพิธีสรงน้ำพระทองวัดโพธิ์ศรี และสรงน้ำพระติ้วพระเทียมวัดโอกาสในวันเดียวกัน โดยเริ่มจากวัดโพธิ์ศรีก่อน อาตมายังมีความเชื่อว่าฝนจะตกลงมาเหมือนทุกครั้ง” พระครูโพธิกิจวิมล กล่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: