X

ทสจ.เตือนชาวบ้านห้ามตัดต้นไม้เก็บแมงแคงผิดกฎหมาย

มุกดาหาร- ทสจ.มุกดาหาร เตือนชาวบ้าน ขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนไม่ให้ตัดฟันต้นไม้ เพื่อเก็บแมงแคงในเขตป่าสงวน ซึ่งจะมีความผิดตามกฎหมาย

เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 62 นายสุรเดช อัคราช ผู้อำนวยการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดมุกดาหาร เปิดเผยว่า ด้วยขณะนี้แมงแคง มีราคาสูงมาก กิโลกรัมละ 1,200-1,500 บาท ทำให้ราษฎรทำการเก็บหากันอย่างเร่งรีบ โดยทำการตัดฟันไม้เต็ง(จิก) ลงเป็นจำนวนมาก เพื่อเก็บแมงแคง โดยเฉพาะพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าดงหมู บริเวณป่าชุมชนตำบลบ้านโคก อำเภอเมือง ไม้เต็งถูกตัดฟันไปหลายร้อยต้น ซึ่งการกระทำดังกล่าว เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ ฐานทำไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษทั้งจำทั้งปรับ

สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงขอความร่วมมือ ประชาชน เข้าป่า หาแมงแคง อย่าได้ตัด ทำลาย ไม้เต็ง (จิก) เพื่อเก็บแมงแคงโดยเด็ดขาด เพราะเป็นการกระทำดังกล่าว เข้าข่าย ทำลายทรัพยากรธรรมชาติอันทรงคุณค่า ซึ่งมีมีความผิดตามกฎหมาย พร้อมได้มีหนังสือแจ้งไปยัง นายอำเภอ ในพื้นที่จังหวัดมุกดาหาร ประชาสัมพันธ์ ผ่านกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารท้องถิ่น ในพื้นที่แจ้งให้ประชาชนทราบ เพื่อไม่ให้ตัดทำลายไม้เต็ง(จิก) หรือทำผิดกฎหมายดังกล่าว

สำหรับ แมงแคง หรือ แมลงมวนลำไย เป็นแมลงชนิดหนึ่งให้กลิ่นคล้ายแมงดา เป็นแมลงชนิดหนึ่งในจำนวนหลายร้อยชนิด ที่คนอีสานชอบนำไปประกอบอาหารที่หลากหลายเมนู ทั้งคั่ว แกง ลวก และนึ่ง ตามถนัดแต่ละคน แมงแคง เป็นแมลงอาศัยตามต้นไม้ เช่น ต้นค้อ ( ตะคร้อ) ต้นจิก ต้นฮัง ช่วงทีผลิใบอ่อน หากินได้ปีละครั้ง ราคาค่อนข้างสูง กิโลกรัมละ 1,200 บาท ถึง 1,500 บาท
ชื่อพื้นบ้าน แมงแคงจิก ชื่อวิทยาศาสตร์ Pygoplatys auropunctatus และ Pygoplatys lunatus

class Insecta – order Hemiptera family Tesseratomidae ลักษณะทั่วไป เป็นแมลงที่อยู่ในวงเดียวกัน กับ แมงแคงค้อ ( แมงแคงแดง) คือวงศ์ Tesseratomidae แต่มีรูปร่างเล็กกว่า มีสีอมเขียวจนถึงน้ำตาลซีด ลำตัวกว้าง 1.5 ซม. ยาว 2 ซม มีหนอกเล็ก ๆ ยื่นออกบนไหล่. ซึ่งต่างจากแมงแคงค้อ พบในเขต อีสาน จนถึงประเทศลาว อาศัยตามป่าเบญจพรรณ ป่าแดง หรือป่าโคก ส่วนใหญ่อาศัยตามป่าโปร่ง ไม่พบในป่าแบบป่าดงดิบ หรือป่าดิบชื้น ตัวผู้มีลำตัวเรียวกว่าตัวเมีย ซึ่งตัวมีมีลักษณะแผ่แบน ซึ่งที่ชาวอีสานเรียกรวมกันว่า “แมงแคงจิก” ความจริงแล้ว เป็น แมลง 2 ชนิดรวมกันคือพันธุ์ที่มีสีแดง และพันธุ์ชนิดที่มีสีเขียว ได้แก่ แมงแคงจิกแดง Pygoplatys lunatus แมงแคงจิกเขียว ชนิด Pygoplatys auropunctatus นับว่าเป็นแมลงที่มีเขตพื้นที่อยู่จำกัดและเป็นแมลงจำเพาะถิ่น ในสมัยก่อนมีดาษดื่นตามป่าในภาคอีสาน แต่ปัจจุบันแทบหาดูไม่ได้ มีคนรู้จัก และมีโอกาสพบเห็นน้อยนิด การดำรงชีพดอนยังเล็ก อาศัยดูดน้ำเลี้ยง น้ำหวานจากยอดไม้ใบไม้ผลิใหม่ ในห้วงต้นฤดูใบไม้ผลิ ห้วง เม.ย.- พ.ค. อาศัยตามพุ่มไม้ ประเภท พุ่มจิก พุ่มรัง พุ่มกุง (ตองตึง) ต้นค้อ และพืชในป่าโคก ชอบอยู่เป็นกลุ่มไม่ชอบที่สูง ตอนกลางวันมักหลบแดดใต้ใบไม้ ชอบดูดกินน้ำเลี้ยง ตอนเช้าๆ เมื่อสายจะหลบพักใต้ใบบัง เมื่อเจริญเต็มวัย จะอาศัยอยู่บนที่สูง ตามใบไม้ต่างๆ คอยกินน้ำหวานจากดอกไม้ป่า หรือยอดไม้บนที่สูง เป็นเหตุผลให้เราไม่ค่อยเจอตัวมันในช่วงเต็มวัย

วงจรชีวิตชอบวางไข่ตามใต้พุ่มไม้ กิ่งไม้ทีมีร่มเงา ไข่จะทนสภาพได้ถึง 3 เดือนเมื่อวางไข่เสร็จมันจะตายลง ไข่จะฟักตัวเมื่อเข้าสู่หน้าร้อน ปลายเดือน มี.ค. จากนั้นจะอาศัยกินน้ำเลี้ยงตามยอดพืชของป่า จิกเต็งรัง และไม้พุ่มอื่นๆรวมกลุ่มกัน บางครั้งก็พบตาม ต้นเพ็ก ช่วงนี้ของชีวิตมีอายุ 15 วัน จากนั้นใช้เวลา 7 – 9 วันก็จะงอกปีกโผบินได้ดังตัวเต็มวัย แมงแคงจิก มีการเจริญเติบโตเป็นแบบไม่สมบูรณ์ (Incomplete metamorphosis) ซึ่งเป็นการเจริญเติบโต มีการเปลี่ยนแปลงทั้งรูปร่าง และขนาด ประกอบด้วย 3 ระยะ คือ 1. ไข่ (egg), 3 ( 3 เดือน ) 2.ตัวอ่อนหรือตัวกลางวัย (nymph) 28 -30 วัน 3. ตัวเต็มวัย (adult) 5 – 6 เดือน ซึ่งเป็นป่าที่มีลักษณะจำเพาะ ที่เรียกว่า “แมงแคงจิก” เพราะในช่วงวัยตัวอ่อน หรือ ตัวกลางวัย (ช่วงยังไม่มีปีก) มันชอบดูดกินน้ำเลี้ยงของใบอ่อน ต้นจิกอีสาน ต้นไม้ชนิดนี้เป็นอาหารและทางรอดของ แมลงสายพันธุ์นี้ มันจึงมีจำเพาะถิ่น ตามป่าโคก

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน