นครพนม – กรณีการบุกรุกที่ดินสาธารณประโยชน์ บ้านห้วยพระ หมู่ 9 และ 14 ต.ท่าจำปา อ.ท่าอุเทน จ.นครพนมเป็นเหตุให้ บริษัทเกษตรปิยมิตร จำกัดที่ครอบครองโฉนดที่มีปัญหา ได้ยื่นหนังสือขอรังวัดสอบเขตโฉนดของตนเอง ถึงสำนักงานที่ดินจังหวัดนครพนม สาขาท่าอุเทน เพื่อขอตรวจสอบแนวเขต จำนวน 16 แปลง คือโฉนดเลข ที19233,19234,19243,19238,19236,19227,19228 ,19235,19229,19230,19237,19246,19231ที่มีเนื้อที่ติดกับที่สาธารณะ ส่วนอีก3 แปลงจะติดกับที่ดินของชาวบ้านที่ร้องเรียนว่าถูกออกโฉนดทับที่ดินของตนเอง ซึ่งสำนักงานที่ดินฯ สาขาท่าอุเทน ได้มอบหมายให้นายมานิต มีใหญ่ เจ้าพนักงานฝ่ายรังวัด เป็นผู้ออกสำรวจร่วมกับผู้นำหมู่บ้าน โดยหลังจากตรวจสอบจนครบทั้ง 13แปลงที่ติดกับที่สาธารณะแล้ว ปรากฏว่าผู้ใหญ่บ้านและสมาชิกอบต.ท่าจำปา ได้ร่วมกันปักแนวเขตคัดค้านว่ามีการออกโฉนดทับที่สาธารณะ เต็มทั้งแปลงเลยถึง 5 แปลง คือโฉนดเลขที่19230,19235,19236,19237, 19238 โดยทั้ง 5 แปลงออกรุกล้ำเข้าไปในลำห้วยบ่อ และหนองน้ำที่เป็นแหล่งชุ่มน้ำของลำห้วยบ่ออันเป็นที่สาธารณะรวมถึงป่าสงวนดงกระแสน ทั้งแปลง ชาวบ้านจึงได้ปักแนวเขตที่ได้รุกล้ำไว้ พร้อมให้ช่างรังวัดทำบันทึกคัดค้าน เพื่อตรวจสอบกับแผนที่ระวางและสาระบบต่อไป
โดยล่าสุด มีการตรวจสอบแนวเขตที่ดินตามเลขโฉนดที่ 19237 จำนวน 58 ไร่ 2 งาน 38 ตารางวา ซึ่งเป็นแปลงสุดท้าย บริเวณริมห้วยทวยลำน้ำสายหลักของหมู่บ้าน โดยนายทุนได้นำหมุดโฉนดมาปักแทนอันเก่าที่อ้างว่าหายไป โดยพละการ ซึ่งไม่มีการรับรองจากที่ดินข้างเคียงแต่อย่างไร นอกจากนั้นก็ไม่ปรากฏที่ดินข้างเคียงในโฉนดที่ระบุว่าติดที่ดินสปก.แต่พบว่าสภาพที่ดินเป็นเกาะมีน้ำล้อมรอบ โดยมีการนำดินมาถมลำห้วยเพื่อทำเป็นทางเข้าออก
โดยที่ดินผืนดังกล่าวเป็นเกาะอยู่กลางน้ำ ที่ชาวบ้านเรียกว่าห้วยทวยหลง เพราะเป็นน้ำที่แยกจากห้วยทวยอีกที โดยมีลักษณะการไหลของน้ำในลำห้วยทวยไหลวนรอบเกาะแห่งนี้ ทำให้บริเวณดังกล่าวมีสภาพเป็นเกาะที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์ร่วมกัน มาช้านาน ซึ่งสอดคล้องกับรายงานของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของจังหวัดนครพนมร่วมกับกรมที่ดิน ตามหนังสือคำสั่งที่ 2743/2557 พร้อมด้วยคณะกรรมการของกรมที่ดินตามหนังสือแต่งตั้งเลขที่ 30/2560 ลงวันที่ 9 มกราคม 2560 แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อให้ได้ข้อยุติเกี่ยวกับการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินบริเวณบ้านห้วยพระหมู่ 9และหมู่ 14 ที่มีปัญหาถูกชาวบ้านร้องเรียนซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวได้สรุปผลการตรวจสอบว่ามีโฉนดที่ดินจำนวนหลายฉบับที่อยู่ในกลุ่มที่ทางบริษัทเกษตรปิยมิตรขอรังวัดสอบเขต ออกโดยผิดพลาดคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยเหตุผลในแต่ละแปลงแตกต่างกัน โดยบางฉบับออกโดยได้เนื้อที่เพิ่มมากขึ้นกว่าหลักฐานเดิม ประกอบกับค้างเคียงเปลี่ยนแปลงไม่สอดคล้องสัมพันธ์ กันมีการรังวัดรวมเอาที่ดินตามหลักฐานของผู้อื่นรวมเข้าไปด้วยและไม่ตรงตามตำแหน่งของหลักฐานเดิม อีกทั้งบางฉบับยังได้ออกทับที่สาธารณะประโยชน์ห้วยบ่อ ห้วยหลงและห้วยจ่องล่องและหนองน้ำสาธารณะประโยชน์ซึ่งมีสภาพเป็นหนองน้ำที่ราษฎรใช้ประโยชน์ร่วมกันมาช้านาน อันเป็นที่ดินต้องห้ามไม่ให้ออกเอกสารสิทธิ์ คณะกรรมการจึงเห็นควรให้เพิกถอนหรือแก้ไขตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินเพื่อให้หลักฐานที่นำมาใช้ในการออกโฉนดกลับคืนสู่สภาพเดิม โดยขณะนี้เรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณาของกรมที่ดิน
นายลิขิต คาระวงค์ อายุ 72 ปี เป็นปราชญ์ชาวบ้าน ให้รายละเอียดว่า บริเวณเกาะกลางน้ำแห่งนี้ เป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์ที่มากด้วยป่าบุ่งป่าทาม ชาวบ้านจากหลายหมู่บ้านจึงมาหาของป่ากินเป็นประจำ ภายหลังมีนายทุนอ้างกรรมสิทธิ์ใช้เครื่องมือหนักเบิกที่ ทำลายป่าจนเหี้ยนเตียนเพื่อปลูกยางพารา เดิมตรงทางเข้าเกาะกลางน้ำชาวบ้านร่วมกันสร้างสะพานไม้ไผ่เชื่อมหากัน เมื่อถึงฤดูน้ำหลากจะเป็นจุดดักปลา ชาวบ้านจึงเรียกสะพานนี้ว่าหลี่ผี ถึงหน้าแล้งก็ใช้เป็นสะพานเดินข้ามไปหาของป่า เมื่อถูกนายทุนรุกที่สาธารณะแห่งนี้แล้ว ก็พังสะพานไม้ไผ่ทิ้ง นำดินมาถมปิดทางเดินน้ำ ทำให้ต้นไม้ที่อยู่ตรงร่องน้ำจมน้ำยืนต้นตาย ประจานความเห็นแก่ได้ของบางคน
ข่าวน่าสนใจ:
ต่อมานายพันธ์ ชมภูพระ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 9 และนายเตียง ชมภูพระ สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าจำปา(ส.อบต.ฯ) หมู่ 9 ในฐานะผู้นำหมู่บ้าน ได้ปักหลักเขตเพื่อแสดงแนวเขตที่ดินสาธารณะพร้อมลงชื่อคัดค้านโฉนดที่ดินหมายเลข 19237 เพราะบุกรุกที่ดินสาธารณะเต็มทั้งแปลง
ขณะที่นายมานิต มีใหญ่ หัวหน้าฝ่ายรังวัด เผยว่าหลังจากที่ได้แผนที่พิพาททุกแปลงแล้วตน ก็จะส่งเรื่องเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับ เพื่อดำเนินการสอบสวนไกล่เกลี่ยตามประมวลกฎหมายที่ดิน พร้อมกับกล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทเกษตรปิยมิตร ได้ยื่นของตรวจสอบแนวเขต รวมทั้งสิ้น 16 แปลง มี 3 แปลง ไม่ติดกับที่ดินสาธารณะ จึงเหลือ 13 แปลง ชาวบ้านคัดค้านทั้งแปลงมี 5 แปลง ส่วนที่เหลือ 8 แปลง คัดค้านเป็นบางส่วน สำหรับแปลงสุดท้ายที่มีการปักหมุดโฉนดโดยพละการ เพราะไม่ได้ดำเนินการต่อหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ดิน ตนจึงไม่รับรองหลักหมุดดังกล่าว
นายธนายง ส่งศรีโรจน์ ปลัดอำเภอท่าอุเทน หัวหน้าฝ่ายความมั่นคง ผู้รับมอบหมายจาก ว่าที่ร้อยตรี ภูมิศักดิ์ ขำปู่ นายอำเภอท่าอุเทน เปิดเผยว่าหลังจากลงพื้นที่ร่วมกับชาวบ้านแล้ว จะก็สรุปเรื่องเสนอต่อนายอำเภอให้ทราบ ส่วนการบุกรุกที่ดินสาธารณประโยชน์นั้น ชาวบ้านไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง หากพบหลักฐานแน่ชัดเจ้าหน้าที่ของรัฐคือผู้เสียหายตัวจริง จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ต่อไป
มหากาพย์การบุกรุกที่ดินสาธารณประโยชน์ และที่ทำกินของชาวบ้านห้วยพระ เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2525 เริ่มจากมีนายทุน 3 คน เดินทางมาจาก อ.สะเดา จ.สงขลา เข้ามาขอซื้อที่ดินจากชาวบ้าน เพื่อเตรียมปรับดินปลูกยางพารา ปรากฏว่ามีอดีตผู้นำหมู่บ้านทรยศต่อถิ่นกำเนิดและชาติพันธุ์ เกิดความโลภ เนื่องจากรู้ว่าบริเวณไหนเป็นที่ดินสาธารณะ และตรงไหนที่มีแต่ใบจอง หรือ นส.3
อดีตผู้นำหมู่บ้านชักชวนชาวบ้านขายที่ดิน บางแปลงติดที่สาธารณะหรือใบจองก็ถือโอกาสฮุบควบรวมเข้าไปเพื่อให้ได้เนื้อที่ของโฉนดมากพอกับที่มีความต้องการ เช่นนายทุนซื้ออย่างถูกต้อง จำนวน 10 ไร่ เวลารังวัดเขตอดีตผู้นำเป็นผู้เดินชี้แนวเขต และมีอำนาจเซ็นชื่อรับรองด้วยตนเอง ก็จะดึงที่ดินสาธารณะหรือใบจองเข้าไปรวมด้วย จากเนื้อที่เดิม 10 ไร่ จะกลายเป็น 50-60 ไร่ทันที หลังออกเป็นโฉนดแล้วนายทุนก็จะยื่นฟ้องขับไล่เจ้าของเดิมออกจากพื้นที่ โดยชาวบ้านไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ส่วนใหญ่ถือครองแต่ใบจอง นส.2 หรือไม่ก็ถือครองที่ดินมือเปล่าต่อจากปู่ย่าตายาย ก็ถูกศาลตัดสินให้แพ้คดีต้องออกจากที่ทำกินของตนเอง เนื่องจากไม่มีปัญญาหาพยานหลักฐานมาหักล้างหลักฐานของนายทุนที่เป็นโฉนดได้ ซึ่งเรื่องดังกล่าวขยายเป็นวงกว้างไปทั้งหมู่บ้าน อีกทั้งมีการปลอมลายมือชื่อเจ้าของที่ดินข้างเคียง ซึ่งมีการแจ้งความดำเนินไว้ที่ สภ.ท่าอุเทน แต่เรื่องกลับเงียบหายถึงทุกวันนี้ ยส่วน 3 นายทุนผู้เข้ามาบุกเบิกปลูกยางพารา ปัจจุบันเสียชีวิตไปแล้ว 1 คน ป่วยกระเซาะกระแซะเป็นอัมพฤกษ์ 1 คน และอีกหนึ่งคนลูกหลานนำไปทิ้งไว้ที่บ้านพักคนชรา
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: