นครพนม – จากเหตุการณ์เครื่องบินฝึกบินแบบ2 เครื่องยนต์ 4 ที่นั่งรุ่น DIAMOND 42 HS-IAN มีชื่อว่า ศรีโคตรบูรณ์ ของวิทยาลัยการบินนานาชาติมหาวิทยาลัยนครพนมประสบอุบัติเหตุ ตกบริเวณบ้านหน้าฐานบิน ตำบลโพธิ์ตาก อ.เมือง จ.นครพนม เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2559 เวลาประมาณ 05.05 น.ขณะปฏิบัติภารกิจพิเศษทำการบินไปส่งนายยิ่งยศ อุดรพิมพ์ ประธานกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรแห่งชาติ และอดีตนายก อบจ.มหาสารคาม ซึ่งจะเดินทางจากจังหวัดนครพนมไปประชุมที่กรุงเทพมหานครแต่หลังจากเครื่องบินขึ้นไม่นานก็ได้รับแจ้งจากนักบินขอนำเครื่องลงฉุกเฉินเนื่องจากเครื่องยนต์ขัดข้อง แต่เครื่องบินลำดังกล่าวได้ประสบอุบัติเหตุตกก่อนร่อนลงฉุกเฉินห่างสนามบินเพียงหนึ่งกิโลเมตรเป็นเหตุให้ผู้โดยสารในเครื่องบินลำดังกล่าวทั้งสามคนเสียชีวิตทั้งหมด โดยนอกจากนายยิ่งยศ อุดรพิมพ์ แล้วยังมี พ.ต.ท.สมบูรณ์ คำนึงรัตนวงศา นักบินที่ 1 และว่าที่ร้อยตรี ชิณวุฒิ นวลกลับ นักบินที่ 2 ต่างเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ
ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าวทางมหาวิทยาลัยนครพนม ได้มีหนังสือแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงขึ้นมาโดยมี พล.อ.อ. ปัญญา ศรีสุวรรณ เป็นประธาน ซึ่งได้ แบ่งประเด็นการสอบสวนออกเป็น 3 ประเด็นคือ 1.สอบสวนส่วนที่เกี่ยวข้องกับเทคนิคต่าง ๆ 2.สอบสวนถึงขบวนการอนุมัติการขึ้นบิน และ 3. ความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อชีวิตและทรัพย์สิน โดยลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการดังกล่าวเมื่อวันที่ 25 กรกฏาคม 2559
โดยคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงชุดดังกล่าวได้มีมติสรุปและความเห็นเพิ่มเติม ให้มหาวิทยาลัยนครพนม แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อสอบสวนทางวินัยร้ายแรงกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการอนุมัติให้เครื่องบินขึ้นบิน ซึ่งผู้ที่อยู่ในข่ายที่คณะกรรมการชี้ให้ตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยมีทั้งสิ้นรวม 4 รายคือ1.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ถนอม ทาทอง รองอธิการบดีฯ(ในขณะนั้น) 2. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พัฒนพงษ์ วันจันทึก รองอธิการบดีฯ(ในขณะนั้น) 3.นายศรุช โภคากุลวัฒน์ ตำแหน่งหัวหน้าการพานิชย์ 4.รองศาสตราจารย์ พลอากาศโท จิรศักดิ์ ชนะสิทธิ์ คณบดี วิทยาลัยการบินนานาชาติ ม.นครพนม (ในขณะนั้น)
โดยคณะกรรมการได้ชี้มูลและมีความเห็นเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2560 ว่า ทั้งสี่คนมีพฤติกรรมเข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 39 วรรค 4 แห่งพระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2547 ในกรณีไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผนของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรี หรือนโยบายของทางราชการ จึงเห็นควรให้มหาวิทยาลัยนครพนมดำเนินการแต่งตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยต่อไป
ข่าวน่าสนใจ:
- ระทึก ไฟไหม้โรงงานผลิตกล่องโฟมใส่อาหารหวิดวอดหมดหลัง
- ผู้ใหญ่บ้านร่วมกับชุมชน จัดทำบุญส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่
- นครพนม: เลขาธิการ ป.ป.ส. และ มทภ.2/ผบ.นบ.ยส.24 ประชุมสรุปผลรอบ 3 เดือน โชว์ผลงานยึดยาบ้ากว่า 45 ล้านเม็ด มูลค่ากว่า 3 พันล้านบาท
- ชายวัย 50 ปี เปลี่ยนถังแก๊สเอง จุดเตาทำกับข้าวไฟพรึ่บคลอกเจ็บหนัก
หลังจากมีมติของคณะกรรมการให้สอบสวนทางวินัยต่อบุคคลทั้งสี่แล้ว ตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม 2560 ปรากฏว่าปัจจุบันนี้ผ่านมากว่าสองปี เรื่องดังกล่าวยังไม่ได้มีการหยิบยกขึ้นมาพิจารณาในสภามหาวิทยาลัยนครพนมแต่อย่างใด โดยวาระการประชุมสภามหาวิทยาลัยนครพนม มักจะอ้างให้มีการสอบสวนเพิ่มเรื่องนั้นเรื่องนี้ตลอดเวลา และหลังจากนั้นไม่นาน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พัฒนพงษ์ วันจันทึก รองอธิการบดี ในขณะนั้น ก็ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการสรรหาเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนมและผ่านการสรรหาได้รับการเสนอชื่อให้เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนมในเวลาต่อมา แต่ไม่ทราบเพราะเหตุผลใด จนถึงปัจจุบัน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พัฒนพงษ์ วันจันทึก ก็ยังไม่ได้รับการโปรดเกล้าให้เข้าดำรงตำแหน่งแต่อย่างใด คงเป็นแต่เพียงรักษาการในตำแหน่งอธิการบดี มหาวิทยาลัยนครพนม เท่านั้น
นอกจากนี้คณะกรรมการชุดดังกล่าวยังมีความเห็นเพิ่มเติมระบุถึงพฤติการณ์และความผิดของแต่ละบุคคลว่าเข้าข่ายความผิดฐานใดและตามระเบียบข้อใดแยกเป็นราย ๆ ดังนี้
1.กรณีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ถนอม ทาทอง รองอธิการบดี เป็นผู้ประสานงานขอใช้อากาศยานต่อนายศรุช โภคากุลวัฒน์ ซึ่งได้รับการประสานจากนายพัฒนพงษ์ วันจันทึก ประสานเพื่อขอใช้อากาศยาน HS-IAN ในการเดินทางไปส่งนายยิ่งยศ อุดรพิมพ์ ประธานกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรแห่งชาติ ที่กรุงเทพฯ ซึ่งทราบอยู่แล้วว่านายยิ่งยศฯ และเป็นญาติของนายพัฒนพงษ์ฯ โดยเป็นบุคคลภายนอกมิได้ขอไปราชการที่กรุงเทพในนามมหาวิทยาลัยนครพนม การจะขอใช้อากาศยานนั้นจะต้องดำเนินการตามระเบียบของทางราชการ ซึ่งจะต้องขอผ่านผู้บังคับบัญชาตามขั้นตอน รองอธิการบดีไม่มีอำนาจหรือได้รับมอบหมายการบังคับบัญชาโดยตรงในส่วนของวิทยาลัยการบิน การประสานโดยตรงในตำแหน่งรองอธิการบดีอาจเป็นมูลเหตุจูงใจสำคัญที่เป็นเหตุให้มีการอนุมัติการบินในกรณีนี้ได้ ประกอบกับการดำเนินการกรณีนี้มิได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาแต่อย่างใด ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นการดำเนินการโดยพละการ ไม่เป็นไปตามแบบแผนแนวของทางราชการ
จากข้อสรุปดังกล่าวข้างต้นเข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 39 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 ในกรณีไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผนของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรี หรือนโยบายของทางราชการ จึงเห็นควรให้มหาวิทยาลัยนครพนม ดำเนินการแต่งตั้งกรรมการสอบทางวินัยต่อไป
2.กรณีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พัฒนพงษ์ วันจันทึก เป็นผู้ที่ประสานงานมายังผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ถนอม ทาทอง รองอธิการบดี เพื่อขอใช้อากาศยานลำดังกล่าว เพื่อไปส่งนายยิ่งยศฯ ซึ่งเป็นญาติของตนเองโดยนายยิ่งยศฯ เป็นบุคคลภายนอกมิได้ขอไปราชการที่กรุงเทพในนามมหาวิทยาลัยนครพนม โดยตนรู้อยู่แล้วว่ามาปฏิบัติภารกิจที่จังหวัดนครพนม ซึ่งมิใช่มาราชการในนามมหาวิทยาลัยนครพนม และสามารถที่จะเดินทางไปยังกรุงเทพด้วยสายการบินพาณิชย์ได้อยู่แล้ว หากมีการวางแผนการเดินทางไว้แต่ต้น ส่วนการที่อ้างว่าเพื่อไปประชุมกับคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทย ในวันที่ 2 มิถุนายน 2559 ซึ่งภารกิจดังกล่าวไม่ใช่การไปราชการในนามของมหาวิทยาลัยนครพนม การประสานงานของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พัฒนพงษ์ฯ เพื่อขอใช้อากาศยานดังกล่าว ในนามตำแหน่งรองอธิการบดีอาจเป็นมูลเหตุจูงใจสำคัญที่เป็นเหตุให้มีการอนุมัติการบินในกรณีนี้ได้ ซึ่งมิสมควรดำเนินการเช่นนี้เป็นการดำเนินการโดยพละการ ไม่เป็นไปตามแบบแผนแนวของทางราชการ
จากข้อสรุปดังกล่าวข้างต้น เข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 39 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 ในกรณีไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผนของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรี หรือนโยบายของทางราชการ จึงเห็นควรให้มหาวิทยาลัยนครพนม ดำเนินการแต่งตั้งกรรมการสอบทางวินัยต่อไป
3.กรณีนายศรุช โภคากุลวัฒน์ หัวหน้าการพาณิชย์ ซึ่งได้รับการประสานงานจากผู้ชวยศาสตราจารย์ ดร.ถนอม ทาทอง รองอธิการบดี ขอใช้เครื่องบินไปส่งนายยิ่งยศ อุดรพิมพ์ ประธานกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรแห่งชาติ ที่กรุงเทพฯ นายศรุช โภคากุลวัฒน์ ได้ดำเนินการทำหนังสือขออนุมัติใช้อากาศยานโดยระบุชื่อนักบินผู้ควบคุมอากาศยาน โดยไม่ผ่านงานสารบรรณและงานธุรการ จึงเป็นการดำเนินการที่ตนเองไม่มีอำนาจหน้าที่โดยตรง ในเรื่องดังกล่าว นายศรุช โภคากุลวัฒน์ อ้างว่าการดำเนินการนั้นเป็นการดำเนินการตามคำร้องขอของผู้บังคับบัญชา และเป็นการเร่งด่วนจึงไม่ดำเนินการตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ
จากข้อสรุปดังกล่าวข้างต้นเข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 39 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 ในกรณีไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผนของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรี หรือนโยบายของทางราชการ จึงเห็นควรให้มหาวิทยาลัยนครพนม ดำเนินการแต่งตั้งกรรมการสอบทางวินัยต่อไป
4.กรณีรองศาสตราจารย์ พลอากาศโท จิรศักดิ์ ชนะสิทธิ์ คณบดี เป็นผู้อนุมัติ โดยให้จัดทำแผนการฝึกบินให้ถูกต้องตามระเบียบ ข้อบังคับ ตามหนังสือที่ ศธ.0589 11(1)/1833 ลงวันที่ 1 มิถุนายน 2559 เรื่องขออนุมัติใช้อากาศยาน โดยในบันทึกดังกล่าวระบุนักบินผู้ควบคุมอากาศยานคือ พันตำรวจโทสมบูรณ์ คำนึงรัตนวงศา นักบินที่ 1 และว่าที่ร้อยตรี ชิณวุฒิ นวลกลับ นักบินที่ 2 จากนั้นรองศาสตราจารย์ พลอากาศโท จิรศักดิ์ ชนะสิทธิ์ คณบดี ได้มีหนังสือ ศธ.0589 11/563 ลงวันที่ 1 มิถุนายน 2559 เรื่องขออนุญาตทำการบินนอกเวลา ถึงผู้อำนวยการท่าอากาศยานนครพนม ซึ่งทำการบินในวันที่ 2 มิถุยายน 2559 เวลาวิ่งขึ้น 04.00 น. ด้วยอากาศยาน HS-IAN โดยมีพันตำรวจโทสมบูรณ์ คำนึงรัตนวงศา นักบินที่ 1 และว่าที่ร้อยตรี ชิณวุฒิ นวลกลับ นักบินที่ 2 การอนุมัติการบินในกรณีนี้เป็นการอนุมัติการบินที่นอกเหนือจากภารกิจการบินปกติ (ฝึกศิษย์การบิน) ซึ่งจะต้องขออนุญาตอนุมัติต่อคณะกรรมการอำนวยการหรืออธิการบดีตามข้อ 15(7) แห่งระเบียบมหาวิทยาลัยนครพนม ว่าด้วยวิทยาลัยการบินนานาชาติ พ.ศ.2550 และการเสนอเรื่องต่อผู้บังคับบัญชาที่จะอนุมัติ ต้องผ่านการกลั่นกรองของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเสียก่อน เนื่องจากการขออนุมัติดังกล่าวเป็นคำสั่งทางปกครอง จึงจะต้องกำหนดให้มีเหตุผลประกอบการใช้ดุลยพินิจอย่างน้อย ข้อเท็จจริงในสาระสำคัญ ข้อ กฎหมายที่อ้างถึงและข้อพิจารณา ข้อสนับสนุนในการใช้ดุลยพินิจ ซึ่งจะต้องผ่านขั้นตอนที่กำหนดไว้ในระบบงานสารบรรณ
จากข้อสรุปดังกล่าวข้างต้นเข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 39 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 ในกรณีไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผนของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรี หรือนโยบายของทางราชการ จึงเห็นควรให้มหาวิทยาลัยนครพนม ดำเนินการแต่งตั้งกรรมการสอบทางวินัยต่อไป
สำหรับเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 05.45 น. วันที่ 2 มิ.ย.59 ร.ต.อ.ชัยยุทธ รอดเวียง พนักงานสอบสวน สภ.เมืองนครพนม รับแจ้งเหตุจากศูนย์วิทยุนครชัย สภ.เมืองนครพนม ว่า มีอุบัติเหตุเครื่องบินเล็กฝึกบินตกในพื้นที่หมู่ 6 ต.โพธิ์ตาก อ.เมือง จ.นครพนม
เกิดเหตุอยู่ภายในพื้นที่ฐานทัพอากาศ ห่างจากรันเวย์ท่าอากาศยานนครพนม 2 กิโลเมตร เยื้องปั๊มน้ำมัน ปตท.บ้านหน้าฐานบิน พบเครื่องบินฝึกเล็กของวิทยาลัยการบินนานาชาติ มหาวิทยาลัยนครพนม หมายเลขข้างเครื่องตัวระบุ รุ่น DA 42 TDI ลำตัวเครื่องระบุ HS-1 AE ตกกระแทกพื้นหญ้ากลางทุ่งนา ระบุชื่อเครื่องบิน “ศรีโคตรบูรณ์” ภายในตัวเครื่องพบศพ พ.ต.ท.สมบูรณ์ คำนึงรัตนวงศา อายุ 62 ปี หัวหน้าครูฝึกการบิน นั่งบนเบาะคนขับที่นั่งขวา ที่นั่งซ้ายพบ ว่าที่ ร.ต.ชิณวุฒิ นวลกลับ อายุ 26 ปี นักบินขับซ้าย
ส่วนที่นั่งเบาะหลังซึ่งเป็นที่นั่งผู้โดยสาร พบศพ นายยิ่งยศ อุดรพิมพ์ อายุ 54 ปี อดีตนายก อบจ.มหาสารคาม และประธานกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูเกษตรกรแห่งชาติ ทั้ง 3 รายเสียชีวิตคาซากเครื่องบิน
หลังเกิดเหตุมีการสอบสวนหาข้อเท็จจริง รศ.ประวิต เอราวรรณ์ รักษาการอธิการบดี (ในขณะนั้น) ได้ตั้งกรรมการสอบสวนขึ้นมาหนึ่งชุด กรณีที่มีพลเรือนโดยสารไปในเที่ยวบินลำนี้ ว่าผู้โดยสารที่เสียชีวิตในเบาะหลังขออนุญาตในภารกิจอะไร ซึ่งจะต้องขอตรวจเอกสารให้ละเอียดอีกครั้ง เนื่องจากมีข้อผูกพันตามกฎหมาย
ภายหลังทราบว่า ก่อนเกิดเหตุ วันที่ 1 มิ.ย.59 นายยิ่งยศ อุดรพิมพ์ อดีตนายก อบจ.มหาสารคาม มาร่วมแสดงความยินดีต่อ ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ วันจันทึก ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นรองอธิการบดี ม.นครพนม และในวันรุ่งขึ้นจะต้องไปร่วมประชุมที่กรุงเทพฯ หากต้องเดินทางโดยสายการบินพาณิชย์ เกรงว่าจะเข้าประชุมล่าช้า จึงมีการสั่งให้นำเครื่องฝึกบินขับไปส่งที่สนามบินดอนเมือง แต่เครื่องบินขึ้นได้ไม่กี่วินาทีก็โหม่งพื้น เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตดังกล่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: