X

อหิวาต์แอฟริกาในสุกร ระบาดในเพื่อนบ้าน นครพนมตรวจเข้มทุกด่านชายแดน หวั่นนำเข้าเนื้อหมู

นครพนม – วันที่ 24 มิ.ย.62 ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดนครพนมว่า ริมฝั่งแม่น้ำโขง บริเวณบริเวณท่าเรือใกล้กับด่านตรวจคนเข้าเมืองอำเภอท่าอุเทน ซึ่งทุกวันจันทร์และวันพฤหัส จะเปิดเป็นตลาดนัดไทย-ลาว ค้า จะมีพ่อแม่ค้าทั้งชาวไทยและลาว นำสินค้ามาจำหน่าย ทั้งอาหารพื้นบ้าน ของป่า สมุนไพร ฯลฯ มีเงินสะพัดจำนวนมาก

แต่หลังจากองค์การสุขภาพสัตว์(OIE) ได้รายงานการพบโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรทั่วโลก 17 ประเทศ ประกอบด้วย ทวีปแอฟริกา 4 ประเทศ ทวีปยุโรป 10 ประเทศ และ ทวีปเอเชีย 3 ประเทศ ซึ่งพบการระบาดครั้งแรกในประเทศจีน เมื่อวันที่ 3 ส.ค.61โดยมีการระบาดเป็นวงกว้างเกือบทั่วประเทศ ต่อมามีการพบการระบาดในประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้น ได้แก่ ประเทศมองโกเลีย และเวียดนาม โดยวันที่ 20 ก.พ.62 พบการระบาดของโรคที่จังหวัดทางตอนเหนือของเวียดนาม

ล่าสุดองค์การสุขภาพโลก(OIE) ได้รายงานเพิ่มเติมว่า มีการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร(African Swine Fever) ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งของแขวงสาละวัน ประเทศลาว ซึ่งโรคระบาดสัตว์ดังกล่าว สามารถแพร่กระจายไปอย่างกว้างขวางได้ โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการเคลื่อนย้ายสัตว์ป่วยหรือสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรค หรือซากของสัตว์ซึ่งป่วยหรือตาย โดยโรคระบาดดังกล่าวไปยังท้องที่ต่างๆ และเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้โรคระบาดสัตว์ชนิดดังกล่าวมีโอกาสแพร่กระจายเข้ามาในประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรหรือหมูป่าในประเทศ

นายสัตว์แพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงออกแถลงการณ์ ประกาศ ณ วันที่ 21 มิ.ย.62 เรื่องชะลอการนำเข้าหรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่ง สุกร หมูป่า หรือซากสุกร หรือซากหมูป่า ที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศลาว เป็นเวลา 90 วัน

ดังนั้น นายณรงค์ รัตนตรัยวงศ์ หัวหน้าด่านกักกันสัตว์นครพนม พร้อมเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ บูรณาการกับหลายหน่วยงาน ทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ ตชด.ตรวจคนเข้าเมือง(ตม.) ศุลกากร ตรวจเข้มสัมภาระและสินค้า ที่แม่ค้า-พ่อค้า และชาวลาว นำมาขายหรือติดตัวเข้ามาที่ตลาดนัดจุดผ่อนปรนไทย-ลาว เขตเทศบาลตำบลท่าอุเทน โดยเน้นการตรวจหาเนื้อหมู และอาหารที่มีส่วนผสมของเนื้อหมู เช่น ไส้กรอก แหนม เป็นต้น

ซึ่งจากการตรวจเจ้าหน้าที่ยังไม่พบเนื้อหมู หรืออาหารที่ผลิตจากส่วนผสมของหมู ส่วนมากจะเป็นเห็ด หน่อไม้ หอยฯลฯ จากเดิมก่อนหน้านี้ชาวลาว จะนำเนื้อหมูป่ามาวางขายประจำ แต่หลังเกิดการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู สินค้าเหล่านั้นก็ถูกทางการลาวเข้มงวดเช่นกัน พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ชาวไทยและลาวให้ร่วมกันป้องกันโรคอหิวาห์แอฟริกาในสุกร ที่กำลังระบาดใน สปป.ลาว ในขณะนี้อีกด้วย

นายณรงค์ฯหน.ด่านกักกันนครพนม เปิดเผยว่าตามประกาศของกรมปศุสัตว์ จึงร่วมกับหลายหน่วยงาน ตรวจเข้มการนำเข้าซากสัตว์โดยเฉพาะสุกรเข้ามาในราชอาญาจักร พร้อมประชาสัมพันธ์กระตุ้นเตือนให้ประชาชนทั้งไทยและลาว ที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทย ได้รู้ว่าการระบาดของโรคอหิวาห์แอฟริกาในสุกร เป็นปัญหาทางด้านเศรษฐกิจของโลก ซึ่งกรมปศุสัตว์ของไทยมีความพยายามป้องกันไม่ให้โรคนี้ระบาดเข้ามาในประเทศเป็นอันขาด แม้ว่าโรคนี้จะระบาดเฉพาะในสุกร ไม่ได้มีปัญหาในเรื่องของการสาธารณสุขของคน แต่กระทบกับเศรษฐกิจ แหล่งอาหาร และการค้าขายของชายแดน ทุกคนจึงต้องร่วมมือกัน โดยเฉพาะเกษตรกรที่เลี้ยงสุกร หากพบสุกรป่วยและตายโดยไม่ทราบสาเหตุให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ทันที

และจากคำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่ประจำด่าน บริเวณสาพนมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3(นครพนม-คำม่วน) เผยว่า การตรวจค้นสิ่งของสัมภาระของผู้เดินทางข้ามแดนมาฝั่งประเทศไทย อาหารที่พบบ่อยจะเป็นพืชผักสวนครัว จำพวกซากสัตว์เมื่อก่อนตรวจยึดเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อพี่น้องชาวลาวทราบว่าทางไทยเข้มงวด ก็ไม่นำซากสัตว์หรืออาหารที่ผลิตจากสัตว์ เช่น ไก่สด หนังเค็ม ไส้กรอก แหนบ เข้ามาในประเทศไทยอีกเลย แต่กลับพบว่าคนไทยที่เดินทางข้ามไปฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน มักจะนำสิ่งของต้องห้ามเหล่านั้นเข้ามาเอง

ซึ่งก่อนหน้าจะมีประกาศจากกรมปศุสัตว์  นายสยาม ศิริมงคล ผวจ.นครพนม เกรงว่าการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรทางตอนเหนือประเทศเวียดนาม และมีโอกาสสูงที่แพร่ระบาดโรคดังกล่าวจะเข้ามายังประเทศไทยผ่านประเทศเพื่อนบ้านตามแนวชายแดน จึงลงนามในประกาศจังหวัดนครพนม วันที่ 25 มี.ค.62 ให้ท้องที่ทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล ทุกอำเภอในจังหวัดนครพนม เป็นเขตเฝ้าระวังโรคระบาดชนิดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ในสัตว์หรือซากสัตว์ชนิดสุกร หมูป่า และห้ามมิให้ผู้ใดเคลื่อนย้าย หรือซากสัตว์ เข้า ออก ผ่าน หรือภายในเขตเฝ้าระวังโรคระบาด เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากสัตวแพทย์ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบประจำเขตนั้นทุกครั้งที่มีการเคลื่อนย้าย ตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน