นครพนม – กรณีทางไบค์เลนเลียบริมแม่น้ำโขง ถนนสุนทรวิจิตร เขตเทศบาลเมืองนครพนม พังถล่มเสียหายเป็นระยะทางกว่า 70 เมตร คืบหน้าล่าสุด ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 5 กรกฎาคม 62 นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม พลตรี ปราโมทย์ นาคจันทึก ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 210(มทบ.210) และ พลตำรวจตรี ธนชาติ รอดคลองตัน ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครพนม(ผบ.บก.ภ.จว.ฯ) ให้การต้อนรับ พลโท ธัญญา เกียรติสาร แม่ทัพภาคที่ 2 เดินทางมาประชุมเกี่ยวกับความมั่นคงที่ศาลากลางจังหวัดนครพนม พร้อมมีความห่วงใยเส้นทางไบค์เลนที่เป็นข่าวอยู่ในขณะนี้ โดยแม่ทัพภาค 2 เห็นว่าจังหวัดนครพนมกำลังโดดเด่นเป็นที่กล่าวขวัญด้านการท่องเที่ยว เมื่อเกิดเรื่องดังกล่าวจึงห่วงภาพลักษณ์การท่องเที่ยว จะได้รับผลกระทบ
ผวจ.นครพนม จึงเชิญแม่ทัพภาค 2 ลงตรวจพื้นที่จุดไบค์เลนถล่มเสียหาย โดยมีนายวิชิต อรุณมานะกุล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนและพัฒนาตามผังเมือง กรมโยธาธิการและผังเมือง กรุงเทพมหานคร เป็นผู้ชี้แจงว่า โครงการเส้นทางจักรยาน ส่งเสริมการท่องเที่ยว มีการขับเคลื่อนพัฒนามาตั้งแต่ปี 2557 มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาเส้นทาง ปรับปรุงภูมิทัศน์เลียบน้ำโขง เริ่มตั้งแต่ด้านทิศเหนือของจังหวัดคือสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 (นครพนม-คำม่วน) ต.อาจสามารถ เลียบล่องลงทิศใต้เลาะริมแม่น้ำโขงผ่านตัวเมืองยาวไปจนถึง อ.ธาตุพนม รวมระยะทางยาวกว่า 74 กิโลเมตร หวังดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศ โดยได้รับเงินสนับสนุนงบประมาณจากกลุ่มจังหวัด ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องคาดแล้วเสร็จในปี 2563
นายวิชิตเผยต่อว่าทางไบค์เลนมีการสำรวจฐานรากตามขั้นตอน และได้คำนวนย้อนหลังไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ถึงปริมาณน้ำขึ้นน้ำลง พบว่าปี 2560 ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงสูงสุดอยู่ที่ 10 เมตรเศษ ในปีเดียวกันจึงลงมือเขียนแบบแปลน แต่ปี 2561 เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ ซึ่งมีองค์ปัจจัยที่ทำให้น้ำท่วมมาจากหลายด้าน เช่นประเทศเพื่อนบ้านพร่องน้ำจากเขื่อน บวกกับมีฝนตกทางเหนือเพิ่ม จึงทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงขึ้นสูงถึง 12.66 เมตร พร้อมพาดินตะกอนมาทับถมริมตลิ่ง เมื่อน้ำลดดินตะกอนก็ยังคงอยู่ กระทั่งช่วงต้นเดือนกรกฎาคม มีพายุดีเปรสชั่นเข้านครพนม ฝนตกหนักติดต่อกันหลายชั่วโมง ดินตะกอนจึงเกิดการเลื่อนไหลกระแทกเสาตอม่อ เป็นเหตุให้โครงสร้างไบค์เลนถล่มดังกล่าว
ซึ่งนายวิชิตเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวหลังจากแม่ทัพภาคที่ 2 เดินทางกลับไปแล้วว่า การชี้แจงอาจมีหลายคนกล่าวหาว่าเป็นการแก้ตัว แต่การคำนวณเขียนแบบแปลนยึดเอาปริมาณน้ำที่ท่วมสูงสุดในปีนั้นๆมาคำนวณ โดยไม่คาดคิดว่าปีถัดมาจะมีปริมาณน้ำท่วมสูงถึง 12.66 เมตร เมื่อเกิดปัญหาโครงสร้างพังถล่ม กรมโยธาธิการและผังเมือง ก็ต้องตรวจสอบหาทางแก้ไขต่อไป
ข่าวน่าสนใจ:
- วิกฤตพะยูนตรัง 7 วันสำรวจ พบแค่ตัวเดียว ทดลองวางแปลงอาหาร กลับถูกเมินไม่ยอมกิน
- ตรัง คู่ซี้ พระ-ฆราวาส เมาแอ๋ด่าทอชาวบ้านใกล้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อาละวาดอ้างมีปืน ทำชาวบ้านแตกตื่น ตร.หิ้วปีกบังคับสึก กร่างไม่เลิกบอกรู้จักพระผู้ใหญ่
- บุกพิสูจน์ หลังชาวบ้าน พบเสือ หนุ่ม 27 ถ่ายคลิปเสือขณะกรีดยาง
- ขาดสภาพคล่องขั้นรุนแรง! อธิบดีกรมท่าฯ ร่อนนส.ด่วน! แจ้งบอกเลิกสัญญาทิ้งงานก่อสร้างอาคารผู้โดยสารสนามบินตรัง 1.2 พันล.แล้ว…
ด้าน พลโท ธัญญา เกียรติสาร แม่ทัพภาคที่ 2 หลังฟังคำชี้แจงจากนายวิชิตฯ ผอ.สำนักสนับสนุนฯ ก็กำชับให้คืนความมั่นใจแก่ประชาชนให้เร็วที่สุด โครงสร้างต้องมั่นคงแข็งแรงและปลอดภัย นายวิชิตยืนยันจะดำเนินการทุกอย่างคืนสู่ปกติโดยเร็วที่สุด
เบื้องต้นพบว่ามีปัญหาตั้งแต่การสำรวจออกแบบที่คำนวณผิดพลาด เนื่องจากมีการก่อสร้างนอกเขื่อนป้องกันตลิ่งพัง จะต้องออกแบบโครงสร้างให้แข็งแรงมากกว่านี้ ซึ่งหลังเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ปี 61 ดินตะกอนเกาะตามขอบตลิ่ง เมื่อมีฝนตกทำให้ดินเลื่อนไหลกระแทกตอม่อ เพราะไม่มีเขื่อนกั้นเป็นกำแพง ต่างจากไบค์เลนจุดอื่นที่มีเขื่อนกั้นเป็นทำนบ ซึ่งตรวจพบจุดเสี่ยงมีทั้งหมด 4 จุด ล้วนเป็นโครงการที่สร้างนอกเขื่อน ที่มีความเสี่ยงพังเสียหาย ประกอบด้วยจุดแรก ที่พังถล่มเสียหายไปแล้วคือชุมชนหนองบึกท่าต่อกับชุมชนหนองแสง เขตเทศบาลเมืองนครพนม ระยะทางประมาณ 500 เมตร จุดที่สองอยู่บริเวณด่านท่าเทียบเรือเทศบาลเมืองนครพนม ระยะทางประมาณ 660 เมตร จุดที่ 3 เส้นทางเชื่อมมาจาก สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 (นครพนม-คำม่วน) ต.อาจสามารถ ระยะทางประมาณ 100 เมตร และจุดที่ 4 อยู่ในพื้นที่ ต.ขามเฒ่า อ.เมือง ระยะทางประมาณ 100 เมตร
สำหรับแนวทางแก้ไขที่วิศวกรกรมโยธาธิการชี้แนะ คือส่วนแรกจะต้องหาทางป้องกันปักเสาเข็มป้องกันดินสไลด์ โดยจุดไบค์เลนถล่มผู้รับจ้างไม่ได้ปฏิเสธความรับผิดชอบ ระดมหาไม้ยูคาลิปตัส กว่าหมื่นต้นมาสร้างเป็นกำแพงกันดินตะกอนเลื่อนไหลหากมีฝนตกลงมาอีก ส่วนบริเวณไบค์เลนหอนาฬิกาเวียดนามอนุสรณ์ ที่มีเสาเข็มขาดลอยอย่างน้อย 2 ต้น ผู้รับเหมานำกระสอบทรายมาเป็นฐานรองรับนำหนักชั่วคราว จากนั้นจะนำเสาเข็มไมโครไพล์เข้าไปทดแทนเสาเดิมที่ชำรุด เบื้องต้นกายภาพโครงสร้างไม่มีการยุบตัว
ไบค์เลนหรือเส้นทางจักรยาน เลียบริมฝั่งแม่น้ำโขง และเป็นจุดชมวิวสองฝั่งริมน้ำโขง เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว อีกทั้งยังเป็นอันซีน (unseen) ที่ประชาชน นักท่องเที่ยวกำลังให้ความสนใจ ต่างเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวพักผ่อน ขณะเดียวกันทางจังหวัดก็จะมีกิจกรรมปั่นจักรยาน ชมธรรมชาติสองฝั่งแม่น้ำโขง ไทย-ลาว อยู่เนืองๆ หลังมีการถล่มและปิดชั่วคราวเพื่อตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของโครงสร้าง นักท่องเที่ยวที่เคยมาสัมผัสต่างบ่นว่าเสียดาย เพราะเป็นไบค์เลนที่สวยงามมากแห่งหนึ่งในประเทศไทย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: