X

ภัยแล้งลาม!! นาขาดน้ำ สัตว์เลี้ยงขาดหญ้า น้ำโขงลดต่อเนื่อง

นครพนม – ภัยแล้งลาม !! นาขาดน้ำ สัตว์เลี้ยงขาดหญ้า น้ำโขงลดต่อเนื่อง ผลจากพี่ใหญ่จีนกักน้ำ น้องลาวก็วิกฤติ

วันที่ 21 กรกฎาคม 2562 ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์ระดับน้ำในแม่น้ำโขง บริเวณสถานีตรวจวัดน้ำชุมชนหนองแสง เขตเทศบาลเมืองนครพนม วัดได้ 1.48 เมตร ซึ่งมีระดับต่ำกว่าวานนี้ (20 ก.ค.) 17 ซม. และเมื่อเปรียบเทียบกับระดับน้ำโขงเมื่อปีที่แล้ว (2561) น้ำโขงต่ำกว่าปีก่อน 8.33 เมตร ขณะที่สถานีอุตุนิยมวิทยานครพนม กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชม.ข้างหน้า ว่า บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มีเมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนหรือฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดเลย สกลนคร นครพนม หนองคาย และบึงกาฬ โดยสถานีอุตุฯนครพนม รายงานปริมาณฝนในจังหวัด มีเพียงอำเภอบ้านแพงแห่งเดียวที่คาดการณ์ว่าจะมีฝนตกประมาณ 5.0 ม.ม. ส่วนอีก 11 อำเภอที่เหลือตัวเลขเป็นศูนย์คือไม่มีฝนตก

ปัญหาสงครามภัยแล้งที่ลุกลามพื้นที่จังหวัดนครพนม ยังส่งผลให้พื้นที่การเกษตรในอำเภอศรีสงคราม รวม 9 ตำบล จำนวน 56,682 ไร่ ได้รับความเสียหาย 100 % ซึ่งจังหวัดนครพนม โดยนายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ได้มีหนังสือขอฝนหลวงไปแล้วเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ขณะที่ในพื้นที่นาของเกษตรกรพบว่า หลังปักดำเรียบร้อยแล้วแต่ไม่มีฝนตกลงมา ทำให้น้ำที่ใช้หล่อเลี้ยงต้นข้าวเริ่มเหือดแห้ง ซึ่งปัญหาดังกล่าวได้ขยายเป็นวงกว้างไปทุกอำเภอของจังหวัดนครพนม

นอกจากนี้ผลกระทบจากภัยแล้งยังทำให้สัตว์เลี้ยง เช่น วัว ควาย ขาดแคลนหญ้า นายแถวเกษตรกรผู้เลี้ยงควาย วัย 63 ปี บ้านโนนจันทร์ หมู่ 8 ต.ท่าลาด อ.เรณูนคร เผยว่าในทุกๆปีระหว่างเดือนมิถุนายน-สิงหาคม จะมีฝนตกชุก น้ำในนาก็เจิ่งนอง หญ้าที่ให้วัวควายบริโภคก็เขียวขจีในป่าสาธารณะ มีให้สัตว์เลี้ยงเหล่านี้เล็มกินได้อย่างเหลือเฟือ แต่ปีนี้ประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงหญ้าในป่าที่เคยพาวัวควายไปเลาะเล็มก็ไม่มี จึงจำเป็นต้องพามาหากินหญ้าอยู่ริมถนนหลวง ซึ่งเกษตรกรผู้เลี้ยงรายอื่นก็ใช้วิธีเดียวกับตน

และจากกรณีมีผู้อ้างว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญลุ่มน้ำโขงของจังหวัดนครพนมรายหนึ่ง อ้างว่าวิกฤติน้ำโขงลดระดับลง เกิดจากเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งอยู่ด้านทิศเหนือของนครเวียงจันทน์ ประเทศลาว กักเก็บน้ำ เพื่อทดลองการผลิตกระแสไฟฟ้านั้น ซึ่งในความเป็นจริงเขื่อนดังกล่าวไม่ได้กักเก็บน้ำในแม่น้ำโขง หากเกิดจาก 10 เขื่อนของประเทศจีน ที่คาดการณ์ล่วงหน้าไว้ว่าปีนี้จะมีปัญหาภัยแล้ง จึงกักเก็บน้ำในเขื่อนที่สร้างขวางแม่น้ำโขงไว้ทุกเขื่อน ประกอบด้วย เขื่อนวุ่นอองหลง,หวงเติ้ง,ต้าหัวเฉียว,เมียวเว่ย,เสี่ยววาน,ม่านวาน,ต้าเฉาชาน,นัวจาตู้,และเขื่อนจิงหง(เชียงรุ้ง/สิบสองปันนา) จึงทำให้ประเทศผู้อยู่ใต้จีนแผ่นดินใหญ่ ได้รับผลกระทบไปตามๆกัน โดยเฉพาะนครหลวงเวียงจันทน์ ประชากรทั้งประเทศประมาณ 60 % ต่างใช้น้ำโขงอุปโภค บริโภค ส่วนอีก 40 % ได้จากจากน้ำงึม และห้วย หนอง คลอง ต่างๆ ขณะนี้ทางการลาวได้ประกาศให้ประชาชนของตนระมัดระวังการใช้น้ำแล้ว ประกอบกับประเทศจีนไม่ได้เป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง  (Mekong River Commission : MRC) ซึ่งตั้งเป็นองค์การร่วมมือระหว่างรัฐบาล เพื่อส่งเสริมและประสานงาน จัดการและพัฒนาแหล่งน้ำและทรัพยากรอื่น ที่เกี่ยวข้องอย่างยั่งยืน เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก และประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดี ฯ  มีสมาชิกอย  4 ประเทศ คือ ลาว กัมพูชา เวียดนาม และไทย ส่วนจีนกับเมียนม่าร์ไม่สนใจเข้าร่วม โดยเฉพาะจีน เคยประกาศสร้างเขื่อนขวางแม่น้ำโขงถึง 20 แห่ง สร้างเสร็จไปแล้ว 10 แห่ง หากต้องเข้าร่วมเป็นสมาชิก MRC ก็จะมีผลกระทบต่อเขื่อนที่สร้าง เพราะจะต้องมีความโปร่งใสในการใช้น้ำในแม่น้ำโขงร่วมกันนั่นเอง สำหรับประเทศเมียนม่าร์แม่น้ำโขงไหลผ่านบริเวณพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ตรงข้ามกับหลวงพระบาง ประเทศลาว จึงได้รับผลกระทบน้อยกว่าลาว กัมพูชา เวียดนาม และไทย

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน