นครพนม – ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 11 สิงหาคม 2562 จะเป็นครบรอบ 44 ปี องค์พระธาตุพนมพังถล่มเมื่อคืนวันที่ 11 สิงหาคม 2518 เวลาประมาณ 19.38 น. กล่าวคือ “องค์พระธาตุพนม” ได้ล้มทลายลงมาทั้งองค์ สาเหตุมาจากเกิดฝนตกหนักและพายุลมพัดแรงติดต่อกันหลายวัน รวมถึงความเก่าแก่ขององค์พระธาตุพนม ซึ่งเหตุการณ์ในขณะนั้นสร้างความโศกเศร้าต่อพุทธศาสนิกชนสองฝั่งโขงทั้งชาวไทยและลาวเป็นอย่างมาก
“วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร” ตั้งอยู่บนดอยภูกำพร้า อันเป็นที่สูงอยู่ริมแม่น้ำโขง แต่ก่อนแม่น้ำโขงอยู่ใกล้กับองค์พระธาตุพนมมาก ซึ่งมีร่องรอยทางเดินของสายน้ำเก่ายังมีให้เห็นอยู่ ที่เรียกบริเวณนั้นว่า”บึงธาตุ”ในปัจจุบัน
คำว่า “อุรังคธาตุ” นั้น หมายถึง พระบรมธาตุส่วนหน้าอกของพระพุทธเจ้า ซึ่งพระมหากัสสปนำมาประดิษฐานไว้ ณ ดอยกัปปนคีรีหรือภูกำพร้า อีกนัยหนึ่งก็คือ “พระธาตุพนม” นั่นเอง !!
ในตำนานอุรังคธาตุ กล่าวว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดดินแดนในลุ่มแม่น้ำโขงโดยเฉพาะ คือ ในบริเวณตั้งแต่เขตจังหวัดอุดรฯ หนองคาย สกลนคร และนครพนม เป็นสำคัญ ทรงประทับรอยพระบาทไว้ในท้องที่ต่างๆ เช่นที่หนองคาย สกลนคร และนครพนม ทรงกำหนดภูกำพร้าในเขตอำเภอธาตุพนมเป็นสถานที่บรรจุพระอุรังคธาตุ ซึ่งองค์พระธาตุพนมมี ลักษณะของศิลปกรรมอันได้แก่ ลวดลายและภาพที่สลักบนแผ่นอิฐ ประดับรอบพระธาตุเจดีย์ตอนล่างทั้ง 4 ด้าน เป็นลักษณะ “ศิลปกรรมที่เป็นตัวเอง” ไม่ใช่ศิลปกรรมของจาม มอญ และขอมทั้งสิ้น จึงแสดงให้เห็นว่าเป็นของที่สร้างโดยชนกลุ่มหนึ่งในสมัยโบราณ คือ เจ้าของดินแดนสองฝั่งแม่น้ำโขง ดังนั้นพระธาตุพนมจึงเป็นศิลปกรรมแห่งภูมิภาคอีสานอย่างแท้จริง
ข่าวน่าสนใจ:
- นักท่องเที่ยวแห่ชมดอกไม้งามดอยตุง ชิมอาหารพื้นถิ่น ถ่ายรูปดอกไม้สวย
- บุรีรัมย์ คริสตจักรเมืองบุรีรัมย์ จัดงานเฉลิมฉลองวันคริสต์มาส ส่งความสุขก่อนปีใหม่อย่างยิ่งใหญ่
- นนทบุรี หนุ่ม 16 ขับเบนช์ เสียหลักเหินขึ้นไปคาอยู่บนรถ 6 ล้อรอดตายปาฏิหาริย์
- นครพนม : หมอสงค์ หมอผู้สร้าง เปิดตัวสมัครนายก อบจ.นครพนม พร้อม ส.อบจ.นครพนม
ลำดับเหตุการณ์”องค์พระธาตุพนมล้ม” บันทึกว่าเมื่อเดือนมีนาคม 2518 เกิดรอยร้าวขนาดใหญ่ขึ้นมากมาย ลามจากส่วนบนที่เริ่มขยายรอยร้าวลงมายังฐาน องค์พระธาตุพนมก็เริ่มเอียงจากแกนเดิม ต่อมาเข้าสู่ช่วงฤดูฝนระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม มีฝนตกหนักเกือบทุกวัน และมีลมแรงพัดตลอดเวลารอยร้าวที่มีแต่เดิมเริ่มแยกออกกว้างขึ้น
ตอนเช้าของวันที่ 11 สิงหาคม 2518 ฐานพระธาตุพนมด้านทิศตะวันออก ผนังปูนตรงลวดลายประตูจำหลักซึ่งอยู่กึ่งกลางของด้านตลอดถึงส่วนที่เป็นซุ้มทรงบายศรี ปูนกะเทาะหลุดร่วงลงมาทั้งแผ่น ล่วงมาถึงเวลาเย็นอิฐหลุดร่วงจะได้ยินเสียงครืดคราดออกมาจากภายในองค์พระธาตุ ส่วนฐานนั้นอิฐร่วงลงมาเป็นระยะ ๆ ทะลวงลึกเข้าไปเป็นช่องเหมือนถูกคว้านให้เป็นโพรงอยู่ภายในฐาน การหลุดร่วงของอิฐในตอนนี้มีทั้งอิฐและดินหล่นลงมา จนกระทั่งมองเห็นหินแท่งยาวแบนอยู่ภายใน แท่งหินทำให้เข้าใจว่าส่วนฐานขององค์พระธาตุพนมภายในเป็นดินมากกว่าอิฐหรือหิน และองค์พระธาตุได้เอียงไปทางทิศตะวันออกจนเห็นได้ชัด ครั้นถึงเวลา 19.38 น. พระธาตุพนมได้ล้มทลายลงมา โดยหักล้มลงไปทางทิศตะวันออกทั้งองค์ ทับวัตถุก่อสร้างอยู่ในบริเวณนั้น เช่น หอพระทิศเหนือ-ทิศใต้ ศาลาการเปรียญ และพระวิหารหอพระแก้วเสียหายทั้งหมด
ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากฐานหรือพระธาตุชั้นที่ 1 ซึ่งสร้างในสมัยแรกนั้นเก่าแก่มาก และไม่สามารถทานน้ำหนักส่วนบนได้ จึงเกิดพังทลายลงมาดังกล่าว สาเหตุการพังทลายขององค์พระธาตุพนม จะเห็นได้ว่าอาการพังทลายไม่ได้ทรุดที่ฐาน หากเริ่มจากยอดที่เป็นน้ำหนัก ในแนวดิ่งที่หนักมาก มากดคอบัวฐานชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 ให้บิออกเป็นแนวฉีกลึกไปในเจดีย์ เพราะอิฐเปียกยุ่ยจากฝนตกติดต่อกันอย่างหนัก ต่อจากนั้นอิฐผนังที่ยุ่ยอยู่แล้วก็ค่อยๆ ทลายลงเป็นแถบๆ ยอดเจดีย์กดพุ่งลงมาตามแนวดิ่งหักลงเป็นท่อน ๆ องค์พระธาตุได้ล้มฟาดลงมาทางทิศตะวันออกแตกหักออกเป็นท่อน
แต่ด้วยพลังแรงศรัทธาที่มีต่อองค์พระธาตุ อายุกว่า 2,000 ปี พุทธศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองนครพนม ประชาชนจึงได้ร่วมกันบริจาคทุนทรัพย์ เพื่อเป็นทุนในการก่อสร้างองค์พระธาตุขึ้นใหม่ตามแบบเดิม โดยมีรัฐบาลไทย(ในขณะนั้น)เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2522 ลักษณะพระธาตุเป็นเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมสูง งดงามสง่าเหมือนองค์เดิม มีขนาดฐานกว้างด้านละ 12.33 เมตร และสูง 53.60 เมตร ต่อมาพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดการพระราชพิธียกฉัตร ยอดองค์พระธาตุพนมในวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2522 และได้เสด็จพระราชดำเนินไป ในพระราชพิธีเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ขึ้นบรรจุในองค์พระธาตุพนม เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2522 ณ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร
ซึ่งในวันที่ 11 สิงหาคม 2562 เป็นวันครบรอบปีที่ 44 ขององค์พระธาตุพนมถล่ม ชาวจังหวัดนครพนมจึงจัดกิจกรรมปั่น-เดิน-วิ่ง บูชา รำลึกวันพระธาตุพนมล้ม ขณะเดียวกันก็จะมีรถยนต์วิ่งรอบเมือง เพื่อรับดอกไม้ ธูป เทียน จากประชาชนที่ไม่สามารถไปถวายองค์พระธาตุพนมด้วยตนเองได้ จึงฝากเครื่องสักการะบูชาไปถวาย ซึ่งในวันดังกล่าวจะมี นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 และ ส.ส.นครพนม เขต 1 พร้อมด้วย พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ร่วมเป็นประธานในพิธี และปั่นรถจักรยานร่วมกับนักกีฬาที่คาดว่าจะมีไม่ต่ำกว่า 500 คน เพื่อแสดงพลังศรัทธาต่อองค์พระธาตุพนม โดยมีเรือนจำกลางจังหวัดนครพนม สาธารณสุขจังหวัดฯ ร.พ.นครพนม และชมรมปั่นจักรยานนครพนม ร่วมเป็นแม่งาน เมื่อกลุ่มนักปั่น นักวิ่งถึงวัดพระธาตุพนมฯ พระครูพนมปรีชากร หรือพระครูไก่ เลขานุการ/ผู้ช่วยเจ้าอาวาส ได้เผยว่าพุทธศาสนิกชนจะร่วมแห่และห่มผ้ารอบองค์พระธาตุพนม รับศีล รับพรจากพระเทพวรมุนี เจ้าคณะจังหวัดนครพนม/เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร และถวายผ้าป่าเป็นอันเสร็จพิธี
ส่วนกิจกรรมของทางคณะสงฆ์ยังมีการมอบทุนการศึกษาแก่พระภิกษุ สามเณร ผู้สอบเปรียญธรรมได้ ตั้งแต่ประโยค 1-เปรียญธรรม 9 ประโยค ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 จวบจนปัจจุบัน เพราะลูกหลานชาวจังหวัดนครพนมหลังบรรพชาอุปสมบทแล้ว ก็ไปศึกษาภาษาบาลีตามสำนักต่างๆทั่วประเทศ เมื่อสอบได้ทางวัดพระธาตุพนมฯจึงสร้างขวัญกำลังใจจัดพิธีฉลองเปรียญธรรมดังกล่าว และช่วงเย็นตั้งแต่เวลา 18.00 น. จะเป็นพิธีสวดมนต์ ทำวัตร และเวียนเทียน ซึ่งพระเทพวรมุนี ผู้อยู่ในเหตุการณ์พระธาตุพนมล้ม จะมาเล่าเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นให้ญาติโยมฟังอย่างละเอียดอีกด้วย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: