นครพนม – การแข่งขันเรือยาวประเพณี เป็นมรดกวัฒนธรรมทางสายน้ำที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตที่ผูกพันกับสายน้ำ เรือและผู้คน บนพื้นฐานความสามัคคีพร้อมเพรียง เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนในชุมชน ซึ่งเป็นเกมกีฬาเก่าแก่ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมาได้กลายเป็นกีฬาทางน้ำของชาวบ้านที่มีชุมชนติดกับแม่น้ำสายต่างๆ
เช่นเดียวกับจังหวัดนครพนม นอกจากจะมีแม่น้ำโขงเป็นเส้นเลือดใหญ่ ยังมีแม่น้ำสาขาอีกหลายสาย เช่น แม่น้ำสงคราม ลำน้ำก่ำ ลำน้ำบัง ลำน้ำยาม และลำน้ำอูน จึงเป็นที่มาของประเพณีแข่งขันเรือพายประจำถิ่นที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงฤดูน้ำหลากเดือน 10-12 โดยการประชันฝีพายนี้จะแสดงถึงพละกำลังอันแข็งแกร่ง เริ่มในฤดูเข้าพรรษาชาวบ้านส่วนใหญ่ที่ประกอบอาชีพทำนา หลังเสร็จสิ้นการปักดำจะนำเรือของตนซึ่งใช้ในการหาปลามาแข่งขันกัน ภายหลังพัฒนามาเป็นเรือแข่งหลายฝีพาย จนกลายเป็นประเพณีมาแต่โบราณที่นิยมแพร่หลาย
การแข่งขันเรือยาว ต.พระซอง อ.นาแก ซึ่งมีพื้นที่ติดกับลำน้ำบัง ได้จัดงานบุญประเพณีแข่งขันเรือยาวประจำปี 2562 โดยถือเป็นประเพณีปฏิบัติสืบทอดกันมายาวนานกว่า 100 ปี เพื่อสะท้อนถึงวิถีชีวิตทางสายน้ำ เรือและผู้คนบนพื้นฐานความสามัคคีพร้อมเพรียง รวมความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนในชุมชน และเพื่อเป็นการสืบทอดประเพณีอันดีงามของท้องถิ่น ตำบลพระซองจึงกำหนดจัดงานประเพณีแข่งขันเรือยาวขึ้น ระหว่างวันที่ 7-8 กันยายน บริเวณลำน้ำบัง ท่าน้ำวัดเหนือท่าจำปา และถือเป็นสนามแรกเปิดฤดูกาลแข่งเรือยาวในจังหวัดนครพนม จากนั้นก็จะหมุนเวียนเปิดสนามประชันเป็นจ้าวบนผิวน้ำในลุ่มน้ำต่างๆ ทั่วจังหวัด และจะไปสิ้นสุดที่สนามแข่งขันสุดท้ายในแม่น้ำโขง ชิงถ้วยพระราชทาน ในวันออกพรรษาไหลเรือไฟ จัดโดยเทศบาลเมืองนครพนม ซึ่งถือเป็นสนามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในจังหวัดนครพนม
ข่าวน่าสนใจ:
สำหรับปี 2562 สนามแข่งขันเรือยาวตำบลพระซอง มีความพิเศษกว่าทุกๆปี เพราะได้รับเกียรติจาก นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีเปิด และมอบถ้วยรางวัลให้แก่เรือที่ชนะเลิศ โดยมีนายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม นายไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม เขต 3 พรรคเพื่อไทย ดร.สมชอบ นิติพจน์ นายก อบจ.นครพนม นายชูกัน กุลวงษา อดีตผู้สมัคร ส.ส.นครพนม เขต 4 พรรคพลังประชารัฐ นพ.อลงกต มณีกาศ อดีตผู้สมัคร ส.ส.นครพนม เขต 3 และ น.ส.ณัฐธ์ภัสส์ ยงใจยุทธ ที่ปรึกษานายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม และอดีตผู้สมัคร ส.ส.นครพนม เขต 2 พรรคพลังประชารัฐ ร่วมในพิธีเปิด ซึ่งนายไพรวรรณ แสงแก้ว กำนัน ต.พระซอง ได้กล่าวถึงประเพณีแข่งเรือยาวที่มีมาอย่างยาวนาน โดยมีทีมเรือของตำบลพระซอง และทีมเรือจากอำเภอต่างๆในจังหวัดนครพนม มุกดาหาร และสกลนคร เข้าร่วมแข่งขันรวมทั้งสิ้น 39 ลำ แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1.เรือชายใหญ่ ไม่เกิน 55 ฝีพาย จำนวน 12 ลำ 2.เรือชายเล็ก ไม่เกิน 35 ฝีพาย จำนวน 12 ลำ 3.เรือยาวหญิง ไม่เกิน 35 ฝีพาย จำนวน 9 ลำ และ 4.เฉพาะเรือในเขตเทศบาลตำบลพระซอง จำนวน 6 ลำ ระยะความยาวเข้าสู่เส้นชัย 850 เมตร
ซึ่งผลการแข่งขันสิ้นสุดลง ในวันที่ 8 กันยายน ปรากฏว่า รางวัลชนะเลิศเรือชายใหญ่ เกิน 55 ฝีพาย คว้าถ้วย รมว.ศึกษิการไปครอง ได้แก่ เรือเทพวิชิตชัย จากบ้านเหล่าส้มป่อย ต.หนองสังข์ อ.นาแก ตามด้วยเรือชายเล็กไม่เกิน 35 ฝีพาย เรือสิงหราชนาวา M 150 เข้าวินเป็นที่หนึ่ง ต่อด้วยเรือยาวหญิงไม่เกิน 35 ฝีพาย เรือเทพสิทธิพร วัดสระพังทอง ต.หนองสังข์ หยิบปลาชิ้นมันไปกิน และเรือในเขตเทศบาลฯ เข้าที่หนึ่งได้แก่เรือเทพโพธิ์ทอง บ้านบ่อดอกซ้อน ต.พระซอง นับเป็นแข่งขันเปิดฤดูกาลที่เต็มไปด้วยความสนุกสนาน พร้อมสายสัมพันธ์อันดีของทีมเรือแข่งทั้งหลาย
ตำบลพระซอง เดิมเป็นหมู่บ้านของขอมในสมัยโบราณ โดยอาศัยหลักฐานที่ขุดพบเครื่องใช้ต่างๆ เช่น ถ้วย ครก หม้อ ไห ทำด้วยเครื่องปั้นดินเผาและหินมีสีดำ มีลายสลักอย่างสวยงาม เครื่องโลหะที่ทำด้วยทองเหลือง เพราะเคยขุดได้กลองที่ทำด้วยทองเหลืองทั้งหมด แต่ปัจจุบันไม่ทราบว่าถูกเก็บรักษาไว้ที่ใด ต่อมาราวปี พ.ศ.1900 พวกขอมเจ้าถิ่นเดิมถูกคนไทยกลุ่มหนึ่งขับไล่ เพื่อจะเข้ามาครอบครองดินแดนแห่งนี้แทน แต่ถึงปี พ.ศ.2200 เกิดระบาดอย่างร้ายแรง ผู้คนได้อพยพหนีออกจากหมู่บ้านหมด จนกลายเป็นหมู่บ้านร้างมาระยะหนึ่ง กระทั่งปี พ.ศ.2378 มีชาวลาวอพยพข้ามแม่น้ำโขงมาอาศัย คนกลุ่มนี้จึงเป็นบรรพบุรุษของชาวบ้านพระซองในปัจจุบัน
ส่วนที่มาของชื่อตำบลพระซองนั้น เนื่องจากได้ขุดพบพระพุทธรูปที่สลักจากหินภูเขา ประเภทหินทราย มีหน้าคล้ายสองหน้า คือมีลักษณะแบนทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ประดิษฐานอยู่ที่วัดพระซอง หมู่ 4 ต.พระซอง อ.นาแก จ.นครพนม เดิมเป็นวัดร้างเคยเป็นที่ตั้งฐานหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่(นพค.22) ภายในพระอุโบสถวัดประดิษฐานหลวงพ่อพระซอง พระพุทธรูปหินทรายปางสมาธิ หน้าตักกว้าง 39 นิ้ว สูง 31 นิ้ว ศิลปะขอมโบราณ มีความเก่าแก่อายุกว่า 2,000 ปี มีตำนานเล่าว่าหลวงพ่อพระซองสร้างขึ้นด้วยหินภูเขา ใน พ.ศ.8 โดยพระยาคำแดง เจ้าเมืองหนองหาร(สกลนคร) นำชาวเมืองพร้อมหินก้อนใหญ่เดินทางร่วมสร้างพระธาตุพนม แต่พอถึงบริเวณป่าแห่งหนึ่งจึงหยุดพักแรม ก่อนจะทราบข่าวพระธาตุพนมสร้างเสร็จแล้ว คณะทั้งหมดจึงตกลงกันว่าเมื่อสร้างเจดีย์พระธาตุพนมเสร็จแล้ว สิ่งของที่นำมาทั้งหมดถ้าจะเอากลับไปลำบาก เห็นควรจัดสร้างอย่างอื่นแทน จึงทำการแกะสลักก้อนหินที่นำมาเป็นพระสองหน้า และนำไปประดิษฐานไว้ระหว่างต้นไม้ 2 ต้น โดยหันพระพักตร์ไปทางพระธาตุพนม ส่วนใต้ฐานพระพุทธรูปก็บรรจุสิ่งของมีค่าต่างๆลงไว้มากมาย จากนั้นพระยาคำแดงและชาวเมืองหนองหารจึงเดินทางกลับ ปล่อยให้ชาวขอมอยู่ดูแลรักษา ต่อมาปี พ.ศ.2482 หลวงพ่อพระซองถูกค้นพบโดยพระอาจารย์ทัน เจ้าอาวาสวัดท่าโพธิ์ชัย หมู่ 1 ต.พระซอง ในสภาพชำรุดแขนและเอวแตกหัก ก่อนได้รับการบูรณะมานับแต่นั้น ฉะนั้นคำว่าพระซอง อาจจะเพี้ยนมาจากพระสองตามลักษณะใบหน้าของพระพุทธรูป ที่อยู่ระหว่างต้นไม้สองต้นนั่นเอง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: