นครพนม – ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มหาวิทยาลัยนครพนม (มนพ.) มีหนังสือถึงกรรมการสภามหาวิทยาลัยฯ เรียกประชุมครั้งที่ 9/2562(สามัญ) ในวันเสาร์ที่ 21 กันยายน 2562 ตั้งแต่เวลา 09.00 น.เป็นต้นไป ณ ห้องประชุมพนมเมธี อาคารสารสนเทศเพื่อการบริหาร สำงานอธิการบดี มนพ. โดยมีเรื่องเร่งด่วนที่จะหยิบยกมาพิจารณา เช่นในข้อ 3.1 กรณี นพ.ประสงค์ บูรณ์พงศ์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย ตั้งกระทู้ถาม เรื่องปัญหาการบริหารและการทุจริตคอรัปชั่นภายใน มนพ. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 4 กันยายน และวันที่ 11 กันยายน ที่ผ่านมา พร้อมเรื่องการพิจารณาสรุปข้อเท็จจริง กรณีอากาศยานแบบ Diamond Da ทะเบียน 42 HS-IAN ประสบอุบัติเหตุ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2559 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย
จากกรณีที่ นพ.ประสงค์ บูรณ์พงศ์ ได้ตั้งกระทู้ถามเรื่องปัญหาการบริหารงานและการทุจริตคอรัปชั่นภายใน มนพ.ต่อสภาผู้แทนราษฎรนั้น นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) กล่าวตอบกระทู้ ยอมรับว่า มนพ. มีปัญหาเรื้อรังมานานทั้งเรื่องธรรมมาภิบาล เรื่องทุจริต คอรัปชั่น ตลอดจนถึงการบริหาร จัดการ ที่ไม่โปร่งใส รวมไปถึงเรื่องของการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งบางเรื่อง รมว.อว. ได้ส่งให้ ปปช.ดำเนินการแล้ว แต่ก็มีคนใน มนพ.ออกมาโต้ว่าไม่มีการทุจริต และไม่เป็นไปตามกระทู้ของ สส.ที่ถามในสภาฯ จากกรณีดังกล่าวนี้แหล่งข่าวในวงการศึกษาของจังหวัดนครพนมจึงตั้งข้อสังเกตุว่า หาก รมว.อว. พูดโกหกกลางสภาผู้แทนฯ ควรต้องดำเนินการกู้ศักดิ์ศรี มนพ.คืนมา ด้วยการให้นายสุนทร บุญญาธิการ นายกสภาฯ และ ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ วันจันทึก รักษาการแทน อธิการบดี มนพ. หรือกรรมการสภาฯ แจ้งความดำเนินคดีกับ รมว.อว. ฐานหมิ่นประมาท
สำหรับประเด็นเครื่องฝึกบินของวิทยาลัยการบินนานาชาติ ประสบอุบัติเหตุตก จนมีผู้เสียชีวิต ประกอบด้วย นายยิ่งยศ อุดรพิมพ์ ประธานกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรแห่งชาติ และอดีตนายก อบจ.มหาสารคาม ซึ่งเป็นญาติของ ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ วันจันทึก รองอธิการบดี มนพ.(ในขณะนั้น) พ.ต.ท.สมบูรณ์ คำนึงรัตนวงศา นักบินที่ 1 และว่าที่ร้อยตรี ชิณวุฒิ นวลกลับ นักบินที่ 2 รวม 3 ราย
ข่าวน่าสนใจ:
หลังเกิดเหตุการณ์ วันที่ 25 กรกฏาคม 2559 มนพ. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง โดยมี พล.อ.อ. ปัญญา ศรีสุวรรณ เป็นประธาน โดยได้ แบ่งประเด็นการสอบสวนออกเป็น 3 ประเด็นคือ 1.สอบสวนส่วนที่เกี่ยวข้องกับเทคนิคต่าง ๆ 2.สอบสวนถึงขบวนการอนุมัติการขึ้นบิน และ 3. ความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อชีวิตและทรัพย์สิน
ซึ่งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงได้มีมติสรุปและความเห็นเพิ่มเติม ให้ มนพ. แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อสอบสวนทางวินัยร้ายแรงกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในขบวนการอนุมัติให้เครื่องบินขึ้นบิน ซึ่งผู้ที่อยู่ในข่ายที่คณะกรรมการชี้ให้ตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยมีทั้งสิ้นรวม 4 รายคือ1.ผศ.ดร.ถนอม ทาทอง รองอธิการบดีฯ(ในขณะนั้น) 2. ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ วันจันทึก รองอธิการบดีฯ(ในขณะนั้น) 3.นายศรุช โภคากุลวัฒน์ หัวหน้าการพาณิชย์ และ 4.รศ.พลอากาศโท จิรศักดิ์ ชนะสิทธิ์ คณบดี วิทยาลัยการบินนานาชาติ (ในขณะนั้น)
โดยคณะกรรมการฯได้ชี้มูลและมีความเห็น เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2560 ว่า ทั้งสี่คนมีพฤติกรรมเข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 39 วรรค 4 แห่งพระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2547 ในกรณีไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผนของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรี หรือนโยบายของทางราชการ จึงเห็นควรให้ มนพ. ดำเนินการแต่งตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัย
ซึ่งคณะกรรมการฯระบุถึงพฤติการณ์และความผิดของแต่ละบุคคลว่าเข้าข่ายความผิดฐานใดและตามระเบียบข้อใดแยกเป็นราย ๆ ดังนี้
1.ผศ.ดร.ถนอม ทาทอง รองอธิการบดีฯ เป็นผู้ประสานงานขอใช้อากาศยานต่อนายศรุช โภคากุลวัฒน์ หัวหน้าการพาณิชย์ ซึ่งได้รับการประสานจาก ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ วันจันทึก ประสานเพื่อขอใช้อากาศยาน HS-IAN ในการเดินทางไปส่งนายยิ่งยศ อุดรพิมพ์ ประธานกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรแห่งชาติที่ กทม. ซึ่งทราบอยู่แล้วว่านายยิ่งยศฯ และเป็นญาติของ ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ฯ โดยเป็นบุคคลภายนอก มิได้ขอไปราชการที่กรุงเทพฯในนามมหาวิทยาลัยนครพนม การจะขอใช้อากาศยานนั้น จะต้องดำเนินการตามระเบียบของทางราชการ ซึ่งจะต้องขอผ่านผู้บังคับบัญชาตามขั้นตอน รองอธิการบดีไม่มีอำนาจหรือได้รับมอบหมายการบังคับบัญชาโดยตรงในส่วนของวิทยาลัยการบิน การประสานโดยตรงในตำแหน่งรองอธิการบดีอาจเป็นมูลเหตุจูงใจสำคัญที่เป็นเหตุให้มีการอนุมัติการบินในกรณีนี้ได้ ประกอบกับการดำเนินการกรณีนี้มิได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาแต่อย่างใด ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นการดำเนินการโดยพละการ ไม่เป็นไปตามแบบแผนแนวของทางราชการ
จากข้อสรุปดังกล่าวข้างต้นเข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 39 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 ในกรณีไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผนของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรี หรือนโยบายของทางราชการ จึงเห็นควรให้มหาวิทยาลัยนครพนม ดำเนินการแต่งตั้งกรรมการสอบทางวินัยต่อไป
2.กรณี ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ วันจันทึก เป็นผู้ที่ประสานงานมายัง ผศ.ดร.ถนอม ทาทอง รองอธิการบดีฯ เพื่อขอใช้อากาศยานลำดังกล่าว เพื่อไปส่งนายยิ่งยศฯ ซึ่งเป็นญาติของตนเอง โดยนายยิ่งยศฯ เป็นบุคคลภายนอกมิได้ขอไปราชการที่กรุงเทพในนามมหาวิทยาลัยนครพนม โดยตนรู้อยู่แล้วว่ามาปฏิบัติภารกิจที่จังหวัดนครพนม ซึ่งมิใช่มาราชการในนามมหาวิทยาลัยนครพนม และสามารถที่จะเดินทางไปยังกรุงเทพด้วยสายการบินพาณิชย์ได้อยู่แล้ว หากมีการวางแผนการเดินทางไว้แต่ต้น ส่วนการที่อ้างว่าเพื่อไปประชุมกับคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทย ในวันที่ 2 มิถุนายน 2559 ซึ่งภารกิจดังกล่าวไม่ใช่การไปราชการในนามของมหาวิทยาลัยนครพนม การประสานงานของ ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ฯ เพื่อขอใช้อากาศยานดังกล่าว ในนามตำแหน่งรองอธิการบดี อาจเป็นมูลเหตุจูงใจสำคัญที่เป็นเหตุให้มีการอนุมัติการบินในกรณีนี้ได้ ซึ่งมิสมควรดำเนินการเช่นนี้เป็นการดำเนินการโดยพละการ ไม่เป็นไปตามแบบแผนแนวของทางราชการ
จากข้อสรุปดังกล่าวข้างต้น เข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 39 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 ในกรณีไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผนของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรี หรือนโยบายของทางราชการ จึงเห็นควรให้มหาวิทยาลัยนครพนม ดำเนินการแต่งตั้งกรรมการสอบทางวินัยต่อไป
3.นายศรุช โภคากุลวัฒน์ หัวหน้าการพาณิชย์ ซึ่งได้รับการประสานงานจาก ผศ.ดร.ถนอม ทาทอง รองอธิการบดี ขอใช้เครื่องบินไปส่งนายยิ่งยศ อุดรพิมพ์ ประธานกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรแห่งชาติ ที่กรุงเทพฯ นายศรุช โภคากุลวัฒน์ ได้ดำเนินการทำหนังสือขออนุมัติใช้อากาศยาน โดยระบุชื่อนักบินผู้ควบคุมอากาศยาน โดยไม่ผ่านงานสารบรรณและงานธุรการ จึงเป็นการดำเนินการที่ตนเองไม่มีอำนาจหน้าที่โดยตรง ในเรื่องดังกล่าว นายศรุช โภคากุลวัฒน์ อ้างว่าการดำเนินการนั้น เป็นการดำเนินการตามคำร้องขอของผู้บังคับบัญชา และเป็นการเร่งด่วนจึงไม่ดำเนินการตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ
จากข้อสรุปดังกล่าวข้างต้นเข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 39 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 ในกรณีไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผนของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรี หรือนโยบายของทางราชการ จึงเห็นควรให้มหาวิทยาลัยนครพนม ดำเนินการแต่งตั้งกรรมการสอบทางวินัยต่อไป
และ 4.รศ.พลอากาศโท จิรศักดิ์ ชนะสิทธิ์ คณบดี วิทยาลัยการบินฯ เป็นผู้อนุมัติ โดยให้จัดทำแผนการฝึกบินให้ถูกต้องตามระเบียบ ข้อบังคับ ตามหนังสือที่ ศธ.0589 11(1)/1833 ลงวันที่ 1 มิถุนายน 2559 เรื่องขออนุมัติใช้อากาศยาน โดยในบันทึกดังกล่าวระบุนักบินผู้ควบคุมอากาศยานคือ พ.ต.ท.สมบูรณ์ คำนึงรัตนวงศา นักบินที่ 1 และว่าที่ร้อยตรี ชิณวุฒิ นวลกลับ นักบินที่ 2 จากนั้น รศ.พลอากาศโท จิรศักดิ์ ชนะสิทธิ์ คณบดีฯ ได้มีหนังสือ ศธ.0589 11/563 ลงวันที่ 1 มิถุนายน 2559 เรื่องขออนุญาตทำการบินนอกเวลา ถึงผู้อำนวยการท่าอากาศยานนครพนม ซึ่งทำการบินในวันที่ 2 มิถุนายน 2559 เวลาวิ่งขึ้น 04.00 น. ด้วยอากาศยาน HS-IAN โดยมี พ.ต.ท.สมบูรณ์ คำนึงรัตนวงศา นักบินที่ 1 และว่าที่ร้อยตรี ชิณวุฒิ นวลกลับ นักบินที่ 2 การอนุมัติการบินในกรณีนี้เป็นการอนุมัติการบินที่นอกเหนือจากภารกิจการบินปกติ (ฝึกศิษย์การบิน) ซึ่งจะต้องขออนุญาตอนุมัติต่อคณะกรรมการอำนวยการหรืออธิการบดีตามข้อ 15(7) แห่งระเบียบมหาวิทยาลัยนครพนม ว่าด้วยวิทยาลัยการบินนานาชาติ พ.ศ.2550 และการเสนอเรื่องต่อผู้บังคับบัญชาที่จะอนุมัติ ต้องผ่านการกลั่นกรองของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเสียก่อน เนื่องจากการขออนุมัติดังกล่าวเป็นคำสั่งทางปกครอง จึงจะต้องกำหนดให้มีเหตุผลประกอบการใช้ดุลยพินิจอย่างน้อย ข้อเท็จจริงในสาระสำคัญ ข้อกฎหมายที่อ้างถึงและข้อพิจารณา ข้อสนับสนุนในการใช้ดุลยพินิจ ซึ่งจะต้องผ่านขั้นตอนที่กำหนดไว้ในระบบงานสารบรรณ
จากข้อสรุปดังกล่าวข้างต้นเข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 39 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 ในกรณีไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผนของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรี หรือนโยบายของทางราชการ จึงเห็นควรให้มหาวิทยาลัยนครพนม ดำเนินการแต่งตั้งกรรมการสอบทางวินัยต่อไป
แหล่งข่าวแจ้งเพิ่มเติมว่า หลังคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีเครื่องฝึกบินตก ได้ชี้มูลความผิดผู้เกี่ยวข้องแต่ละคนแล้ว มีผู้ใหญ่ใน มนพ. สั่งให้เก็บเรื่องดังกล่าวไว้ จากวันนั้นถึงวันนี้เป็นเวลา 2 ปีกว่าที่ มนพ.เก็บงำเรื่องดังกล่าวไว้ จนกระทั่ง นพ.ประสงค์ บูรณ์พงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ นำไปพูดในสภาผู้แทนราษฎร จึงงัดขึ้นมาปัดฝุ่นพิจารณากัน
โดยผู้ถูกกล่าวหา 1 ใน 4 ปัดว่าตนเองไม่มีอำนาจสั่งการในเรื่องดังกล่าวได้ จึงโยนความผิดทั้งหมดให้ รศ.พลอากาศโท จิรศักดิ์ ชนะสิทธิ์ คณบดีฯ (ในขณะนั้น) ซึ่งตรงกันข้ามกับผลการสอบสวนของคณะกรรมการฯ มีภาพ 1 ใน 4 ผู้ถูกกล่าวหา อยู่ที่บริเวณหอบังคับการบิน ในตอนรุ่งสางก่อนเครื่องฝึกบินตก ประกอบกับนายชลสิทธิ์ นวลกลับ บิดาของ ว่าที่ร้อยตรี ชิณวุฒิ นวลกลับ นักบินที่ 2 ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ตามคดีหมายเลขดำที่ 979/2560 เรียกค่าเสียหายกับ 1 ใน 4 ผู้ถูกกล่าวหา เป็นเงินจำนวน 18 ล้านบาท
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: