นครพนม – วันที่ 1 ตุลาคม 2562 จากกรณีคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร นำโดยนายไชยา พรหมา ประธานกรรมาธิการฯงบประมาณ พร้อมคณะได้เดินทางมาจังหวัดนครพนม ระหว่างวันที่ 29-30 กันยายน ที่ผ่านมา เพื่อติดตามการบริหารงบพัฒนาจังหวัด ประจำปีงบประมาณ 2562-63 และงบประมาณพัฒนาการศึกษาของมหาวิทยาลัยนครพนม ณ ห้องประชุมพระธาตุพนม ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดนครพนม
โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยนครพนม (มนพ.) นายแพทย์ประสงค์ บูรณ์พงศ์ สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย และยังเป็นที่ปรึกษากรรมาธิการฯงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ร่วมก่อตั้งมหาวิทยาลัยนครพนม ได้นำปัญหาที่หมักหมมมากว่า 1 ทศวรรษ ไปตั้งกระทู้ถามในสภาฯ เรื่องการบริหารงานและการทุจริตคอร์รัปชั่นใน มนพ. เมื่อวันที่ 4 กันยายน และวันที่ 11 กันยายน ที่ผ่านมา
ซึ่งทาง มนพ. มี ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ วันจันทึก รักษาการอธิการบดี มนพ. ได้มาสอบคำถามแก่คณะกรรมาธิการฯงบประมาณด้วยตนเอง โดย นพ.ประสงค์ฯได้เกริ่นนำว่ามหาวิทยาลัยนครพนม เป็น 1 ใน 2 มหาวิทยาลัยที่เกิดจากการหลอมรวมหลายสถาบันการศึกษาเข้าด้วยกันคือ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์(มนร.) และ มหาวิทยาลัยนครพนม โดยมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์เพิ่มสาขาด้านการแพทย์ ขณะที่มหาวิทยาลัยนครพนมเพิ่มสาขาทางด้านการบิน เมื่อนำมาเปรียบเทียบกันแล้ว มนร.ก้าวทิ้งห่าง มนพ.ไปหลายช่วงตัว
นพ.ประสงค์ฯเผยว่ามีคนส่งเอกสารสรุปเงินรายได้สะสม ของสำนักงานอธิการบดี มนพ. ประจำปีงบประมาณ 2551-2561 ระบุ พ.ศ.2560-61 ติดลบถึง 56ล้านบาทเศษ ซึ่งหากใช้ธรรมดาๆคงไม่ติดลบ จึงไม่เข้าใจว่าที่เงินติดลบถึง 56 ล้านบาทนั้น มันมีที่มาที่ไปอย่างไร
ข่าวน่าสนใจ:
- สุดสวยงาม ดอกบัวตองบานสะพรั่งที่ดอยแม่อูคอ แม่ฮ่องสอนหนาวแล้ว พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยว
- ตรัง เตือนภัยเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน-ดินสไลด์ ใน 6 อำเภอ พร้อมซ้อมแผนรับมือภัยพิบัติ
- ชาย วัย 63 รัวยิงยกครัว ก่อนยิงตัวเอง ดับ 4 สาหัส 1 ส่วนปมเหตุ ตำรวจให้น้ำหนักไปที่ เรื่องเงินกู้
- นักท่องเที่ยวแห่ชมพระอาทิตย์ขึ้นและทะเลหมอก ที่จุดชมวิวหยุนไหล บ้านสันติชล ปาย แม่ฮ่องสอน
ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ฯ ตอบข้อซักถามว่ากรณีมียอดเงินติดลบ 56 ล้านบาท โดยปกติการใช้งบประมาณตาม พรบ.งบประมาณ ไม่ว่าเป็นเงินรายได้หรือเงินแผ่นดิน โดยพาะเงินแผ่นดินได้รับการสนับสนุนจากทางภาครัฐอยู่แล้ว การใช้เกินจึงเป็นไปไม่ได้ สำหรับในส่วนที่เกินเพราะมีปัญหาอยู่หน่วยงานเดียว คือวิทยาลัยการบินนานาชาติ(ว.การบิน) ซึ่งการใช้งบประมาณเกิน สภา มนพ.รับรู้มาตลอด และเราพยายามแก้ไขอยู่ เนื่องจากวันนี้ได้ใช้งบประมาณไปใช้จ่ายในหลักสูตร CPL(Commercial Pilot License นักบินพาณิชย์) หรือหลักสูตรนักบินพาณิชย์ตรี ที่ผ่านมาประสบปัญหาเยอะ ณ เวลานี้ผู้ที่มาเรียนลดลงอย่างชัดเจน ฉะนั้นในส่วนของเรื่องการใช้เงินงบประมาณเกิน 56 ล้านบาท เป็นเพียงหน่วยงานเดียวที่ มนพ.กำกับอยู่ และตอนนี้ สภา มนพ.ก็ทราบเรื่องเป็นอย่างดี
“ในส่วนอธิการบดีหรือฝ่ายบริหาร มีหน้าที่ทำตามคำสั่งสภา มนพ. งบประมาณใดที่จะเบิกจ่ายของ พรบ.งบประมาณ หรือเป็นรายการตามข้อปฏิบัติราชการของ มนพ. เราต้องดำเนินการตามนั้น แต่ถ้าส่วนไหนเกินต้องมาขออนุญาติสภาฯ ซึ่งเงินส่วนที่เกินจะเป็นรายได้ของ มนพ.เป็นหลัก โดยเฉพาะของ ว.การบิน แต่ส่วนอื่นประมาณ 16-17 หน่วยไม่มีปัญหา” รักษาการอธิการบดี มนพ.กล่าว
จากนั้นนายแพทย์ประสงค์ฯถามต่อในกรณี ว.การบิน ถูกโยกเงินไปจ่ายคณะอื่น และไม่ได้รับเงินเดือนมีข้อเท็จจริงอย่างไร ก็ได้รับคำอธิบายว่า เรื่องการโยกย้ายเงิน ว.การบิน เป็นอำนาจของสภา มนพ. และฝ่ายบริหารที่สามารถดำเนินการได้ เพราะในช่วงที่ผ่านมา การโยกย้ายงบประมาณเป็นอำนาจของหัวหน้าหน่วยงาน และที่สำคัญก่อนที่จะมีการโยกย้ายเราได้ทำความตกลงกับฝ่ายบริหารและบอร์ดของ ว.การบิน เรียบร้อยแล้ว ในส่วนประเด็นการใช้งบประมาณ ขอยกตัวอย่างว่าเราให้เงินไป 100 บาท คุณต้องใช้แค่ 100 บาทเท่านั้น แต่ถ้าใช้เกินคุณต้องมาขออนุญาติสภา มนพ. ซึ่งอำนาจมันอยู่ตรงนั้น แต่ที่ผ่านมา ว.การบิน ไม่ได้ทำคือใช้ไปก่อนเลย ส่วนเรื่องเงินเดือนไม่เกี่ยวกันคนละเรื่อง เพราะเด็กที่ร้องนั้นอยู่ในโครงการฝึกอบรมครูการบินที่ประเทศออสเตรเลีย เหตุที่ยังไม่ได้รับเงินเดือน เนื่องจากเขาไปภายใต้ MOU คือเอาเงินทุนไปเรียน เมื่อฝึกเสร็จกลับมาถึงประเทศไทย แต่การศึกษาเขายังไม่จบตามคุณสมบัติที่ระบุอยู่ใน MOU และก็ไปสอดคล้องกับสถาบันการบินพลเรือน จึงไม่สามารถบรรจุเขาได้ เมื่อยังบรรจุไม่ได้ และไม่มีสัญญาการเงินจึงจ่ายเงินเดือนให้เขาไม่ได้
หลังรักษาราชการแทนอธิการบดี มนพ. ตอบข้อซักถามต่อคณะกรรมาธิการฯงบประมาณแล้ว ก็มีแหล่งข่าวภายในมหาวิทยาลัยนครพนม ส่งข้อมูลเอกสารเกี่ยวกับการใช้เงินของ ว.การบิน ระบุเป็นเงินงบประมาณอุดหนุนที่ ว.การบิน ได้รับอนุมัติจากสำนักงบประมาณ แยกออกเป็นตารางตั้งแต่ปี 2549-2562 ดังนี้ งบลงทุนปี 2550 ได้รับ 126 ล้านบาทเศษ 2551ได้มา 181 ล้านบาทเศษ และปี 2562 ได้รับ 29 ล้านบาทเศษ รวมทั้งสิ้น 337 ล้านบาท
งบอุดหนุนทั่วไปเริ่มปี 2549 ได้รับเงินปฐมฤกษ์ 10 ล้านบาท และรับเพิ่มขึ้นทุกปีจนถึงปัจจุบัน เป็นเงิน 604 ล้านบาทเศษ รวมยอดเงินทั้งสองงบเป็นเงินทั้งสิ้น 942 ล้านบาทเศษ แต่ ว.การบิน ได้รับงบจัดสรรจริงๆเพียง 224 ล้านบาทเศษเท่านั้น
ในขณะที่มหาวิทยาลัยนครพนม (มนพ.) ได้หักเงินของ ว.การบินสนับสนุนสำนักงานอธิการบดี เริ่มจากปี 2560 จำนวน 33 ล้านบาทเศษ ถัดมาปี 2561 หักไปอีก 12 ล้านบาทเศษ และปี 2562 หักอีก 17 ล้านบาทเศษ รวม 62 ล้านบาทเศษ นอกจากนี้ มนพ.ยังหักเงิน ว.การบิน นำไปสนับสนุนหน่วยงานอื่นๆอีก เริ่มจากปี 2558-2560 ปีละ 10 ล้านบาท มาปี 2561 หักไปมากถึง 18.5 ล้านบาท และปีล่าสุด 2562 หักอีก 9 ล้านบาทเศษ รวมเป็นเงิน 30 ล้านบาทเศษ เมื่อนำยอดการหักสนับสนุนทั้งสองยอดมารวมกันเป็นเงินที่ ว.การบิน ถูกหักไปทั้งสิ้น 93 ล้านบาทเศษ แหล่งข่าวจึงสงสัยการที่อ้างว่า ว.การบิน มีปัญหาทำให้เกิดยอดเงินติดลบนั้น รักษาราชการแทนอธิการบดีให้ข้อมูลแก่คณะกรรมาธิการฯงบประมาณคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงหรือเปล่า และเงินบางส่วนที่หักจาก ว.การบิน นำไปสนับสนุนคณะต่างๆ นั้น มีโรงเรียนสาธิตที่ไม่ใช่หน่วยงานตาม พรบ.มหาวิทยาลัย รวมอยู่ด้วย และที่ผ่านมา ว.การบินเป็น คณะที่ทำรายได้จากการเปิดสอนนักศึกษามากที่สุด นอกจากนี้ยังเปิดเผยเพิ่มเติมอีกว่า วิทยาลัยพยาบาลฯ มีเงินหายจากบัญชีไปกว่า 10 ล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวต้องใช้ในคณะพยาบาลเท่านั้น เพราะตัวชี้วัดของงบนี้คือจำนวนนักศึกษาพยาบาลที่รับเข้าและสำเร็จการศึกษา จึงอยากให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเข้าตรวจสอบการใช้งบประมาณที่ผ่านมาของ มหาวิยาลัยนครพนมดูสักหน่อยคงจะพบความไม่ชอบมาพากลมากกว่านี้อย่างแน่นอน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: