นครพนม – วันที่ 13 ตุลาคม 2562 เวลา 09.30 น.. ณ บริเวณลานธรรมหน้าวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหารอ.ธาตุพนม จ.นครพนม พระเทพวรมุนี เจ้าคณะจังหวัดนครพนม/เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมฯเป็นประธานสงฆ์ และ นายสยาม ศิริมงคล ผวจ.นครพนม เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ร่วมกับนางวิไลวรรณ ไกรโสดา นายรังสรรค์ คัมภิรานนท์ รอง ผวจ.ฯ พล.ต.สามารถ จินตสมิทธิ์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 210(มทบ.210) พล.ต.ต.ธนชาติ รอดคลองตัน ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครพนม ดร.สมชอบ นิติพจน์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนม(อบจ.ฯ) พร้อมหัวหน้าส่วนราชการ นักเรียน นักศึกษา พ่อค้าประชาชน และข้าโอกาสพระธาตุพนม ร่วมกันประกอบพิธีทางศาสนา ด้วยการอัญเชิญเครื่องบูชาองค์พระธาตุพนม เนื่องในวันออกพรรษา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งจังหวัดนครพนมและพุทธศาสนิกชนชาวจังหวัดนครพนม ยึดถือปฏิบัติจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี
การรำบูชาพระธาตุพนม เป็นการรวมตัวของชนพื้นเมืองต่างๆรวม 8 เผ่า ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดนครพนม จะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าประจำชนเผ่าของตน และร่ายรำในท่วงท่าอันงดงามเพื่อบูชาองค์พระธาตุพนม ซึ่งการแสดงของ 8 ชนเผ่านี้ มีบันทึกระบุว่าจะมีในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ณ บริเวณหน้าวัดพระธาตุพนมฯ
มูลเหตุของการฟ้อนรำบูชาองค์พระธาตุพนมในอดีตนั้น สืบเนื่องมาจากพระธาตุพนมเป็นเจดีย์เก่าแก่คู่บ้านคู่เมือง เป็นที่เคารพบูชา เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวพุทธทั้งสองฝั่งโขง ด้วยแรงศรัทธาจึงผลักดันให้เกิดการเคารพบูชาในลักษณะแตกต่างกัน ทั้งอามิสบูชาและปฏิบัติบูชา สำหรับอามิสบูชานั้น นอกจากจะบูชาด้วยดอกไม้ ธูปเทียน และถวายจตุปัจจัยไทยธรรมแล้ว ยังมีการบรรเลงพิณพาทย์ มโหรี การแสดงฟ้อนรำบูชาในโอกาสอันควรด้วย โดยเชื่อว่าการแสดงออกเป็นกุศลและความดีงามอย่างหนึ่ง โดยทุกปีจะแสดงในวันแรกของงานนมัสการพระธาตุพนม(ตรงกับขึ้น 8 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี) ณ บริเวณลานธรรมหน้าวัดพระธาตุพนมฯ มีเจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมเป็นประธานสงฆ์ ต่อมาภายหลังจังหวัดนครพนม ได้ขออนุญาตให้มีการรำบูชาพระธาตุพนม ก่อนไหลเรือไฟในวันออกพรรษา ฉะนั้นการรำบูชาถวายองค์พระธาตุพนมของ 8 ชนเผ่า จะมีให้เห็นเฉพาะงานเทศกาลนมัสการพระธาตุพนมและประเพณีไหลเรือไฟเท่านั้น
ก่อนการรำบูชาพระธาตุพนม ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน ได้ร่วมแห่เครื่องสักการะบูชา โดยเริ่มตั้งขบวนจากซุ้มประตูอร่ามรัษฏากร(ประตูโขง) ประธานในพิธี กล่าวคำบูชาไหว้พระธาตุพนม หลังจากนั้นได้จัดชุดรำบูชาพระธาตุพนม จำนวน 7 ชุด คือ 1.รำตำนานพระธาตุพนม 2.รำศรีโคตรบูรณ์ 3.รำผู้ไทย 4.รำหางนกยูง 5.รำไทญ้อ 6.รำขันหมากเบ็ง และ 7.รำเซิ้งอีสาน มีประชาชนและนักท่องเที่ยวจากหลายจังหวัด มาเที่ยวชมการรำบูชาพระธาตุพนมอย่างเนืองแน่นเสมอ
ข่าวน่าสนใจ:
- กกต.ตรัง พร้อมเปิดสนาม จัดเลือกตั้งอบจ. เปิดยิม 4,000 ที่นั่งรับสมัคร พื้นที่กว้างขวางรองรับกองเชียร์ผอ.กกต.ตรัง เผยการข่าวพบ 3…
- เครื่องกั้นรถไฟคลองแขวงกลั่นพังบ่อย ล่าสุดลงปิดขวางถนนนานข้ามคืน
- ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา>ชาวพุทธ+ทพ.48 ร่วมทอดผ้าป่า
- หนุ่มวัย 21 นัดเคลียร์กับรุ่นน้องวัย 16 แต่คุยกันไม่ลงตัวเกิดชกต่อยกัน ก่อนชักมีดแทงรุ่นน้องดับ
พิธีรำบูชาพระธาตุพนมทั้ง 7 ชุด เริ่มจากชุดแรก”รำตำนานพระธาตุพนม”ที่ปรับปรุงมาจากการฟ้อนรำแห่กองบุญในเทศกาลงานนมัสการพระธาตุพนมโดยนำเอาบทสวดสดุดีองค์พระธาตุพนมทำนองสรภัญญะ มาประกอบกับวงดนตรีมโหรีซึ่งกล่าวถึงตำนานและความพิสดารขององค์พระธาตุพนม การรำชุดนี้แสดงครั้งแรกเป็นปฐมฤกษ์คือในงานสมโภชพระธาตุพนมองค์ใหม่ เมื่อ พ.ศ.2522 จึงถือเป็นเอกลักษณ์ใช้รำเปิดงานประจำปีนมัสการพระธาตุพนมทุกครั้งสืบมา กระทั่ง พ.ศ.2530 ได้เพิ่มพิธีรำบูชาพระธาตุพนมในงานไหลเรือไฟของจังหวัดนครพนมจนถึงปัจจุบัน
ชุดที่ 2 “รำศรีโคตรบูร” เนื่องด้วยจังหวัดนครพนมเคยเป็นที่ตั้งของอาณาจักรศรีโคตรบูรในอดีต ที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาก โดยอาณาจักรแห่งนี้มีเนื้อที่แผ่กว้างใหญ่ครอบคลุมบริเวณสองฝั่งแม่น้ำโขง คือ ฝั่งซ้ายอาณาเขตอยู่ในแขวงคำม่วนและแขวงสะหวันเขต ส่วนฝั่งขวาครอบคลุมพื้นที่จังหวัดมุกดาหาร โดยมีจังหวัดนครพนมเป็นศูนย์กลาง ซึ่งอาณาจักรศรีโคตรบูรเป็นดินแดนแห่งการสั่งสมวัฒนธรรมอันเก่าแก่แห่งหนึ่ง
ด้วยสาเหตุดังกล่าว “รำศรีโคตรบูร”จึงถูกบัญญัติให้เป็นชุดรำประจำจังหวัดนครพนม เพื่อแสดงให้ระลึกถึงความเจริญรุ่งเรืองในอดีต โดยเป็นการรำที่ผสมผสานกัน ระหว่างรำเซิ้งที่มีความสนุกสนานบวกกับรำผู้ไทยที่มีความอ่อนช้อย สวยงาม จึงเห็นได้ว่าชุดรำศรีโคตรบูรจะมีลักษณะท่ารำตามแบบฉบับของชาวอีสาน คือ ยกสูง ก้มต่ำ รำกว้าง กลมกลืนกับดนตรีพื้นเมืองอีสานที่มีเสียงไพเราะตามแบบฉบับดั้งเดิม
ชุดที่ 3 “รำผู้ไทย(ภูไท)” เป็นชุดรำที่มีมาแต่บรรพบุรุษครั้งอพยพมาสร้างบ้านแปลงเมือง การรำภูไทนั้นถือเป็นศิลปะเอกลักษณ์ทางด้านวัฒนธรรมประจำเผ่าของชาวภูไท อำเภอเรณูนคร มีลักษณะการรำชายหญิงจับคู่กันเป็นคู่ ๆ แล้วรำด้วยท่วงท่าต่างๆ ให้เข้ากับจังหวะดนตรี โดยจะรำเป็นวงกลม แล้วแต่ละคู่จะต้องเข้าไปฟ้อนกลางวงเป็นการโชว์ลีลา ซึ่งมีกฎอยู่ว่าหญิงสาวที่จะรำภูไท ต้องเป็นสาวโสดหรือสาวพรหมจรรย์เท่านั้น หญิงที่แต่งงานแล้วจะไม่มีสิทธิ์ และเวลารำทั้งชายหญิงจะไม่สวมถุงเท้าหรือรองเท้า ที่สำคัญคือในขณะฟ้อนนั้น ฝ่ายชายจะถูกเนื้อต้องตัวฝ่ายหญิงไม่ได้เด็ดขาด มิฉะนั้นจะถือว่าผิดผี เพราะชาวภูไทนับถือผีบ้านผีเมือง ฝ่ายชายอาจจะถูกปรับไหมตามจารีตประเพณี
ชุดที่ 4 “รำหางนกยูง” ชุดนี้ถือกำเนิดมาแล้วประมาณ100 ปีเศษ เดิมใช้สำหรับรำบวงสรวงสักการะเจ้าพ่อหลักเมืองอันศักดิ์สิทธิ์ เพื่อประทานพรให้มีชัยชนะและแคล้วคลาดจากภยันตราย ในการเข้าแข่งขันชิงชัยต่างๆ โดยเฉพาะในการแข่งขันเรือยาวในเทศกาลเข้าพรรษา ปกติการรำนี้จะแสดงบนหัวเรือแข่ง หรือรำถวายหน้าศาลเจ้าพ่อหลักเมือง โดยท่ารำนี้ได้ดัดแปลงมาจากการรำไหว้ครูของนักรบ ก่อนออกศึกสงครามในสมัยก่อน ซึ่งเหล่านักรบจะร่ายรำอาวุธตามที่ตัวเองถนัดอาทิ รำดาบ รำกระบี่ กระบองเข้ากับจังหวะกลองยาว ภายหลังได้ดัดแปลงมาเป็นท่ารำหางนกยูงโดยใช้หางนกยูงแทนอาวุธ
ชุดที่ 5 “รำไทญ้อ” เป็นชนเผ่าที่มีถิ่นอาศัยอยู่ในเขต อ.ท่าอุเทน,นาหว้า,และโพนสวรรค์ โดยปกติการรำไทญ้อจะพบเห็นในเทศกาลสงกรานต์หรือเทศกาลที่สำคัญเท่านั้น เช่น เทศกาลสงกรานต์ชาวไทญ้ออำเภอท่าอุเทน ในตอนกลางวันจะมีพิธีสรงน้ำพระ โดยตั้งขบวนแห่จากคุ้มเหนือไปยังคุ้มใต้ลงมาตามลำดับ พอตอนพลบค่ำหนุ่มสาวจะจัดขบวนแห่ดอกไม้บูชาพระธาตุท่าอุเทน(พระธาตุประจำผู้เกิดวันศุกร์)โดยนำต้นดอกจำปา(ลั่นทม) ไปบูชาวัดต่างๆ เริ่มจากวัดใต้สุดไปหาวัดเหนือสุด เมื่อเสร็จพิธีแห่ดอกไม้บูชาองค์พระธาตุ ก็จะเป็นห้วงแห่งความสนุกสนานของหนุ่มๆสาวๆ จะมีการหยอกล้อเกี้ยวพาราสีซึ่งกันและกัน
ชุดที่ 6 “รำขันหมากเบ็ง” ซึ่งเป็นเครื่องบูชาชนิดหนึ่งของภาคอีสานคำว่า”เบ็ง” มาจาก”เบญจ” หมายถึงการบูชาพระเจ้า 5 พระองค์ คือ 1.พระกกุสันธะ 2.พระโกนาคมนะ 3.พระกัสสปะ 4.พระโคดม (คือพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน)และ 5.พระศรีอริยเมตไตรย
ลักษณะขันหมากเบ็งหรือ ขันหมากเบญจ์ คือพานพุ่มดอกไม้ที่ใช้เป็นพานพุ่มบูชาในพิธีกรรมและบูชาพระรัตนตรัยในวันอุโบสถ หรือวันสำคัญทางพระพุทธศาสนารวมทั้งการนำไปบูชาวิญญาณ บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว โดยนำไปวางไว้ตามเสารั้ววัด ซึ่งนิยมในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
สำหรับดอกไม้ซึ่งที่นิยมใช้เช่น “ดอกดาวเรือง” (จะทำให้เกิดความเจริญรุ่งเรือง)“ดอกสามปีบ่เหี่ยว(ดอกบานไม่รู้โรย)” เชื่อว่าจะทำให้อายุมั่น ขวัญยืน “ดอกรัก”(ทำให้เกิดความรัก) “ดอกบัว” (พระรัตนตรัย) โดยขันหมากเบ็งนี้ ชาวอีสานนิยมใช้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อ ด้วยเหตุนี้จึงได้นำมาประดิษฐ์เป็นท่าฟ้อนรำเพื่อบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ซึ่งการแสดงฟ้อนรำขันหมากเบ็ง มีความหมายถึงพญาทั้ง 5 แห่งอาณาจักรศรีโคตรบูร ที่ได้นำขันหมากเบ็งมาถวายองค์พระธาตุพนมนั่นเอง
และชุดที่ 7 ซึ่งเป็นชุดสุดท้ายเป็นการ”รำเซิ้งอีสาน” โดยรวบรวมเอาชุดรำทั้ง 6 ชุดผสมผสานมารวมกัน เป็นการจบอย่างยิ่งใหญ่อลังการ โดยเหล่านางรำทั้ง 8 ชนเผ่าจะร่วมรำกันอย่างสนุกสนาน เมื่อเพลงบรรเลงจบเหล่านางรำจะก้มกราบแทบพื้นนมัสการองค์พระธาตุพนม เรียกเสียงปรบมือจากนักท่องเที่ยวกึกก้อง
จากนั้นในค่ำคืนวันเดียวกัน ตั้งแต่เวลา 18.00 น.เป็นต้นไป บริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขง ถนนสุนทรวิจิตร เขตเทศบาลเมืองนครพนม จะเริ่มไหลเรือไฟหนึ่งเดียวในโลก โชว์ความสวยงามกลางสายน้ำโขง และใต้แสงจันทร์ในคืนเดือนหงาย การจราจรจะคับคั่งเพราะมีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาจำนวนมาก เส้นทางมุ่งสู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงติดขัดเป็นทางยาว แต่ไม่เป็นอุปสรรคในการสัญจร ซึ่งทางจังหวัดได้เตรียมสถานที่สำหรับจอดรถไว้หลายแห่ง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: