ในจังหวัดนครพนมมีทั้งคนไทยเชื้อสายเวียดนาม และชาวเวียดนามที่หนีภัยสงคราม นับถือศาสนาคริสต์ เป็นจำนวนมาก ส่วนหนึ่งก็นับถือศาสนาพุทธ แต่ขณะเดียวกันก็มีหลายครอบครัวที่นับถือทั้งสองศาสนา
ดังนั้น จึงมีหลุมฝังศพผู้นับถือศาสนาคริสต์อยู่หลายแห่ง ซึ่งในคัมภีร์ไบเบิล มีข้อความหลายตอน ที่ชี้ให้เห็นว่า พระเยซูและสาวกทั้งหลายของพระองค์ ตระหนักถึงการเกิดใหม่ มีอยู่ครั้งหนึ่งสาวกทั้งหลายได้ถามพระองค์เกี่ยวกับคำพยากรณ์ในพระคัมภีร์พันธสัญญาเก่าว่า “อีเลียส จะกลับมาเกิดในโลกนี้อีกจริงหรือ ” พระเยซูได้ตรัสตอบพวกเขาว่า “อีเลียสจะลงมาเกิดบนโลก และจะฟื้นฟูทุกอย่าง แต่ข้าอยากบอกพวกเจ้าให้รู้ไว้ว่า บัดนี้อีเลียสได้มาเกิดแล้ว” ซึ่งต่อมาสาวกทั้งหลายก็ทราบว่า กษัตริย์เฮร็อด คือศาสดาอีเลียสที่กลับชาติมาเกิดฯ ชนชาวคริสต์จึงมีความเชื่อว่าผู้ที่ล่วงลับจะฟื้นคืนชีพกลับมาใหม่อีกครั้ง
และมีคัมภีร์ที่กล่าวถึงเรื่องราวตามความเชื่อไว้ ดังนี้ “Hallow” แปลว่า “ผู้ศักดิ์สิทธิ์” หรือ “นักบุญ” (Saint) เป็นวันสำคัญทางคริสต์ศาสนาที่จัดเพื่อระลึกถึงดวงวิญญาณของผู้ศักดิ์สิทธิ์หรือนักบุญทั้งหลายเรียกว่า All Hallows’ Day หรือ All Saints’ Day ซึ่งตรงกับวันที่ 1 พฤศจิกายนของทุกปี โดยใช้วิธีการนับวันของชาวยิวและชาวเซลติค (Celtic) (ซึ่งเป็นคนท้องถิ่นของยุโรป จะนับวันใหม่ เริ่มตั้งแต่หลังพระอาทิตย์ตกดินเป็นต้นไป)
คืนที่ถือว่าเป็นวันใหม่ หรือ วันของเทศกาลนั้น จะใช้คำว่า Evening แปลว่าช่วงเย็นหรือช่วงค่ำ ต่อท้ายชื่อวันหรือเทศกาลลงไป เช่น Chrsitmas Evening หรือที่เรียกย่อสั้นๆ ว่าคริสต์มาสอีฟ (Christmas Eve) หมายถึง ช่วงค่ำที่เข้าสู่วันคริสต์มาส ในขณะที่ช่วงค่ำที่เข้าสู่วันระลึกถึงดวงวิญญาณของนักบุญทั้งหลาย จะถูกเรียกว่าคำว่า Hallows’ Evening หรือ Hallows’ Eve หรือ Halloween แบบที่คนทั่วไปคุ้นเคย
ข่าวน่าสนใจ:
ที่มาของ Halloween เริ่มต้นจากการที่คริสต์ศาสนาเข้ามาสู่วัฒนธรรมความเชื่อของชาวยุโรป และพวกเขาได้ดัดแปลงคติความเชื่อท้องถิ่น หรือที่เรียกกันว่า Paganism (ซึ่งมาจากรากศัพท์ละติน Paganus/Pagus ที่หมายถึง ท้องถิ่นหรือเขตชนบท) ให้เข้ากับศาสนาใหม่
ส่วนเทศกาล Lemuria(ลีมูเรีย) นั้น เป็นเทศกาลดั้งเดิมของชาวโรมัน จัดขึ้นเพื่อชำระล้างจิตวิญญาณของคนตาย กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 9,11,13 พฤษภาคมของทุกปี ต่อมาในช่วงปลายศตวรรษที่ 4 ชาวโรมันรับเอาคริสต์ศาสนาเข้าไปเป็นศาสนาประจำอาณาจักร ได้มีการนำความเชื่อแบบคริสต์ศาสนาไปสวมทับความเชื่อดั้งเดิม หรือที่เรียกเชิงวิชาการว่ากระบวนการทำให้เป็นคริสต์ศาสน (Christianization) คือสั่งสอนให้เป็นคริสต์ศาสนิกชน
จากนั้นก็กำหนดให้วันที่ 13 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันระลึกถึงบรรดานักบุญและมรณะสักขี/Martyr (ผู้ที่สละชีวิตเพื่อยืนยันความเชื่อ) และมาชัดเจนมากที่สุดก็เมื่อต้นศตวรรษที่ 7 ยุคพระสันตะปาปาโบนาฟาซิอุสที่ 4 โดยวันที่ 13 พฤษภาคมของทุกปี ท่านได้ทำพิธีระลึกถึงพระนางมารีและบรรดามรณะสักขีที่วิหารแพนธีฮัน(Pantheon)ที่แปลว่า“พระเจ้าทั้งหมด” ที่ตั้งอยู่ในกรุงโรม กระทำพิธีดังกล่าวยาวนานถึง 100 ปี
กระทั่งต้นศตวรรษที่ 8 พระสันตะปาปาเกรกอรี่อุสที่ 3(Gregorius III) ได้สร้างวัดน้อย (chapel=โบสถ์) ในวิหารเซนต์ปีเตอร์หลังแรก เพื่ออุทิศให้แก่นักบุญทั้งหลาย (All Saint) และให้มาทำพิธีกันในวันที่ 1 พฤศจิกายนของทุกปี แต่ทั้งนี้ก็ยังมีการจัดงานคู่กันไประหว่างวันระลึกถึงผู้ตายและวันนักบุญ
เมื่อย่างเข้าสู่ต้นศตวรรษที่ 9 พระสันตะปาปาเกรกอรี่อุสที่ 4 (Gregorius IV) ได้ประกาศให้ทำการเฉลิมฉลองเทศกาลที่ระลึกถึงนักบุญทั้งหลาย ในวันที่ 1 พฤศจิกายนอย่างเป็นทางการ ซึ่งยึดถือปฏิบัติมาจนทุกวันนี้
ในขณะที่พิธีระลึกถึงผู้ตาย (ที่ไม่ใช่นักบุญหรือผู้ศักดิ์สิทธิ์) ยังคงมีการปฏิบัติแยกกันไป โดยคริสตจักรตะวันออกยังคงจัดงานในช่วงเทศกาลมหาพรต (Lent) จนถึงวันพระจิต (Pentecost) โดยอยู่ในราวเดือนเมษายน-พฤษภาคม ในขณะที่คริสตจักรตะวันตก (ยุโรป) ได้จัดงานดังกล่าวในช่วงเดือนตุลาคม จนเมื่อเข้าศตวรรษที่ 11 นักบุญโอดิลโลแห่งครูนี่ (Saint Odilo of Cluny) แห่งคณะนักบวชนิกายเบเนดิกติน (Benedictine) ได้ให้อารามต่างๆ จัดพิธีระลึกถึงดวงวิญญาณของผู้ตายในวันที่ 2 พฤศจิกายน ต่อจากวันระลึกถึงดวงวิญญาณของนักบุญทั้งหลาย(วันที่ 1 พฤศจิกายน) ธรรมเนียมนี้จึงแพร่หลายในยุโรป และถูกปฏิบัติในวงกว้าง ซึ่งไม่เพียงแต่ในอารามของนักบวชนิกายเบเนดิกตินเท่านั้น
ดังนั้น การเปลี่ยนวันระลึกถึงนักบุญจากวันที่ 13 พฤษภาคม มาเป็นวันที่ 1 พฤศจิกายน ในคริสต์ศาสนานิกายตะวันตกนั้น ไปสัมพันธ์กับเทศกาลดั้งเดิมของชาวเซลติค โดยพวกเขามีเทศกาลประจำปีที่จัดขึ้นทุกวันที่ 31 ตุลาคมถึง 1 พฤศจิกายน ซึ่งก็คือ เทศกาล Samhain ที่ได้รับอิทธิพลมาจากชาวไอริชโบราณ ถือกันว่าเป็นวันสิ้นสุดของฤดูร้อน ทั้งยังถือกันว่าเป็นวันปีใหม่ของชาวเซลติคอีกด้วย
เมื่อคริสต์ศาสนาเข้าสู่ยุโรป จึงได้ทำการสวมทับความเชื่อใหม่ให้เข้ากับความเชื่อเดิม และพัฒนาปรับปรุงคติความเชื่อมาเรื่อย ๆ จนกลายมาเป็นเทศกาลที่ระลึกถึงดวงวิญญาณของผู้ศักดิ์สิทธิ์หรือนักบุญทั้งหลาย (All Saint Day) ในวันที่ 1 พฤศจิกายนของทุกปี และเป็นวันที่ระลึกถึงดวงวิญญาณของผู้ตาย (All Soul Day) ในวันที่ 2 พฤศจิกายนของทุกปี
ครั้นคริสต์ศาสนาแพร่เข้าสู่ทวีปอเมริกา ชาวยุโรปนักล่าอาณานิคมได้นำเอาความเชื่อดังกล่าวไปเผยแพร่ให้กับคนพื้นเมือง ในขณะที่คนพื้นเมืองในแถบอเมริกาใต้และอเมริกากลาง มีวันระลึกถึงผู้ตาย (Day of the Dead) ซึ่งจัดขึ้นช่วงก่อนเข้าสู่ฤดูร้อนของทุกปีอยู่แล้ว แต่เมื่อคริสต์ศาสนาเข้ามา ก็ได้เปลี่ยนให้วันระลึกถึงผู้ตายมาตรงกับเทศกาลทางคริสต์ศาสนา คือวันที่ 1-2 พฤศจิกายนของทุกปีแทน
ในวันดังกล่าวจึงกลายเป็นวันพบญาติ ครอบครัวที่อาจจะแยกกันอยู่ จะได้กลับมารวมหน้าพร้อมกัน เพื่อร่วมประกอบพิธีกรรมทางศาสนาในโบสถ์ของชุมชน และเพื่อทำการระลึกถึงดวงวิญญาณของญาติพี่น้องผู้ล่วงลับไปแล้วทุกคน เป็นวันหนึ่งที่ญาติพี่น้องจะได้มาพบปะกัน ร่วมสวดภาวนา พูดคุย และทานอาหารร่วมกัน ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับวันเช็งเม้งของชาวจีน แตกต่างกันตรงที่ชาวจีนประกอบพิธีในตอนกลางวัน ส่วนพิธีของชาวคริสต์จะประกอบพิธีกันในตอนกลางคืน
ในขณะที่ประเทศที่คริสต์ศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติหลายแห่ง ก็ประกาศให้วันสองวันนี้เป็นวันหยุดประจำปี ที่ญาติพี่น้องจะได้มาพบหน้ากันเพื่อระลึกถึงญาติพี่น้องหรือบรรพบุรุษที่เสียชีวิตไปแล้ว
ส่วนในประเทศไทยนั้น ชุมชนชาวคริสต์เรียกวันนี้ว่า “เสกสุสาน” หรือ “เสกป่าช้า” ซึ่งเป็นวันที่ญาติพี่น้องจะมาระลึกถึงผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ในวันดังกล่าวที่วัดจะมีพิธีมิสซาระลึกถึงผู้ตาย โดยชาวบ้านจะมารวมตัวกันตั้งแต่เช้า เพื่อมาทำความสะอาดสุสานก่อนเริ่มพิธีมิสซา โดยตั้งพระแท่นบริเวณกางเขนประจำสุสาน เมื่อพิธีเสร็จสิ้นลงก็จะเป็นการเสกสุสาน สำหรับรูปแบบการใช้สอยพื้นที่ว่างของสุสานนั้น ชาวบ้านจะปูเสื่อนั่งพื้น โดยจะนั่งรวมกลุ่มกันเป็นครอบครัว
ฉะนั้น พื้นที่สุสานตามปกติจะเงียบสงบและวังเวง ได้กลายเป็นพื้นที่ซึ่งผู้คนมารวมตัวกันอย่างคึกคัก ในแง่ของการใช้พื้นที่ใช้สอยที่ว่าง พิธีเสกสุสานได้เปลี่ยนสภาพของสุสานจากพื้นที่แห่งความเงียบ ความตายและการพลัดพราก ให้กลายเป็นพื้นที่แห่งปฏิสัมพันธ์ของบรรดาคริสตชน และเมื่อเสร็จสิ้นพิธีสุสานก็จะเปลี่ยนสภาพกลับกลายเป็นพื้นที่แห่งความเงียบและการพลัดพรากอีกครั้ง
ในด้านมิติทางวัฒนธรรม ชาวบ้านนิยมนำสิ่งของมาทำบุญถวายวัดกันเป็นจำนวนมาก สอดคล้องกับวัฒนธรรมและคติความเชื่อของชาวไทยตั้งแต่โบราณ ในเรื่องการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรดาผู้ตาย คติความเชื่อดังกล่าวได้เข้ามาผสมผสานกับเนื้อแท้ของพิธีเสกสุสาน ซึ่งก็คือ”การระลึกถึงผู้ตายและการสวดวิงวอนเพื่ออุทิศแก่วิญญาณในไฟชำระ” ส่งผลให้เกิดธรรมเนียมปฏิบัติที่บรรดาญาติของผู้ตายจำนวนมาก ได้นำสิ่งของมาถวายวัด เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับบรรดาวิญญาณในไฟชำระเหล่านั้น
นอกจากนำสิ่งของมาทำบุญถวายวัดแล้ว ชาวบ้านยังนิยมนำธูป เทียน และดอกไม้มาใช้สื่อสาร และแสดงความเคารพต่อผู้ตาย ซึ่งลักษณะดังกล่าวสอดคล้องกับวัฒนธรรมของชาวไทยพุทธและชาวตะวันออก ที่นิยมใช้สิ่งของเหล่านั้นในการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์และติดต่อกับวิญญาณ จะเห็นได้ว่าภายในสุสานแทบทุกหลุมฝังศพจะมีเทียนปักอยู่ และควันธูปลอยคละคลุ้งทั่วอาณาบริเวณ ทำให้มิติทางบรรยากาศที่เกิดขึ้นในระหว่างการเสกสุสาน คล้ายคลึงกับพิธีเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และผู้ตายในวัฒนธรรมท้องถิ่นทั้งชาวไทยพุทธ พราหมณ์ ชาวไทยเชื้อสายจีน และวัฒนธรรมอื่นๆในทางตะวันออก ในขณะเดียวกันควันธูปที่ตลบอบอวลเหล่านั้นก็ไปสอดคล้องกับคติความเชื่อดั้งเดิมของพิธีกรรมที่ต้องการสร้างบรรยากาศอันเลือนราง เพื่อทำให้มิติของผู้เป็นและผู้ตายได้มาบรรจบลง ณ สถานที่แห่งนั้น
ในด้านมิติทางสุนทรีภาพนั้นอาจกล่าวได้ว่า วัฒนธรรมท้องถิ่นได้เข้ามามีอิทธิพลต่อการสร้างรูปแบบ ประเพณีและธรรมเนียมปฏิบัติที่เกิดขึ้นในระหว่างพิธีเสกสุสานให้ปรากฏขึ้น ทั้งการใช้สถูปเป็นที่เก็บอัฐิของผู้ตาย การที่สถูปหรือหลุมฝังศพอยู่ใต้ต้นไม้ที่ให้ร่มเงา การใช้ควันธูปในการสร้างปริมณฑลแห่งความศักดิ์สิทธิ์ การครอบครองพื้นที่ว่างด้วยการปูเสื่อนั่งพื้นตามแบบวัฒนธรรมท้องถิ่น คติความเชื่อเรื่องการทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่บรรดาผู้ตาย การใช้ดอกไม้ธูปเทียนตามแบบวัฒนธรรมไทยเพื่อสื่อสารและแสดงความเคารพต่อผู้ตายทั้งหมดนี้ ล้วนแสดงให้เห็นถึงการนำรูปแบบ และคติความเชื่อในวัฒนธรรมไทยมาปรับปรุงใช้กับพิธีกรรม และข้อความเชื่อแบบคาทอลิก ทำให้คุณลักษณะทางสุนทรีภาพที่เกิดขึ้นในสุสาน มีลักษณะเฉพาะตัวอันเป็นเอกลักษณ์
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: