X

นักวิ่งน่องเหล็กกว่า 7,000 ชีวิต ร่วมกิจกรรม เดิน – วิ่ง ข้ามโขง “นครพนม – คำม่วน” มาราธอน 2019

นครพนม – วันที่ 10 พฤศจิกายน 2562 ที่บริเวณสะพานมิตรภาพแห่งที่ 3 ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม ซึ่งเป็นจุดสตาร์ทการแข่งขันเดิน – วิ่ง ข้ามโขง “นครพนม – คำม่วน” มาราธอน 2019 บรรยากาศเป็นไปด้วยความคึกคักของนักกีฬากว่า 7,000 ชีวิต ที่เดินทางมาร่วมกิจกรรมที่จังหวัดนครพนมร่วมกับมูลนิธิศรีโคตรบูรจัดขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนทุกเพศทุกวัยได้มีการตื่นตัวในการออกกำลังกายและเล่นกีฬาอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ทุกคนได้มีประสบการณ์ในการวิ่งมาราธอน ทั้งเป็นการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของจังหวัดให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น โดยรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายจะนำไปสนับสนุนมูลนิธิศรีโคตรบูรเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเยาวชน ประชาชน ผู้สูงอายุ และผู้บกพร่องทางร่างกาย ให้มีสุขภาพพลานามัยที่แข็งแรงสมบูรณ์ และสนับสนุนโรงพยาบาลนครพนมในการจัดหาวัสดุ อุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์มาบริการประชาชน

โดยสนามแข่งขันในครั้งนี้ได้รับการรับรองมาตรฐานจากสหพันธ์กรีฑาเอเซีย [Asian Athletics Association -AAA] แบ่งการแข่งขันออกเป็น 4 ประเภท ประกอบไปด้วย ประเภท Marathon ระยะทาง 42.195 กิโลเมตร Half Marathon ระยะทาง 20.10 กิโลเมตร Mini Marathon ระยะทาง 10 กิโลเมตร และประเภท Fun Run ระยะทาง 5 กิโลเมตร ซึ่งการปล่อยตัวเริ่มขึ้นในเวลา 4.00 น. เรื่อยมาตามลำดับ โดยมีนายศุภชัย โพธิ์สุข  รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 พร้อมด้วย พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว  สมาชิกวุฒิสภา นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม นางวิไลวรรณ ไกรโสดา รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม และคณะกรรมการจัดงานร่วมปล่อยตัว ทั้งนี้ทุกประเภทการแข่งขันนักกีฬาทุกคนจะได้ข้ามสะพานมิตรภาพแห่งที่ 3 ไปยังแขวงคำม่วน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ก่อนจะเลี้ยวกลับมาเข้าสู่เส้นทางการแข่งขันของแต่ละประเภท ที่เป็นการเดิน – วิ่งเลียบริมฝั่งแม่น้ำโขงทั้งขาไปและกลับเพื่อสัมผัสกับธรรมชาติที่สวยงามและอากาศที่บริสุทธิ์ รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ ที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดนครพนม ไม่ว่าจะเป็น เส้นทางจักรยานที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ลอดอุโมงค์นาคราช ผ่านวัดนักบุญอันนาหนองแสง ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งโบสถ์คริสต์ที่มีความเก่าแก่สวยงามแห่งหนึ่งในจังหวัดนครพนม พิพิธภัณฑ์จวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมหลังเก่าที่เป็นอาคารสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกได้รับอิทธิพลและรูปแบบการก่อสร้างจากฝรั่งเศสช่วงสมัยสงครามอินโดจีน หอนาฬิกาเวียดนามอนุสรณ์ที่เป็นสัญลักษณ์แห่งความผูกพันที่ชาวเวียดนามสร้างขึ้นไว้เป็นที่ระลึกก่อนย้ายกลับประเทศตามประธานโฮจิมินห์หลังชนะสงครามภายในประเทศ เมื่อครั้งฝรั่งเศสพ่ายแพ้ในสงครามเดียนเบียนฟู  และองค์พญาศรีสัตตนาคราช ที่เป็นตำนานความเชื่อเกี่ยวกับองค์พญานาคที่คอยปกป้องคุ้มครองคนในแถบลุ่มน้ำโขงและองค์พระธาตุพนม

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน