เผยไม่ใช่เตะถ่วง ไม่ใช้เป็นเครื่องมือ แต่ทำหน้าที่ตัวแทนปวงชนชาวไทย ในฐานะพ่อแม่ที่ห่วงอนาคตของชาติ ต้องการนำข้อเสนอ นศ. ไปสู่การแก้ไขปัญหา
เมื่อวันที่ 23 ก.ค.2563 นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.จังหวัดตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ลุกขึ้นชี้แจงภายหลังการลงมติในญัตติที่ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้ง กมธ.วิสามัญ เพื่อพิจารณาเปิดพื้นที่รับฟังความคิดเห็นนักเรียน นิสิต นักศึกษา และสามารถมีส่วนร่วมโดยตรงกับสภาผู้แทนราษฎร ในการแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคมว่า
จากการที่ ส.ส. ฝ่ายค้านได้ให้ความเห็นในลักษณะที่คิดว่า ถ้าคนที่ลงมติให้ตั้ง กมธ. วิสามัญ ไม่ลุกขึ้นชี้แจง ก็จะทำให้เกิดความเข้าใจผิด และสร้างความเสียหายได้ ซึ่ง ส.ส. ฝ่ายค้านระบุว่าการตั้ง กมธ.วิสามัญต่อญัตติในเรื่องการรับฟังความเห็นของนิสิต นักศึกษาที่ชุมนุมนั้น เสมือนกับการใช้สภาเป็นเครื่องมือเล่นการเมืองให้กับรัฐบาล ในเรื่องนี้ นายสาทิตย์ กล่าวว่า การตั้ง กมธ.วิสามัญ โดยญัตติของ ดร.อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคประชาธิปัตย์นั้น เป็นญัตติที่ได้ยื่นไว้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ในช่วงเวลานั้นสถานการณ์ต่างๆ ยังไม่ถึงขนาดนี้ แต่เมื่อมีสถานการณ์นี้เกิดขึ้น ญัตตินี้จึงเป็นญัตติหนึ่งที่ถูกนำมารวมกับญัตติอื่นที่มีทั้ง ส.ส. ฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาล ได้เสนอเข้าสู่สภา
ประเด็นการอภิปรายของ ส.ส. ตลอดระยะเวลา 2 วันที่ผ่านมา พบว่าตรงกัน 1. ยอมรับในพลังที่บริสุทธิ์ของนักเรียน นักศึกษา 2. ยอมรับว่าการชุมนุมนั้นเป็นสิทธิ์ตาม รธน. และ กฎหมาย ตราบเท่าที่ยังอยู่ใน รธน. และกฎหมาย แต่ประเด็นที่ได้ถกเถียงและมีความเห็นต่างคือ สภานี้ ควรมีบทบาทอย่างไรหรือไม่ ต่อการชุมนุมที่เกิดขึ้นของนิสิต นักศึกษา ฝ่ายหนึ่งมีความเห็นว่าให้ส่งความเห็นนักเรียน นิสิต นักศึกษา ตรงไปยังรัฐบาล ซึ่งก็ไม่ผิด แต่อีกฝ่ายหนึ่งมีความเห็นว่าควรตั้ง กมธ.วิสามัญขึ้น เพื่อติดตามรับฟัง กำหนดรูปแบบที่หลากหลายให้เกิดขึ้น
“ซึ่งตรงนี้ทางฝ่ายกระผมได้ชี้แจงแล้วว่า การตั้ง กมธ. วิสามัญดังกล่าวเป็นการยืนยันบทบาทของฝ่ายนิติบัญญัติว่าเป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทยอย่างแท้จริง เพราะเราจะไม่ยืนดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นข้างนอก แล้วทำตัวเสมือนคนเชียร์มวย เหมือนที่สมาชิกบางคนบอกว่า นักศึกษาลุกขึ้นประท้วงนี้ มวยถูกคู่แล้ว ระหว่างนักศึกษากับรัฐบาล ผมได้ชี้แจงในที่ประชุมแห่งนี้ว่า ทันทีที่เห็นนิสิต นักศึกษาชุมนุมนั้น ใบหน้าแรกที่ลอยลงมาเลย เรานึกถึงลูกของเรา หลานของเรา ทุกคนในสภานี้จำนวนมาก เหมือนกับพี่น้องประชาชนทั่วไปที่มีลูกหลาน เหตุการณ์การชุมนุมนี้แม้ว่าจะเป็นสิทธิ์ตาม รธน. แต่โอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นได้ ดังนั้นถ้าสภาจะมีบทบาทเปิดพื้นที่ขึ้นมา การตั้ง กมธ. วิสามัญนี้ ไม่ได้ไปตัดสิทธิ์การชุมนุมของนักเรียน นิสิต นักศึกษา เขาสามารถชุมนุมต่อไปได้ตามสิทธิ ตามกรอบของ รธน. และกฎหมาย เพียงแต่ กมธ. ชุดนี้ มีหน้าที่ไปติดตามรับฟัง ผมไม่คิดว่าข้อเสนอที่มีมันจบเพียงเท่านี้ ข้อเสนออาจจะมีมากกว่านี้ การชุมนุมไม่ได้จบเพียงแค่นี้ แต่อย่างน้อยที่สุด สภานี้ได้ทำหน้าที่ในฐานะปวงชนชาวไทย ดูแลข้อเสนอลูกหลานของเราส่งตรงไปยังรัฐบาล”
นายสาทิตย์ กล่าวว่า ข้อเสนอจากนิสิต นักศึกษานั้นสามารถส่งเมื่อใดก็ได้ กรรมาธิการอาจประชุมวันพรุ่งนี้ แล้วรวบรวมสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้ว ส่งตรงไปยังรัฐบาลทันทีเดี๋ยวนั้นก็ได้ ไม่ใช่เป็นเรื่องเกมการเมือง ถ่วงรั้งการชุมนุมของนิสิต นักศึกษาแต่ประการใด
“เหตุผลที่เสนอให้มี กมธ.วิสามัญ นี้ เพราะคิดว่า เราคงไม่อาจยืนเฉยๆ หรือเพียงแต่มาอภิปรายในสภานี้ แล้วหยิบยกเอากรณีของนักศึกษาขึ้นมา เพียงเพื่อหยิบเอากรณีนี้ไปกล่าวโจมตีรัฐบาล หรือไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลเพียงเพื่อว่านักศึกษาได้ทำหน้าที่นั้นแล้ว เสมือนกับหยิบยืมเอาพลังนักศึกษาเคลื่อนไปกระแทกฝั่งการเมืองที่มีความคิดเห็นตรงข้ามกับตนเท่านั้น แต่ ส.ส. ในสภานี้ควรต้องทำหน้าที่มากกว่านั้น การเปิดพื้นที่นี้ เป็นเพียงพื้นที่หนึ่ง ซึ่งผมเชื่อว่ามีอีกหลายพื้นที่ซึ่งต้องทำร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชน องค์กรอื่นๆ ซึ่งต้องทำหน้าที่นี้อีกในอนาคต เป้าหมายสูงสุดก็เพื่อรักษา ถนอมลูกหลานของเราที่เขามีจิตเจตนาดี ปรารถนาดีต่อบ้านเมือง เอาความคิดความเห็นเขาทั้งหลาย กลั่นกรองเสนอไปยังคนที่มีหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการให้เกิดเป็นมรรคเป็นผลเป็นประโยชน์กับประเทศของเรา”
“การเสนอตั้ง กมธ.วิสามัญ ไม่ใช่เป็นการเตะถ่วง ไม่ใช่เป็นเครื่องมือ แต่เป็นการเปิดพื้นที่ทำหน้าที่ในฐานะตัวแทนของปวงชนชาวไทย ในฐานะพ่อแม่ที่มีลูกมีหลาน ในฐานะของคนที่เป็นห่วงอนาคตของชาติ และนำข้อเสนอนี้ไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด”
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: