ซัด “ปิยบุตร” ปลุกการปฏิวัติ ต้องการเปลี่ยนแปลงอะไร?
น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ อดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม.เขตจอมทอง-ธนบุรี กล่าวถึงกรณีที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรลงมติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จำนวน 39 คน ระยะเวลาทำงาน 90 วัน เพื่อรับฟังความเห็นเยาวชนซึ่งเป็นไปตามข้อเสนอของ ส.ส. รัฐบาล ที่ให้ใช้ “เวทีสภาแก้ปัญหา” หลังเกิดการชุมนุมของเครือข่ายนักศึกษาเพื่อต่อต้านรัฐบาลในหลายพื้นที่ทั่วประเทศนั้น ถือว่าเป็น “ความจริงใจ ตรงประเด็น มีความชอบธรรม” ในการรับฟังความคิดเห็นของเยาวชนทุกกลุ่ม ทุกที่ ให้ถูกต้องของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงขอเชิญชวนเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะต่อ กมธ. ชุดดังกล่าว ทั้งนี้จะมีการรับฟังไปทั่วประเทศ “ตรงส่วนไหน ที่ไหน ที่จะเสนอพื้นที่มาเพิ่มเติมก็สามารถทำได้” จะไม่มีการริดรอนสิทธิในการเสนอ เพื่อเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกอย่างงดงามตามวิถีแห่งประชาธิปไตย
น.ส. ทิพานัน กล่าวว่า ในกรณีที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้าและอดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กเกี่ยวกับ ห้วงเวลาปฏิวัติ ว่า ประชาชนมีภารกิจร่วมกันในการปฏิวัติที่เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างถึงรากนั้น เมื่อไปดูกลุ่มคณะทำงาน “ผู้มีความคิดอุดมการณ์ร่วมกันกับนายปิยบุตร” ที่เคยให้นิยามความหมายดังกล่าว เช่น นายชำนาญ จันทร์เรือง กรรรมการบริหารคณะก้าวหน้าและอดีตรองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ พบว่า ในปี 2549 เคยอธิบายความหมายในบทความ ปฏิวัติ รัฐประหาร หรือกบฏ ว่า “การปฏิวัติ (revolution) หมายถึง “การใช้ความรุนแรงทางการเมือง” เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างเบ็ดเสร็จ โดยมีวัตถุประสงค์อยู่ที่การเปลี่ยนแปลงการเมืองการปกครอง อุดมการณ์ทางการเมือง วัฒนธรรม วิถีชีวิต ระบบเศรษฐกิจ ความเชื่อทางศาสนา และระบบสังคมโดยรวม ตัวอย่างของการปฏิวัติที่ผ่านมาก็คือการปฏิวัติเมื่อ 24 มิถุนายน 2475“
ดังนั้น การที่นายปิยบุตร โพสต์เช่นนี้เป็นการกระทำที่ควรหรือไม่ในห้วงเวลานี้ บ้านเมืองเรากำลังเดินหน้าไปในทิศทางแห่งประชาธิปไตย ประชาชนกำลังต้องการให้แก้ปัญหาปากท้อง ทุกพรรคการเมือง ข้าราชการ และเอกชน กำลังเดินหน้าต่อสู่กับพิษโควิด 19 ที่กำลังเผชิญเพื่อให้ประชาชนอยู่ดีกินดี ทั้งนี้แม้มีความคิดเห็นที่แตกต่าง เราก็ควรใช้หลักประชาธิปไตย เฉกเช่นที่นายปิยบุตร ถือคัมภีร์ประชาธิปไตย คำภีร์กฎหมายอยู่มิใช่ หรือ? และสิ่งหนึ่งที่นายปิยบุตรควรรู้ คือ “ที่นี่คือประเทศไทย” ดังนั้นจึงควรอธิบายอย่างลูกผู้ชายให้ชัดเจนว่า “นายปิยบุตรต้องการเปลี่ยนแปลงอะไร?” สังคมได้รับรู้และตัดสินใจ และเข้าใจว่า มีจุดประสงค์เจตนาใดในการเผยแพร่ข้อความดังกล่าว น.ส. ทิพานัน กล่าว
ข่าวน่าสนใจ:
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: