สระแก้ว – กองคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ กรมทรัพยากรธรณี เดินทางลงพื้นที่อำเภอเขาฉกรรจ์ จังหวัดสระแก้ว หลังชาวบ้านพบซากฟอสซิลดึกดำบรรพ์ในสวนปาล์ม ระบุพื้นที่ จ.สระแก้ว เคยเป็นทะเลมาก่อน ซากฟอสซิลที่พบเป็นไคนอยด์หรือพลับพลึงทะเล สัตว์ทะเลที่ไม่ใช่พืช อายุประมาณ 285-250 ล้านปี เตรียมหาแนวทางในการพัฒนาเป็นแหล่งพบซากดึกดำบรรพ์แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.62 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางธัญญธร โทนรัตน์ นักธรณีวิทยาชำนาญการพิเศษ กองคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย นายธีรพล ศรีโมรา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสระแก้ว และเจ้าหน้าที่กองคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ เดินทางลงพื้นที่หมู่ 1 ตำบลพระเพลิง อำเภอเขาฉกรรจ์ จังหวัดสระแก้ว ภายหลังชาวบ้านในพื้นที่พบซากฟอสซิลโบราณภายในสวนปาล์ม ลักษณะคล้ายตัวหนอนหรือสัตว์ทะเลดึกดำบรรพ์ และมีการเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดียจนปรากฏเป็นข่าวฮือฮาของคนในพื้นที่ จ.สระแก้ว
ข่าวน่าสนใจ:
นางธัญญธร ระบุด้วยว่า จ.สระแก้ว เคยเป็นพื้นใต้ท้องทะเลมาก่อน หลังจากเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบซากดึกดําบรรพ์ที่ชาวบ้านพบเป็นไคนอยด์หรือพลับพลึงทะเล ซึ่งเป็นสัตว์ทะเลชนิดหนึ่งที่ไม่ใช่พืช ลักษณะคล้ายต้นมะพร้าว อายุประมาณ 285-250 ล้านปีก่อน หลังจากเจ้าหน้าที่ได้มีการประเมินการกระจายตัวของซากดึกดำบรรพ์และความหนาแน่นของซากดังกล่าวในพื้นที่ว่า จะเข้าเกณฑ์ 6 ข้อ ตามกฎหมายหรือไม่ เพื่อประกาศขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ซากดึกดำบรรพ์ หรือประกาศเป็นเขตศึกษาวิจัย ซึ่งจากการตรวจสอบยังไม่เข้าเกณฑ์ที่จะต้องมีการกันพื้นที่เพื่อประกาศเขตพื้นที่ แต่ทางผู้ครอบครองและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถดำเนินการเพื่อพัฒนาเป็นศูนย์การเรียนรู้และศึกษาวิจัยซากดึกดำบรรพ์ต่อไปได้
ทางด้าน นายธีรพล ศรีโมรา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสระแก้ว เปิดเผยว่า ภายหลังไปร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริงกับเจ้าหน้าที่จากกรมทรัพยากรธรณีและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น กรณีชาวบ้าน ต.พระเพลิง อ.เขาฉกรรจ์ จ.สระแก้ว พบซากดึกดำบรรพ์ในไร่ของตนเอง พบว่าเป็นซากดึกดำบรรพ์จริง ฝังอยู่ในก้อนหินปูนบริเวณไร่สวนของชาวบ้าน โดยพบกระจัดกระจายอยู่ทั่วเป็นบริเวณกว้าง เป็นซากพลับพลึงทะเล (Crinoid) โดยส่วนใหญ่มีซากหอยสองฝาบางส่วน เจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรธรณีจึงได้ให้คำแนะนำในการปฏิบัติเบื้องต้นต่อเจ้าของพื้นที่และจะได้มีการศึกษาต่อไป รวมทั้งให้แนวทางในการพัฒนาแหล่งพบซากดึกดำบรรพ์แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งทาง ทสจ.จะได้นำข้อมูลดังกล่าวเสนอต่อ นายวรพันธ์ สุวัณณุสส์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว เพื่อพิจารณาดำเนินการด้วย
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับกฎเกณฑ์การคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ และแหล่งพบซากดึกดำบรรพ์นั้น เจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการเมื่อพบสิ่งที่เชื่อว่าเป็นซากดึกดำบรรพ์ คือให้ผู้พบแจ้งเจ้าพนักงานท้องถิ่น ภายใน 7 วันนับจากวันที่พบ หลังจากนั้นเจ้าพนักงานท้องถิ่นจะจัดทำป้ายประกาศและกันเขตพื้นที่ และรายงานอธิบดีกรมทรัพยากรธรณีหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ภายใน 7 วัน นับจากวันที่ได้รับแจ้ง กรมทรัพยากรธรณีจะเข้าตรวจสอบเบื้องต้นให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน นับจากวันที่ได้รับรายงาน หลังจากนั้นกรมทรัพยากรจะเข้าตรวจสอบพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น โดยหากผลการตรวจสอบ พบว่า ไม่เป็นซากดึกดำบรรพ์ จะมีการแจ้งผลการตรวจสอบแก่เจ้าพนักงานท้องถิ่น และยกเลิกการกันพื้นที่ แต่หากพบว่าเป็นซากดึกดำบรรพ์ และเข้าหลักเกณฑ์ที่จะต้องดำเนินการตามมาตรา 12 มาตรา 14 หรือมาตรา 26 จะต้องมีการประกาศเป็นเขตสำรวจและศึกษาวิจัยเกี่ยวกับแหล่งซากดึกดำบรรพ์หรือซากดึกดำบรรพ์ ประกาศเป็นซากดึกดำบรรพ์ที่ขึ้นทะเบียนและประกาศเป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ที่ขึ้นทะเบียนต่อไป ซึ่งหากไม่มีการปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนดหรือฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่น จะต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท
อย่างไรก็ตาม สำหรับ พ.ร.บ.คุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ.2551 คุ้มครองมรดกของแผ่นดิน ซึ่งประกาศตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2551 เพื่อป้องกันปัญหาจากเดิมที่ประเทศไทยไม่มีกฎหมายคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์โดยเฉพาะ ทำให้เกิดการลักลอบขุดค้นหรือขุดค้นโดยไม่ถูกหลักวิชาการ หรือนำไปค้าขายทำให้ซากดึกดำบรรพ์ ซึ่งเป็นมรดกของแผ่นดินเสียหาย โดยกรณีของซากดึกดำบรรพ์ที่พบในพื้นที่หมู่ 1 ตำบลพระเพลิง อำเภอเขาฉกรรจ์ จังหวัดสระแก้วนั้น ได้รับการยืนยันแล้วว่า เป็นพลับพลึงทะเลหรือไคนอยด์ ซึ่งเป็นสัตว์ทะเลไม่ใช่พืช มีอายุประมาณ 285 ล้านปีก่อนหรือยุคออร์โดวิเชียนจนถึงปัจจุบัน
——————————
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: