X

เปิดเส้นทางข้าวเปลือกเขมรทะลักเข้าไทย

สระแก้ว – ปัจจุบันเส้นทางขบวนการลักลอบนำข้าวเปลือกจากประเทศกัมพูชาเข้ามาในประเทศไทยโดยผิดกฎหมาย ยังมีช่องโหว่หลายอย่าง ที่นายทุนและคนพื้นที่สามารถทำกันได้ตลอดทั้งปีโดยไม่ถูกดำเนินคดี และมีเส้นทางการจ่ายส่วยให้กับเจ้าหน้าที่ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกจับกุม ทั้งเจ้าหน้าที่ฝั่งกัมพูชาและไทยจำนวนหลายพันบาทต่อการลักลอบขนข้าวเปลือกแต่ละเที่ยว แต่เมื่อถูกจับกุม ส่วนใหญ่มีขั้นตอนดำเนินการแค่การยึดข้าวของกลางส่งศุลกากร ประกันรถที่กระทำความผิดออกมาโดยไม่มีการส่งฟ้องในชั้นศาล ทำให้ผู้กระทำผิดสามารถกลับมาทำความผิดได้อีก

เหตุการณ์เทข้าวเปลือกสัญชาติกัมพูชา จำนวน 28 ตัน บนถนนสาธารณะบ้านคลองแผง ต.ทัพเสด็จ อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว เมื่อกลางดึกวันที่ 9 ธ.ค.ที่ผ่านมา เกิดขึ้นหลังกลุ่มนายทุนและพ่อค้าข้าวชาวไทย ถูกเจ้าหน้าที่หน่วยทหารชุดเฉพาะกิจตาพระยา กองกำลังบูรพา อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว สกัดจับกุมพร้อมรถยนต์ที่ใช้บรรทุกข้าว รวม 7 คัน ซึ่งมีการถกเถียงกันอย่างรุนแรงระหว่างเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมกับกลุ่มนายทุนและพ่อค้าข้าวชาวไทยว่า เหตุใดจึงมีการจับกุมทั้งที่มีการจ่ายค่าผ่านทางให้กับเจ้าหน้าที่แล้ว สุดท้ายกรณีดังกล่าวจบลงด้วยการทำบันทึกจับกุม พร้อมยึดข้าวเปลือก จำนวน 28 ตัน ส่งให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรดำเนินการ ส่วนรถที่ใช้กระทำความผิดถูกยึดมาเก็บไว้ตรวจสอบที่หน่วย ฉก.ตาพระยา เพื่อให้เจ้าของสามารถมาขอรับคืนได้หลังจากจับกุม 3 วัน

ส่วนแนวทางปฏิบัติด้านคดีที่ผ่านมา กรณีมีการจับกุมผู้ลักลอบนำข้าวผิดกฎหมายเข้าประเทศ โดยหน่วยงานชุดจับกุมจะทำบันทึกและนำของกลางทั้งรถยนต์และข้าวเปลือกส่งให้สถานีตำรวจในพื้นที่ดำเนินการ โดยส่วนใหญ่ตำรวจจะให้ลงบันทึกประจำวัน พร้อมส่งข้าวเปลือกส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดให้กับเจ้าหน้าที่ศุลกากร ส่วนรถยนต์ที่ใช้ลักลอบขนข้าว ตำรวจจะให้เจ้าของประกันรถออกไปในราคาตั้งแต่ 20,000-50,000 บาท โดยไม่ได้มีการส่งสำนวนฟ้องร้องผู้กระทำผิดต่อศาล ทำให้กระบวนการทั้งหมดจบลงที่ชั้นพนักงานสอบสวน ผู้ลักลอบจึงเสียเพียงข้าวของกลางและเงินประกันรถ สามารถกลับไปประกอบกิจการลักษณะดังกล่าวได้อีก ฉะนั้น การจ่ายส่วยเพื่อเป็นใบเบิกทาง จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุดของกลุ่มลักลอบนำข้าวกัมพูชาเข้าประเทศ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกจับกุมระหว่างนำข้ามแดนเข้าประเทศไทย

ผู้กว้างขวางในวงการนำเข้าข้าวกัมพูชาในพื้นที่ อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว เปิดเผยเส้นทางการจ่ายส่วยให้กับเจ้าหน้าที่ และสนนราคาแต่ละจุดว่า การลักลอบนำเข้าโดยชาวบ้านในลักษณะมดงานด้วยรถไถอีแต๊ก บรรทุกได้ 2-2.5 ตัน เมื่อเข้าไปในฝั่งกัมพูชา จะเสียค่าใช้จ่ายให้ด่านเขมร 200 บาท/คัน จ่ายให้เจ้าหน้าที่ไทยตามแนวชายแดน 500 บาท/คัน ท้องที่ 300 บาท/คัน ส่วนปิกอัพ บรรทุกได้ 3-4 ตัน หรือพ่วงรถทางการเกษตร จ่ายให้ด่านเขมร 350 บาท, เจ้าหน้าที่ไทยตามแนวชายแดน 500 บาท/คัน และท้องที่ 300-500 บาท ขณะที่รถยนต์ขนาดใหญ่ อาทิ รถพ่วงขนาด 10 ตันขึ้นไป จ่ายให้ด่านเขมร 700-900 บาท และจ่ายให้เจ้าหน้าที่ไทยตามแนวชายแดน 5,000 บาท/คัน ท้องที่คันละ 1,500-2,000 บาท/คัน เป็นต้น ส่วนหัวหน้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ท้องที่และหน่วยด้านความมั่นคงตามแนวชายแดน จะมีการรวบรวมเงินเพื่อจ่ายให้เป็นรายเดือน เช่นกัน

แหล่งข่าวรายเดิม เปิดเผยด้วยว่า บริเวณพื้นที่แนวชายแดนด้าน อ.ตาพระยา ตั้งแต่จุด ต.03-ต.04 บ้านทับทิมสยาม03 มีระดับรอง ชื่อย่อ จ. เป็นคนรับเคลียร์ หัวหน้าทีมแต่ละกลุ่มจะเป็นคนติดต่อและแจ้งว่า จะการนำรถเข้าไปทั้งกลางวันและกลางคืน หากเข้าไปช่วงเช้าจะออกมาในช่วงบ่ายและเย็น แต่หากเข้าไปช่วยบ่ายจะนำข้าวออกมาในช่วงเวลาค่ำและหลังเที่ยงคืน ส่วนเส้นทางและจุดที่มีการนำเข้าของนายทุนรายใหญ่ อยู่ตั้งแต่จุด ต.05-ต.08 ช่องสะแง๋ ต.ทัพเสด็จ และบ้านทัพเซียม ต.ตาพระยา เรื่อยไปจนถึง อ.โคกสูง มีนายทุนรายใหญ่ อาทิ เจ๊ ก. เป็นผู้ค้ารายใหญ่ บ้านเชียงดำ ,อดีตผู้ใหญ่นำหมู่บ้าน นาย ม. และนาง ม. บ้านคลองแผง มีการจัดสรรช่องทางพื้นที่เข้า-ออก เพื่อนำข้าวเข้าลานขนาดใหญ่ในเครือข่ายของตนเองกันอย่างชัดเจน ซึ่งบางช่วงระหว่างจุดตรวจหนึ่งไปอีกจุดตรวจหนึ่ง มีช่องทางธรรมชาติที่สามารถนำข้าวเปลือกเข้าได้มากถึง 3 จุด ซึ่งนายทุนมีการทำรั้ว และทำประตูปิด-เปิด เข้าออกเป็นของตนเองตามแนวชายแดน บริเวณใกล้กับช่องตาพระยา-บึงตะกวน เป็นต้น

สำหรับราคารับซื้อข้าวเปลือกจากฝั่งประเทศกัมพูชานั้น ปัจจุบันข้าวหอมมะลิขาว รับซื้อมาจากกลุ่มผู้รวมข้าวฝั่งเขมร ราคา กก.ละ 8-9 บาท (ตันละ 8,000-9,000 บาท) ข้าวหอมมะลิแดง ราคา กก.ละ 10-11 บาท หากนำไปขายให้ลานรับซื้อใน อ.ตาพระยา จะได้ราคาสูงถึง 13-14 บาท/กก. แต่ถ้ารวบรวมไว้แล้วขนขึ้นไปขายฝั่ง จ.บุรีรัมย์ ตั้งแต่ อ.โนนดินแดง เป็นต้นไป จะได้ราคาสูงขึ้นถึง กก.ละ 15-17 บาท ข้าวหอมมะลิแดง ราคาเกือบ 20 บาท/กก. ทำให้คนในพื้นที่ส่วนใหญ่ตามแนวชายแดน ผู้นำหมู่บ้านและกลุ่มนายทุน ยึดอาชีพนี้ต่อเนื่องตลอดทั้งปี หลังเก็บเกี่ยวข้าวในประเทศเสร็จสิ้น

ทางด้าน นายอาระยันต์ ท่าใหญ่ นายอำเภอตาพระยา จ.สระแก้ว เปิดเผยว่า ทางจังหวัดมีนโยบายที่จะไม่ให้มีการลักลอบนำเข้าข้าวจากกัมพูชาชัดเจน เพราะมีผลต่อราคาข้าวในประเทศ ซึ่งขณะนี้ถือว่า สถานการณ์รุนแรงน้อยกว่าในอดีต โดยมีการจัดการของเจ้าหน้าที่ทหารกองกำลังบูรพา, ตชด. และกำนันผู้ใหญ่บ้าน ร่วมกันป้องกันตามแนวชายแดน เพื่อให้ปัญหายุติให้ได้ ทั้งนี้ ต้องให้ชาวบ้านในพื้นที่ให้ความร่วมมือปฏิเสธที่จะไม่ทำอาชีพนี้ เพราะขณะนี้ยังมีผู้ประกอบการยังแอบซื้อข้าวเขมรอยู่ อีกทั้งมีช่องทางตามแนวชาวแดนอีกจำนวนมาก จึงต้องเพิ่มกำลังในจุดเหล่านี้ คาดว่า สถานการณ์น่าจะดีขึ้นและเจ้าหน้าที่ต้องจริงจัง ไม่เห็นแก่ชาวบ้านหรือผลประโยชน์

“ทหารและเจ้าหน้าที่ต้องไม่สงสารชาวบ้าน วิธีการคือชาวบ้านไปเอาข้าวเขมรมาขายก่อน เมื่อขายได้แล้วจึงค่อยเอาเงินไปจ่ายให้พ่อค้าเขมร หากจะแก้ไขให้เบ็ดเสร็จ 100% ก็ต้องมีรั้วกั้นบริเวณแนวชายแดนซึ่งทำได้ยาก ดังนั้น สิ่งที่เราทำขณะนี้คือกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและกำนันผู้ใหญ่บ้านช่วยกันสอดส่อง ไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะนโยบายทางจังหวัดไม่ให้เข้ามาอยู่แล้ว ใครปล่อยปละละเลยก็ต้องดำเนินการ” นายอำเภอตาพระยา กล่าว

——————————

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of ธนภัท กิจจาโกศล

ธนภัท กิจจาโกศล

"ธนภัท กิจจาโกศล" ผู้สื่อข่าวประจำ จ.สระแก้ว "ประสบการณ์ยาวนานกับงานสื่อสารมวลชนระดับประเทศ ในกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ จับงานด้านข่าว สกู๊ปและรายงานพิเศษ กว่า 22 ปี มุ่งสื่อสารความจริงและข่าวสารที่เป็นธรรม สู่ประชาชนในภูมิภาค ด้วยจรรยาบรรณของฐานันดรที่ 4 เพื่อสร้างความโปร่งใสการรับรู้ข่าวสารของสังคม"