สระแก้ว – องคมนตรีเดินทางลงพื้นที่ติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสระแก้ว
เมื่อเวลา 10.30 น.วันที่ 5 ส.ค.63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคกลาง และ พลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง องคมนตรี รองประธานอนุกรรมการฯ พร้อมนายดนุชา สินธวานนท์ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว ผู้แทนกรมชลประทาน กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมป่าไม้ ลงพื้นที่เพื่อติดตามการดำเนินงาน โครงการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รวมถึงเยี่ยมชมและติดตามผลสัมฤทธิ์จากการบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริของโครงการอ่างเก็บน้ำพระปรงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลช่องกุ่ม อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว
โอกาสนี้ องคมนตรีและคณะ รับฟังการสรุปผลการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคกลาง และการสนองพระราชดำริในเขตพื้นที่จังหวัดสระแก้ว ซึ่งมีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว จำนวน 104 โครงการ ประกอบด้วย ด้านแหล่งน้ำ 82 โครงการ ด้านการเกษตร 2 โครงการ ด้านการส่งเสริมอาชีพ 2 โครงการ ด้านสิ่งแวดล้อม 1 โครงการ ด้านคมนาคม สื่อสาร 1 โครงการ ด้านสวัสดิการ การศึกษา 10 โครงการ และด้านบูรณาการ อื่นๆ 6 โครงการ โดยในปี 2561 – 2562 คณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณ ในการดำเนินงานสนองพระราชดำริเพื่อช่วยเหลือราษฎร จำนวน 3 โครงการ ประกอบด้วย โครงการปรับปรุงทำนบดินอ่างเก็บน้ำห้วยยางอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการปรับปรุงคลองยุทธศาสตร์โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านเขาสารภีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการอ่างเก็บน้ำแซร์อออันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ข่าวน่าสนใจ:
จากนั้น รับฟังการรายงานถึงการบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว รวมถึงผลการดำเนินงานโครงการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว จำนวน 2 โครงการ ประกอบด้วย โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยสะโตน อำเภอตาพระยา ซึ่งกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งดำเนินการเพื่อให้สามารถดำเนินการได้ตามแผนงานและช่วยเหลือบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนในการประกอบอาชีพทางการเกษตรและการอุปโภคบริโภค และโครงการอ่างเก็บน้ำแซร์ออฯ อำเภอวัฒนานคร สำนักงาน กปร. ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณในปี 2561 งบประมาณจำนวน 23,565,600 บาท
สำหรับโครงการอ่างเก็บน้ำพระปรงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริ เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2521 ให้พิจารณาวางโครงการชลประทานประเภทอ่างเก็บน้ำ ในลุ่มน้ำห้วยพระปรงและลุ่มน้ำห้วยโสมง ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำปราจีนบุรี พร้อมกับพระราชทานข้อมูลจากลายพระหัตถ์ที่ทรงวางโครงการไว้นำไปประกอบการพิจารณา กรมชลประทานได้ดำเนินงานสนองพระราชดำริ โดยก่อสร้างอ่างเก็บน้ำพระปรงฯ เป็นเขื่อนดินสูง 26 เมตร ยาว 443 เมตร ความจุที่ระดับน้ำเก็บกัก 97 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกในเขตพื้นที่โครงการฯ จำนวน 13,744 ไร่ และน้ำสำหรับอุปโภค-บริโภคแก่ราษฎรในเขตโครงการฯ อย่างสม่ำเสมอ ปัจจุบันผลสัมฤทธิ์ของโครงการ ส่งผลให้ราษฎรสามารถปลูกข้าวได้ทั้งนาปีและนาปรัง มีผลผลิตต่อปีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังช่วยบรรเทาผลักดันน้ำเค็มในพื้นที่ลุ่มน้ำบางปะกง ช่วยปรับคุณภาพน้ำแม่น้ำปราจีนบุรี รักษาระบบนิเวศน์ในคลองธรรมชาติด้านท้ายอ่างฯ อีกทั้งยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืด และเป็นสถานที่ท่องเที่ยว สามารถสร้างรายได้เสริมให้กับราษฎร รวมถึงได้จัดตั้งกลุ่มบริหารการใช้น้ำอ่างเก็บน้ำพระปรงฯ ขึ้นตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2544 มีสมาชิกกลุ่มทั้งหมด 635 คน นับเป็นตัวอย่างความสำเร็จในการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพสูงแห่งหนึ่งด้วย
จากนั้นองคมนตรีและคณะฯ ได้เยี่ยมชมแปลงสาธิตการทำการเกษตรในพื้นที่โครงการอ่างเก็บน้ำพระปรงฯ ซึ่งได้จัดทำแปลงสาธิตการปลูกผักอินทรีย์ โดยใช้น้ำต้นทุนจากอ่างเก็บน้ำพระปรงฯ เพื่อให้กลุ่มเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์จากโครงการได้เข้ามาศึกษา เรียนรู้และเห็นผลผลิตที่เป็นรูปธรรม และนำไปปรับใช้ในพื้นที่ของตนเอง ซึ่งภายในแปลงมีการปลูกพืช และไม้ยืนต้นหลายชนิด ได้แก่ ต้นหม่อน มะพร้าวน้ำหอม ทุเรียน เงาะ ลองกอง มะเขือเปาะ ผักหวานป่า มะระขี้นก ถั่วพู บวบเหลี่ยม บวบงู มะละกอ และพริกเครือ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม องคมนตรีและคณะ ได้เดินทางไปเยี่ยมเยียนบ้านเกษตรกรกลุ่มผู้ใช้น้ำของ นายลวด ชุ่มสระน้อย อายุ 70 ปี ซึ่งเคยประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ โดยจะทำเกษตรได้เฉพาะช่วงฤดูฝนเท่านั้น แต่หลังจากมีโครงการอ่างเก็บน้ำพระปรงฯ ทำให้สามารถทำเกษตรได้ตลอดทั้งปี จึงได้จัดสรรพื้นที่จำนวน 14 ไร่ แบ่งพื้นที่เป็นแปลงนาข้าว 10 ไร่ บ่อเลี้ยงกุ้ง 2 ไร่ และปลูกอ้อย 2 ใช้แรงงานภายในครอบครัว คือ ภรรยา และบุตร จำนวน 2 คน ซึ่งมีรายได้จากการทำการเกษตรเฉลี่ยปีละประมาณ 80,000 ต่อปี ทำให้มีชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวมีความมั่นคงยิ่งขึ้นด้วย
—————————–
ภาพโดย/สุชีวิน ปิยะมิตรบัณฑิต
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: