สระแก้ว – สำนักงานพาณิชย์จังหวัดสระแก้ว เผยตัวเลขนำเข้าข้าวโพดจากกัมพูชา ทะลักเข้าไทยด้านชายแดนสระแก้วกว่า 4 หมื่นตัน ขณะที่ชาวไร่ครวญขายได้ราคาต่ำกว่าข้าวโพดเขมร แต่ต้นทุนสูง วอนรัฐบาลช่วยเหลือเรื่องราคา ด้านผู้ว่าฯ สระแก้วเตรียมสั่งการเข้มงวดชายแดนให้เป็นไปตามกฎหมาย ส่วนผู้นำเข้าเลี่ยงไปใช้เส้นทาง จ.จันทบุรีแทน
เมื่อวันที่ 19 ต.ค.61 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.จันทร์เพ็ญ สอนสมสุข หัวหน้าสำนักงานพาณิชย์จังหวัดสระแก้ว เปิดเผยข้อมูลการนำเข้าและส่งออกข้าวโพด บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ด้าน จ.สระแก้ว ว่าไทยไม่มีการส่งออกข้าวโพดไปฝั่งกัมพูชา เพราะตัวเลขของข้าวโพดที่ผลิตได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงมีการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากต่างประเทศของบริษัทใหญ่ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดมาตรการการนำเข้าไว้ชัดเจน ซึ่งข้าวโพดใน จ.สระแก้วที่ผลิตได้แต่ละรอบประมาณ 6-8 หมื่นตัน ส่วนของกัมพูชามีค่อนข้างมาก ซึ่งการนำเข้าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ปี 60 นำเข้า 48,000 ตัน ส่วนปี 61 นำเข้าประมาณ 41,000 ตัน
ข่าวน่าสนใจ:
ทั้งนี้ ก.พาณิชย์มีมาตรการดูแลเกษตรกรเพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบช่วงที่ผลผลิตออกและมีการนำเข้า จึงกำหนดช่วงระยะเวลาในการนำเข้า ให้นำเข้าได้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์- 31 สิงหาคมเท่านั้น และข้าวโพดฝั่งไทยและกัมพูชาจะออกในระยะเวลาค่อนข้างใกล้เคียงกัน ช่วงปลายเดือน มิ.ย.-เดือน ส.ค. โดยราคาที่เกษตรกรไทยขายได้ ซึ่งยึดราคาภาพรวมเฉลี่ยที่เกษตรกรขายได้ ช่วงที่ฝนตกมาก ๆ และหักข้าวโพดซึ่งมีความชื้นสูงเกินกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ ราคาตั้งไว้ข้าวโพดฝักประมาณ 5 บาทเศษ เกษตรกรจะขายได้ประมาณ 3.80-4.30 บาท ส่วนข้าวโพดเม็ด ราคา ณ วันนี้ ความชื้นไม่เกิน 14.5 กิโลกรัมละ 9.50 บาท
หัวหน้าสำนักงานพาณิชย์จังหวัดฯ กล่าวอีกว่า ข้าวโพดจากกัมพูชาเข้าทางด่านเขาดิน อ.คลองหาด มากที่สุด โดยข้าวโพดที่กระทรวงพาณิชย์อนุญาตให้นำเข้า สิ้นสุดเมื่อวันที่ 31 ส.ค.ที่ผ่านมา ดังนั้น หากมีการนำเข้าช่วงนี้ถือว่าเป็นการนำเข้าที่ไม่ถูกต้อง ส่วนปัญหาที่ชาวไร่ข้าวโพดถูกกีดกันไม่รับซื้อ เพราะปลูกในพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์นั้น ในพื้นที่ จ.สระแก้ว ยังไม่มีการร้องเรียนมา เพียงบ่นมาในช่วงต้นฤดูที่ราคารับซื้อต่ำกว่าที่โรงงานตั้งไว้เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โรงงานรับซื้อข้าวโพดใน จ.สระแก้วรายใหญ่ ๆ หลายแห่ง มีการขึ้นป้ายรับซื้อปัจจุบันที่ราคาข้าวโพดฝัก กก.ละ 6.00 บาท ที่ความชื้น 25 เปอร์เซ็นต์ ส่วนข้าวโพดเม็ด กก.ละ 7.40 บาท ที่ความชื้น 25 เปอร์เซ็นต์ด้วย
นายกมลเกียรติ สว่างเนตร อายุ 50 ปี อยู่บ้านเลขที่ 58/2 หมู่ 2 ต.วังน้ำเย็น อ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว กล่าวว่า ปลูกข้าวโพด 30 ไร่ ซึ่งรุ่นแรกขายข้าวโพดเม็ดได้ราคา กก.ละเพียง 5.10 บาทเท่านั้น ได้เงินประมาณ 110,000 กว่าบาท ซึ่งถือว่า ราคาไม่ค่อยดี สู้ราคาในพื้นที่ภาคกลางไม่ได้อย่างเช่น ลพบุรี เพชรบูรณ์ ได้ราคา กก.ละ 8.00 บาท ส่วนรุ่นที่ 2 ราคาข้าวโพดเม็ดน่าจะได้แค่ กก.ละ 5 บาทกว่า ๆ เท่านั้น ซึ่งสาเหตุเกิดจากการนำข้าวโพดจากชายแดนเข้ามาด้วย
“มาตรการของรัฐบาลก็ไม่ค่อยชัด ตอนที่เกษตรกรจดทะเบียนขึ้นทะเบียน เค้าก็รู้อยู่แล้วว่า เราปลูกวันที่เท่าไหร่ จะเก็บเกี่ยวประมาณวันที่เท่าไหร่ แต่พอถึงเวลาเก็บเกี่ยวแล้ว มันไม่ได้ราคา พอไปอยู่ในมือพวกเถ้าแก่แล้วราคามันขึ้น เราไม่สามารถเลือกได้ พอถึงอายุแล้วก็ต้องเก็บเกี่ยว ปล่อยให้แห้งเกินไปน้ำหนักก็ไม่ได้ ปล่อยไว้เม็ดก็จะงอกเขียว อยากให้รัฐบาลช่วยให้ราคาดีกว่านี้ ถ้าข้าวโพดอยู่ราคาประมาณ 8 บาท ชาวไร่เกษตรกรอยู่ได้เลย แต่ถ้าขายข้าวโพดฝักได้แค่ 4 บาทต่อ กก.จบเลย ยิ่งถ้าใครต้องเช่าที่ดินไม่ใช่ที่ดินของตัวเอง ขาดทุนแน่นอน” เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดกล่าว
ทางด้าน นายวิชิต ชาตไพสิฐ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว กล่าวว่า สินค้าทางการเกษตรซึ่งทางฝั่งกัมพูชาก็มีมาก หากให้เข้ามามากจะมีผลกระทบต่อราคาและปริมาณ จนทำให้ราคาตกต่ำได้ หรือมีผลกระทบไปถึงโรคติดต่อทางพืชเช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง จำเป็นต้องเข้มงวดกวดขัน การลักลอบเข้าแบบกองทัพมดคงยาก เพราะการนำเข้าก็ต้องมาเป็นรถ เป็นพ่วงใหญ่ หน่วยงานทุกหน่วยงานก็ต้องเข้มงวดกวดขันให้เป็นไปตามตัวบทกฎหมาย และเราไม่ได้ปิดกั้น หากเขาจะนำเข้ามาก็ต้องเข้ามาตามกฎหมายและกฏหมายต้องอนุญาตให้เข้าด้วย
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวเดินทางลงพื้นที่ด่านผ่านแดนถาวรบ้านเขาดิน อ.คลองหาด จ.สระแก้ว ซึ่งถูกระบุว่า มีการนำเข้าพืชผลการเกษตรมากที่สุด พบว่า บรรยากาศเป็นไปด้วยความเงียบเหงา มีเพียงรถบรรทุกไม่กี่คันเข้าไปรับซื้อพืชผลการเกษตรโดยเฉพาะมันสำปะหลัง ส่วนการนำเข้าข้าวโพดจากฝั่งกัมพูชา ไม่พบมีการนำเข้าตามช่องทางนี้ เนื่องจากเกินกำหนดเวลาให้นำเข้าแล้ว ซึ่งผู้ประกอบการนำเข้าข้าวโพดจากเขมรบางราย ให้ข้อมูลว่า หากจะนำเข้าข้าวโพดจากเขมร จะต้องนำเข้าทางฝั่ง จ.จันทบุรี ซึ่งยังพอที่จะอนุโลมให้ได้บ้าง วันละพ่วงสองพ่วงสำหรับนำไปส่งโรงงาน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: