สระแก้ว – กนอ.ลงพื้นที่พบปะสื่อมวลชนท้องถิ่น จ.สระแก้ว สร้างความเข้าใจการจัดตั้งนิคมฯสระแก้ว พร้อมเปิดนิคมฯอย่างเป็นทางการ หลังการพัฒนาพื้นที่ครบ 100% บนพื้นที่กว่า 600 ไร่ คาดหลังเปิดใช้จะมีมูลค่าการลงทุนกว่าหมื่นล้านบาท พร้อมชักชวนนักลงทุนให้เข้ามาใช้บริการโดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี และเพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
เมื่อวันที่ 30 ก.ย.63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่นิคมอุตสาหกรรมจังหวัดสระแก้ว ต.ป่าไร่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) มอบหมายให้ นายพรเทพ ภูริพัฒน์ รองผู้ว่าการ กนอ.ลงพื้นที่พบปะสื่อมวลชนประจำจังหวัดสระแก้ว เพื่อทำความเข้าใจการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว โดยนายพรเทพฯ ระบุว่า การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว ภายใต้กรอบนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) โดยนิคมอุตสาหกรรมสระแก้วเริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่ปี 2560 และแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการในปี 2562 โดย กนอ.มุ่งมั่นพัฒนานิคมอุตสาหกรรมทุกแห่ง รวมทั้งนิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว ซึ่งอยู่ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน จังหวัดสระแก้ว โดยมุ่งหวังยกกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่รวมทั้งเศรษฐกิจของจังหวัดดีขึ้น ซึ่งนิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว ถือเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญสามารถเชื่อมโยงเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยนิคมอุตสาหกรรมสระแก้วเริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการใน 2562 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ในการจัดตั้งและบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรม กนอ.ให้ความสำคัญกับการรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดการยอมรับของชุมชนในพื้นที่ และสามารถอยู่ร่วมกันได้ทั้งภาคเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ สำหรับการลงพื้นที่พบปะสื่อมวลชนประจำจังหวัดสระแก้วครั้งนี้ เพื่อสร้างความเข้าใจและสร้างความเชื่อมั่นในการจัดตั้งและบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว ระหว่าง กนอ.กับ สื่อมวลชน และชุมชนในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว โดย กนอ.มีมาตรการกำกับดูแลโรงงานทุกโรงที่มาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ทั้งการกำกับดูแลด้านสิ่งแวดล้อม เช่น คุณภาพอากาศ กลิ่น ควัน และน้ำเสีย เป็นต้น ประกอบกับ นิคมอุตสาหกรรมสระแก้วมีการบริหารจัดการโดยใช้มาตรฐานสำหรับนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ที่เน้นให้อาคารเป็นสีเขียว ห้องน้ำสะอาด โดยออกแบบให้มีการใช้ระบบ Sensor เพื่อการประหยัดพลังงาน ทั้งในส่วนของไฟฟ้าส่องสว่าง อ่างล้างมือ และโถสุขภัณฑ์ และจัดให้มีเส้นทางจักรยานโดยรอบอ่างเก็บน้ำ และรอบนิคมตามแนวถนนสายหลัก รวมทั้งจัดให้มีสวนหย่อมที่มีไม้ดอกไม้ประดับสำหรับเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและมีประติมากรรมแสดงอัตลักษณ์ของนิคมอุตสาหกรรม
ข่าวน่าสนใจ:
“เพื่อความมั่นใจของชุมชนในพื้นที่ กนอ.ขอยืนยันว่า การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมทุกแห่งดำเนินการตามมาตรการสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย และจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA/EHIA) เพื่อศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นจากโครงการ และเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย รวมถึงเสนอมาตรการป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมเพื่อกำหนดเป็นเงื่อนไขในการดำเนินงานของนิคมฯทุกแห่งอยู่แล้ว”รองผู้ว่าการ กนอ.กล่าว
สำหรับนิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว กนอ.ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการ กนพ.ให้ดำเนินการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 3 พื้นที่ ซึ่งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว เป็น 1 ใน 3 ของนิคมอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน โดยมีพื้นที่ประมาณ 660.56 ไร่ โดยนิคมอุตสาหกรรมสระแก้วก่อสร้างแล้วเสร็จและสามารถเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการแห่งแรกในพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้จะเป็นศูนย์กลางการค้าและเชื่อมโยงระบบเศรษฐกิจในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน นับเป็นจุดยุทธศาสตร์บริเวณพื้นที่ชายแดนที่ห่างจากด่านชายแดนประเทศกัมพูชาประมาณ 3 กิโลเมตรและสามารถเชื่อมต่อไปยังเขตเศรษฐกิจพิเศษปอยเปต-โอเนียง ประเทศกัมพูชา ล่าสุดการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว ทั้งในเฟส 1 และเฟส 2 แล้วเสร็จ 100 % พร้อมให้บริการระบบสาธารณูปโภคในนิคมอุตสาหกรรม เช่น ระบบถนน ระบบไฟฟ้า ระบบน้ำประปา และระบบบำบัดน้ำเสีย เป็นต้น และพร้อมเปิดรองรับการลงทุนทั้งจากนักลงทุนในประเทศไทย และนักลงทุนต่างประเทศให้เข้ามาใช้บริการได้
โดย นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สำหรับเป้าหมายในการส่งเสริมและพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว เน้นไปที่อุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร เนื่องจากในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว และจังหวัดใกล้เคียง มีผลไม้และพืชผลทางการเกษตรจำนวนมากเหมาะสำหรับการแปรรูปหรือส่งออก นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายในการพัฒนาอุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้แก่ อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์และเครื่องใช้พลาสติก อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ หรือเครื่องจักร และอุตสาหกรรมผลิตเครื่องไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ โดยในส่วนของแผนการตลาดเพื่อรองรับและตอบสนองความต้องการผู้ประกอบการอุตสาหกรรม และนักลงทุนที่ต้องการเข้ามาลงทุนในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว โดยคาดว่าจะมีนักลงทุนเช่าพื้นที่ได้เต็มพื้นที่ได้ภายใน 5 ปี
นิคมอุตสาหกรรมอุตสาหกรรมสระแก้ว มีมูลค่าการลงทุนโครงการประมาณ 1,660,261 ล้านบาท ประกอบด้วย งบประมาณของ กนอ. จำนวน 960.261 ล้านบาท และเป็นงบประมาณแผ่นดิน (งบอุดหนุน) 700 ล้านบาท ตั้งอยู่บริเวณตำบลป่าไร่ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว มีพื้นที่จำนวน 660 ไร่ แบ่งโซนพื้นที่ออกเป็น พื้นที่รองรับอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม จำนวน 433 ไร่ พื้นที่ระบบสาธารณูปโภคและพื้นที่สีเขียวและแนวกันชน จำนวน 227 ไร่ โดยการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว ได้ใช้การออกแบบตามมาตรฐานระบบสาธารณูปโภคฯ สำหรับนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ที่เน้นให้อาคารเป็นสีเขียว ห้องน้ำสะอาด โดยออกแบบให้มีการใช้ระบบ Sensor เพื่อการประหยัดพลังงาน ทั้งในส่วนของไฟฟ้าส่องสว่าง อ่างล้างมือ และโถสุขภัณฑ์ และจัดให้มีเส้นทางจักรยานโดยรอบอ่างเก็บน้ำ และรอบนิคมตามแนวถนนสายหลัก รวมทั้งจัดให้มีสวนหย่อมที่มีไม้ดอกไม้ประดับสำหรับเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและมีประติมากรรมแสดงอัตลักษณ์ของนิคมอุตสาหกรรม โดยเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งโครงการ และใช้พื้นที่เต็มประสิทธิภาพแล้ว คาดว่าจะก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมประมาณ 17,400 ล้านบาท และเกิดการจ้างงานในพื้นที่ประมาณ 4,500 อัตรา คิดเป็นมูลค่าการจ้างงานประมาณ 486 ล้านบาท/ปี
“หลังการเปิดให้บริการนิคมอุตสาหกรรมสระแก้วอย่างเป็นทางการ คาดว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของพื้นที่ และการรักษาสภาพสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ คือ1. ด้านเศรษฐกิจ จะก่อให้เกิดการลงทุนใหม่ในพื้นที่ การจ้างงานของแรงงานในพื้นที่เพิ่มขึ้น การสร้างความต้องการใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นเพิ่มขึ้น และก่อให้เกิดกิจกรรมที่ต่อเนื่องจากการลงทุน เช่น ธุรกิจก่อสร้าง ร้านค้า ศูนย์การค้า หอพัก/บ้านเช่า เป็นต้น 2.การพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการที่มีเพิ่มขึ้น และมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและการเข้าถึงระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน ได้แก่ ระบบคมนาคม ไฟฟ้า ประปา โรงเรียน โรงพยาบาล เป็นต้น และ3.การจัดระเบียบการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อรองรับการประกอบอุตสาหกรรม และกิจกรรมเกี่ยวเนื่อง เพื่อไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อมและสร้างความเดือดร้อน/รบกวนแก่ชุมชนโดยรอบพื้นที่ นอกจากนี้ นักลงทุนที่ไปลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว ยังจะได้รับสิทธิประโยชน์จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ในด้านของภาษีอากร เช่น ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่เกิน 8 ปี /ได้รับลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เพิ่มอีก 5 ปี /หักค่าขนส่งไฟฟ้า และประปา 2 เท่า 10 ปี /หักค่าติดตั้งสิ่งอำนวยความสะดวกได้ร้อยละ 25 /ยกเว้น/ลดหย่อนอากรขาเข้าเครื่องจักร และยกเว้นอากรขาเข้าวัตถุดิบผลิตเพื่อส่งออก และสิทธิที่ไม่เกี่ยวกับภาษีอากร เช่น อนุญาตให้คนต่างด้าวที่เป็นช่างฝีมือ ผู้ชำนาญการ เข้ามาทำงานในนิคมฯและอนุญาตให้ครอบครัวและบุคคลซึ่งอยู่ในอุปการะอยู่ในราชอาณาจักรส่งออกเงินตราต่างประเทศได้ ทั้งนี้ เชื่อว่าจะทำให้นักลงทุนได้รับประโยชน์มากขึ้น ช่วยให้มีการผลิตสินค้าและบริการในพื้นที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้อีกด้วย” ผู้ว่าการ กนอ.กล่าว
ทางด้าน นายสมพร ก่อเกิด ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 ต.ป่าไร่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว แกนนำชาวบ้านซึ่งรวมตัวคัดค้านโครงการแก้ไขอีไอเอของการนิคมฯ เพื่อนำธุรกิจโรงไฟฟ้าขยะครบวงจรเข้ามาก่อตั้งในพื้นที่เกือบทั้งพื้นที่่ กล่าวถึงกรณีนี้ในเวทีสานพลังเวทีพลเมือง จ.สระแก้ว ว่า การที่ชาวบ้านป่าไร่ยินยอมมอบให้ใช้ป่าชุมชนกว่า 600 ไร่ เพื่อจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมโดยระบุว่า เป็นนิคมสีเขียวไม่มีมลพิษนั้น เป็นสิ่งที่ชาวบ้านต้องการ แต่เมื่อจะมีการเปลี่ยนแปลงโดยเอาป่าของเราไปแล้วแลกมาด้วยขยะนั้น ไม่เห็นด้วย อีกทั้งขยะที่จะนำมาใช้เป็นขยะจากนอกพื้นที่หรือนำเข้า เหตุใดสระแก้วต้องเป็นที่รองรับขยะของพื้นที่อื่น การเตรียมการตั้งโรงไฟฟ้าขยะจำนวนมากถึง 5 โรง โรงผลิตอีก 2 โรงและสถานที่ทิ้งกากต่าง ๆ เกือบเต็มพื้นที่ถือว่า ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยแล้ว ชาวบ้านจึงรวมตัวลงชื่อคัดค้านตอนนี้กว่า 1,200 คน เพื่อไม่ให้มีการดำเนินการดังกล่าว
——————————————-
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: