X

ชลประทานเริ่มปฏิบัติการอุดรอยรั่วใต้สันเขื่อนห้วยยาง จ.สระแก้ว

สระแก้ว – กรมชลประทานเริ่มแล้ว ปฏิบัติการอุดรอยรั่วใต้สันเขื่อนห้วยยาง จ.สระแก้ว หลังพบน้ำลอดใต้สันเขื่อนไม่หยุด เริ่มนำเครื่องมือติดตั้งเจาะกลางสันเขื่อนเพื่อหาจุดน้ำลอดเพื่อฉีดซีเมนต์คุณภาพสูงเข้าอุดรอยรั่ว พร้อมทั้งเร่งติดตั้งกาลักน้ำเพิ่ม ช่วยระบายน้ำออก ลดแรงดันน้ำภายในอ่าง คาดว่า 7-10 วันจะแล้วเสร็จ

เมื่อเวลา 15.00 น.วันที่ 25 ต.ค.63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายทวีศักดิ์ ธนเดโชผล รองอธิบดีกรมชลประทาน เดินทางลงพื้นที่บริเวณสันเขื่อนอ่างเก็บน้ำห้วยยาง ม.8 ต.ทัพราช อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว ภายหลังเจ้าหน้าที่และผู้เชี่ยวชาญติดตั้งเครื่องมือขุดเจาะเพื่อซ่อมแซมการรั่วซึมของน้ำบริเวณกลางสันเขื่อนห้วยยางและเริ่มดำเนินการขุดเจาะลงไปบนแนวกลางสันเขื่อนเพื่อหาจุดที่น้ำลอดใต้สันเขื่อนทันที โดยมีนักธรณีฟิสิกส์และผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยเขื่อนดูแลอย่างใกล้ชิด โดยภาวะน้ำรั่วซึมดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงค่ำวันที่ 21 ต.ค.ที่ผ่านมา หลังเกิดฝนตกหนักติดต่อกันกว่า 1 สัปดาห์ จนทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างจนเกือบเต็มอ่าง จากเดิมที่มีน้ำกักเก็บเพียงร้อยละ 10-40 ในแต่ละปีเท่านั้น

ทั้งนี้ รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย นายณัฐวุฒิ สร้อยประเสริฐ ผอ.โครงการชลประทานสระแก้ว และเจ้าหน้าที่โครงการชลประทานที่ 9 ได้เข้าตรวจสอบความคืบหน้าการติดตั้งกาลักน้ำเพิ่มเติม โดยขณะนี้สามารถติดตั้งกาลักน้ำได้แล้ว จำนวน 6 ชุด และอยู่ระหว่างเร่งติดตั้งเพิ่มเติมให้ครบทั้งหมด 20 ชุด เพื่อช่วยระบายน้ำออกจากตัวเขื่อนให้เหลือประมาณร้อยละ 50 เพื่อลดแรงดันน้ำภายในอ่างเก็บน้ำ ระหว่างดำเนินการซ่อมแซมอุดรอยรั่วซึมดังกล่าว โดยผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่ชลประทานได้ใช้รถบรรทุกนำดินเข้าถมบริเวณด้านหลังแนวสันเขื่อนจุดที่มีน้ำรั่วไหลทั้งสองด้าน โดยยังคงมีน้ำไหลรั่วซึมออกมาตลอดเวลาในปริมาณที่เพิ่มขึ้นกว่าวันแรกเล็กน้อย ส่วนด้านบนสันเขื่อนบริเวณ กม.ที่ 2+158 จุดเกิดรอยรั่ว ยังคงมีการใช้เครื่องมือขุดเจาะผ่านทะลุแนวสันเขื่อนลงไปด้านล่างได้ประมาณ 18 เมตร แต่ยังไม่พบน้ำที่ไหลลอดผ่านใต้แนวสันเขื่อน

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชผล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า การซ่อมรูรั่วเราจะใช้วิธีการเจาะลงไป ซึ่งตัวเขื่อนขณะนี้มั่นคงแข็งแรงอยู่ แต่น้ำที่ลอดออกมาคือ ลอดผ่านใต้ฐานรากเขื่อน ซึ่งเราเจาะลงไปถึงระดับ 18 เมตร ขณะนี้ยังไม่เจอน้ำ แสดงว่า อยู่ลึกกว่านี้หรืออยู่ใต้ร่องแกรงหรือผ่านชั้นหินผุ ต้องมีการเก๊า (Grout) ซึ่งต้องใช้น้ำยาหรือซีเมนต์คุณภาพสูง อัดฉีดวัสดุเข้าไปอุดปิดในดิน แต่ต้องหาจุดว่ามันอยู่ตรงไหน ขอให้พี่น้องประชาชนมีความมั่นใจด้านวิศวกรรมของเรา ส่วนเรื่องการระบายน้ำก็มีการลดระดับน้ำเรื่อย ๆ โดยไม่กระทบต่อพี่น้องประชาชน ออกทางคลองฝั่งซ้ายฝั่งขวา ประมาณวันละ 7-8 แสน ลบ.ม.ไหลตามคลองไปลงสู่ประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีการแจ้งเตือนพี่น้องประชาชนไว้แล้ว

“ถ้าเจอจุดที่รั่วไหล คาดว่า จะใช้เวลาประมาณ 7-10 วัน ในการดำเนินการแก้ไขและซ่อมแซมจุดที่รั่ว โดยเรามีเจ้าหน้าที่ธรณีฟิสิกส์ เจ้าหน้าที่ปฐพีฯ เข้ามาดำเนินการ นักวิชาการตั้งแต่การออกแบบเขื่อน ด้านธรณี ด้านสำรวจ มาหมด โดยใช้เครื่องมือที่ทันสมัยในการตรวจสอบตรงนี้” นายทวีศักดิ์กล่าว

—————————————-

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of ธนภัท กิจจาโกศล

ธนภัท กิจจาโกศล

"ธนภัท กิจจาโกศล" ผู้สื่อข่าวประจำ จ.สระแก้ว "ประสบการณ์ยาวนานกับงานสื่อสารมวลชนระดับประเทศ ในกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ จับงานด้านข่าว สกู๊ปและรายงานพิเศษ กว่า 22 ปี มุ่งสื่อสารความจริงและข่าวสารที่เป็นธรรม สู่ประชาชนในภูมิภาค ด้วยจรรยาบรรณของฐานันดรที่ 4 เพื่อสร้างความโปร่งใสการรับรู้ข่าวสารของสังคม"