สระแก้ว – เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นโครงการศึกษาและการประเมินทางเลือกการสร้างโรงน้ำตาลของบริษัทน้ำตาลนิวกว้างสุ้นหลี จำกัด ใน จ.สระแก้ว มีชาวบ้านเกือบ 200 คน รวมตัวคัดค้าน หวั่นผลกระทบในอนาคต ส่วนโรงงานยืนยันตั้งใจทำโรงงานสีเขียว เน้นส่งเสริมอ้อยอินทรีย์
เมื่อวันที่ 9 พ.ย.63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตสระแก้ว อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว นายณัฏฐชัย นำพูลสุขสันต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว เป็นประธานเปิดโครงการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อร่างข้อเสนอโครงการ รายละเอียด ขอบเขตการศึกษาและการประเมินทางเลือก โครงการโรงน้ำตาลของบริษัทน้ำตาลนิวกว้างสุ้นหลีจำกัด โดยมีผู้แทนหน่วยงานราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน นักวิชาการ ภาคเอกชน สื่อมวลชน ผู้แทนสถานประกอบการ และประชาชนจากอำเภอวัฒนานคร 3 ตำบล ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลผักขะ องค์การบริหารส่วนตำบลวัฒนานคร และตำบลหนองแวง ,อำเภออรัญประเทศ 3 ตำบล ได้แก่ เทศบาลตำบลบ้านด่าน ตำบลหันทราย และตำบลคลองทับจันทร์ รวมประมาณ 800-900 คน
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ได้ร่วมกันคัดกรองโรคโควิด-19 โดยตรวจวัดอุณหภูมิ ให้ผู้เข้าร่วมเวทีฯ สวมใส่หน้ากากอนามัย ใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ และเว้นระยะห่างภายในห้องประชุมอย่างเคร่งครัด จนต้องมีการเปิดห้องรับฟังความคิดเห็นด้านล่างและด้านข้างเพิ่มเติมอีกหลายจุด โดยมีนายโสมนัส โพธิสัตย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตามที่ บริษัท น้ำตาลนิวกว้างหลี จำกัด มีแผนดำเนินโครงการโรงงานผลิตน้ำตาล โดยมีแผนการเตรียมอ้อยเข้าสู่โรงงานที่เหมาะสมในการย้ายสถานที่ตั้งโรงงานมาตั้งที่อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว มีกำลังการการผลิต 20,400 ตันอ้อย/วัน จากรายละเอียดดังกล่าว เข้าข่ายประเภทและขนาดโครงการ ที่จะต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณาเห็นชอบก่อนดำเนินการ บริษัทฯ จึงได้มอบหมายให้ บริษัท เทคนิคสิ่งแวดล้อมไทย จำกัด เป็นบริษัทที่ปรึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งในกระบวนการศึกษาต้องจัดให้มีการกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นการเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง สามารถใช้เป็นช่องทางในการร่วมให้ข้อมูลข่าวสาร และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นซึ่งกันและกัน
ข่าวน่าสนใจ:
โดยนายณัฏฐชัย นำพูลสุขสันต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว ได้กล่าวว่า การเปิดเวที มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อมูลกับประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในรายละเอียดที่จะเกิดขึ้นและผลกระทบที่เกิดขึ้น ทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมทั้งขอบเขตการศึกษาและการประเมินทางเลือกโครงการ และเพื่อนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากการรับฟังมาประกอบการศึกษาและจัดทำรายงานให้ครบถ้วน การดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชนให้อยู่ร่วมกับการพัฒนาโครงการได้อย่างยั่งยืนต่อไป ขอให้ใช้เวทีแห่งนี้เพื่อประโยชน์อย่างสูงสุดร่วมกัน ในการแสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ และให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินโครงการต่อไป และร่วมรับฟังความคิดเห็นของผู้นำและประชาชนในพื้นที่ จำนวน 33 หมู่บ้าน ซึ่งมีชาวบ้านและตัวแทนชุมชนแสดงความคิดเห็นอย่างหลากหลาย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะมีการจัดเวทีฯ ได้มีกลุ่มประชาชนที่คัดค้านการก่อสร้างโครงการดังกล่าว ร่วมกันถือป้ายคัดค้านการก่อสร้างที่ที่บริเวณด้านหน้าอาคารหอประชุมที่จัดเวทีรับฟังความคิดเห็น เพราะเกรงว่าจะเกิดผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ เช่น สภาพแวดล้อม อากาศเป็นพิษ สารตกค้างไหลลงสู่แม่น้ำ ปัญหาการใช้น้ำของโรงงาน ซึ่งในพื้นที่หน้าแล้งขาดแคลนน้ำ เป็นต้น ซึ่ง นายณัฏฐชัย นำพูลสุขสันต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว ได้ลงมาพบและพูดคุยกับกลุ่มผู้คัดค้าน โดยขอให้กลุ่มผู้คัดค้านส่งตัวแทนเข้าร่วมเวทีแสดงความคิดเห็น เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียในการเปิดเวทีรับฟังครั้งแรก
นายเสริม หันทะยูง ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ ต.หันทราย แกนนำชาวบ้าน กล่าวว่า ชาวบ้านไม่ต้องการโรงงานเพราะชาวบ้านที่อยู่รอบ ๆ โรงงานใช้พื้นที่การเกษตรทำนา ต้องการน้ำมาก เวลาน้ำหลากท่วมตามฤดูมีโอกาสไหลท่วมบ่อบำบัดน้ำเสียของโรงงานอย่างแน่นอน ความต้องการของชาวบ้านคือ ไม่เอาโรงงาน หลังจากนี้จะดำเนินการทุกวิถีทางที่จะคัดค้านโรงงานไม่ให้เกิดขึ้น ตอนนี้ชาวบ้านมารวมตัวคัดค้าน ประมาณ 200 คน ไม่เคยรับรู้ข้อมูลข่าวสารการประชาสัมพันธ์ และการจัดเวทีฯในสถานที่ไม่เหมาะสมอยู่ไกล ควรจัดในพื้นที่รัศมี 3-5 กม.และชาวบ้านที่มาคัดค้านส่วนใหญ่อยู่ในรัศมี 3 กม.จำนวน 17 หมู่บ้านที่เดือดร้อน
ทางด้าน นายโสมนัส โพธิสัตย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) กล่าวชี้แจงว่า โรงงานสามารถรองรับพื้นที่เพาะปลูกอ้อย 2-3 แสนไร่ น่าจะเป็นผลดีในเชิงเศรษฐกิจ ส่วนการรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชน หากชาวบ้านไม่เห็นด้วยในส่วนไหน ก็สามารถเขียนความคิดเห็นเพิ่มเติมเข้ามาได้ เพื่อรวบรวมชี้แจงเพิ่มเติมในการจัดเวทีครั้งที่ 2 ในช่วง 3-4 เดือนข้างหน้าว่า สภาพสิ่งแวดล้อมก่อนตั้งโรงงานและภายหลังตั้งโรงงานจะมีความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง แต่โดยหลักเราจะทำให้ดีกว่าข้อกำหนดของกฎหมาย ซึ่งโดยประสบการณ์ของโรงงานน้ำตาลขอนแก่น เราทำโรงงานแบบกรีนอินดัสทรี่ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวและเน้นส่งเสิรมอ้อยอินทรีย์ หลังจากนี้จะลงพื้นที่เข้าไปพบปะพูดคุยเพิ่มเติมกับชาวบ้านในพื้นที่ และรับฟังทั้งหมด
——————————
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: