X

เกษตรบุกร้องผู้ว่าฯสระแก้ว โครงการโคบาลบูรพาไม่สร้างรายได้-วัวด้อยคุณภาพ กระทบกว่า 1,000 ราย

สระแก้ว – ตัวแทนเกษตรผู้เลี้ยงโคจำนวนกว่า 1,000 ราย ส่งตัวแทนเกือบ 100 คน บุกศาลากลางจังหวัดสระแก้ว ร้องเรียนผู้ว่าราชการจังหวัด ระบุโครงการ”โคบาลบูรพา”ไม่สร้างรายได้-วัวด้อยคุณภาพ กระทบ 1,000 ราย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศาลากลางจังหวัดสระแก้ว ต.ท่าเกษม อ.เมือง จ.สระแก้ว มีเกษตรและผู้เดือดร้อนจากโครงการโคบาลบูรพาของรัฐบาล จำนวนประมาณ 100 คน ได้เดินทางมาชูป้ายประท้วงและยื่นหนังสือร้องทุกข์กับนายเกียรติศักดิ์ จันทรา ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว ผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด โดยมีนายประสิทธิ์ ต้อยติ่ง ปศุสัตว์จังหวัดสระแก้ว หัวหน้าศูนย์ดำรงธรรมฯ กอ.รมน.จว.สระแก้ว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมรับฟังปัญหาภายหลังเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อและเลี้ยงแพะ ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการโคบาลบูรพาของรัฐบาลเกือบ 1,000 ราย ซึ่งได้ยื่นเอกสารเป็นหนังสือร้องเรียนเป็นรายบุคคลในวันนี้จำนวน 500 ฉบับ โดยมีเจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสระแก้วและปศุสัตว์จังหวัด พูดคุยชี้แจงรับทราบปัญหาและรับเรื่องไว้ เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการศูนย์ดำรงธรรมฯ และหน่วยงานปศุสัตว์ที่ดูแลโครงการเพื่อหาแนวทางช่วยเหลือและแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ นายสมัย เพิ่มผล หนึ่งในตัวแทนชาวบ้าน เปิดเผยว่า การเข้าร้องเรียนดังกล่าว ทางเกษตรกรผู้เดือด ต้องการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว ส่งต่อไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้มีการแก้ไขโครงการในภาพรวม เนื่องจากสร้างผลกระทบต่อเกษตรกรหลายเรื่องมาก โดยเฉพาะเกษตรกรผู้รับวัวมาเลี้ยง ไม่เกิดรายได้ ,มีค่าใช้จ่ายและภาระที่เพิ่มมากขึ้น ,เกิดปัญหาแหล่งอาหารและแปลงหญ้า, ปัญหาค่าผสมเทียม, ปัญหาผสมเทียมไม่ติด, วัวและแพะที่รับมาเป็นหมัน ให้ลูกไม่ได้ ,วัวและแพะป่วยตาย ,เกษตรกรได้รับวัวและแพะพื้นบ้าน ไม่ติดสายพันธ์เนื้อ, วัว แพะมีสภาพไม่สมบูรณ์ ,มีปัญหาการบังคับสร้างคอกตามแบบแปลนกรมปศุสัตว์ แล้วผู้รับเหมาสร้างคอกที่มากับโครงการสร้างคอกไม่ได้มาตรฐาน คอกใช้งานไม่ได้ ,ปัญหาการเร่งรัดจากปศุสัตว์ให้คืนลูกวัวและลูกแพะ ,ปัญหาการเร่งรัดจากสหกรณ์ให้คืนเงินกู้สร้างคอก และปัญหาเกษตรที่ตัดสินใจจำหน่ายโคที่เป็นหมัน ให้ผลผลิตไม่ได้แล้ว เกษตรกรยังถูกบังคับให้ลงนามในใบบันทึกถ้อยคำบังคับให้หาวัวมาคืนภายใน 60 วัน แล้วนำไปสู่การฟ้องดำเนินคดีอาญาและแพ่งในช่วงที่ผ่านมา

ส่วน นางมะลิชาติ เจือต้อย อายุ 48 ปี อยู่บ้านเลขที่ 78 ม.5 ต.ผ่านศึก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว เกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อน กล่าวว่า ต้องการมาขอความเมตตา ขอความเป็นธรรม และให้พิจารณาให้โอกาส ให้เวลา ให้ความผ่อนปรน ขอให้ใช้ข้อมูลที่เป็นจริงในการดูแลหรือดำเนินการใด ๆ กับเกษตรกร อย่างทั่วถึงเท่าเทียม ไม่ละเว้นหรือเลือกปฏิบัติ รวมทั้งเรียกร้องให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการฯ ที่มีความเป็นกลางศึกษาผลกระทบของโครงการทั้งระบบ เพื่อพิจารณาหลักเกณฑ์ มาตรการที่เหมาะสมในการดูแลช่วยเหลือดูแลเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ ในส่วนของตนเองอยากให้ยืดเวลาการคืนลูกวัวและการชำระหนี้ออกไป เพราะตลอด 3 ปีที่ผ่านมา โคเนื้อที่ตนเลี้ยงยังไม่มีตัวไหนออกลูกเป็นตัวเมียเลยแม้แต่แม่เดียว ส่วนใหญ่ให้ลูกเป็นตัวผู้ทั้งหมด จึงยังไม่มีลูกโคคืนโครงการ

ทางด้าน นายประสิทธิ์ ต้อยติ่ง ปศุสัตว์จังหวัดสระแก้ว กล่าวว่า โครงโคบาลบูรพาเป็นโครงการที่ทำเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ส่วนใหญ่จะเป็นเกษตรกรที่ไม่ปฏิบัติตามโครงการหรือมีความผิดพลาดบ้าง ซึ่งขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่จะต้องคืนเงิน จึงมีปัญหาจำนวน 2 เรื่องคือ การคืนตัวลูกวัวและคืนเงินกู้ โดยเงินจำนวนดังกล่าว ทางกรมปศุสัตว์ขอเงินกู้จากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร เพื่อมาให้สหกรณ์โคบาลบูรพาที่จัดตั้งสหกรณ์ทั้ง 3 อำเภอ และเกษตรกรต้องเป็นสมาชิก ปล่อยกู้จัดหาโคเนื้อให้เกษตรกรเลี้ยงโดยไม่มีดอกเบี้ย มีงบกู้สร้างคอก 50,000 บาท, งบขุดบ่อบาดาลหรือสระน้ำ 8,000 บาท และมีเงินของกรมปศุสัตว์แบบให้เปล่าอีก รายละ 10,000 บาท เพื่อปลูกหญ้า โดยข้อตกลงให้เกษตรกรยืมวัว รายละ 5 ตัว ภายใต้เงื่อนไขว่า เกษตรกรต้องคืนลูกวัวตัวเมียอายุ 12 เดือนขึ้นไป ให้กรมฯ 5 ตัว ในระยะสัญญา 5 ปี ซึ่งเมื่อครบแล้วยังไม่คืนก็ได้ ถ้าได้ลูกที่เป็นตัวผู้ทั้งหมด ซึ่งลูกตัวผู้ถือเป็นกรรมสิทธิ์ของเกษตรกร สามารถขายสร้างรายได้ได้เลย เกษตรกรจะมีรายได้จากการขายวัวตัวผู้ทุกปี และต้องเริ่มชำระงวดแรกในปี 2563 เป็นต้นไป ทำให้บางรายประสบปัญหา

ปศุสัตว์จังหวัดสระแก้ว กล่าวอีกว่า ขณะนี้ได้รับเรื่องของเกษตรกรที่มีปัญหามาพิจารณาเพื่อช่วยเหลือต่อไป หากเป็นเรื่องสุดวิสัยก็ต้องเข้าไปช่วยเหลือ เช่น วัวติดโรค วัวตาย หรือวัวผสมไม่ติด วัวไม่ให้ลูก เราให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ เพื่อจะได้ลงไปตรวจสอบ ถ้าเกิดจากแม่วัวไม่สมบูรณ์ ก็จะพิจารณาเปลี่ยนแม่วัวให้เป็นราย ๆ ไป โดยเกษตรกรที่ตั้งใจเลี้ยงและมีปัญหาจริงๆ จะเรียกประชุมคณะกรรมการสหกรณ์ฯ เพื่อเอาเรื่องเข้าที่ประชุมกรมปศุสัตว์ ล่าสุด ปัญหาการชำระหนี้ กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร ที่ประชุมมีมติให้ยึดระยะเวลาชำระออกไปจาก 5 ปี เป็น 6 ปี และยอดชำระหนี้จากปีละ 20 เปอร์เซ็นต์ ลดลงเหลือปีละ 10 เปอร์เซ็นต์หรือ 5,800 บาทเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม สำหรับโครงการโคบาลบูรพา มีการดำเนินโครงการระยะเวลา 6 ปี (พ.ศ.2560-2565) งบประมาณรวม 970.5 ล้านบาท ประกอบด้วย 4 กิจกรรมหลัก คือ 1.ส่งเสริมการเลี้ยงแม่โคเนื้อผลิตลูก โดยอุดหนุนแม่โคเนื้อให้เกษตรกร 6,000 ราย รายละ 5 ตัว รวมแม่โคเนื้อ 30,000 ตัว ,2.ส่งเสริมอาชีพเลี้ยงแพะ เพื่อส่งเสริมอาชีพทางเลือกให้เกษตรกรในพื้นที่แห้งแล้ง 3.ส่งเสริมการปลูกพืชอาหารสัตว์ สำหรับเกษตรกรผู้ได้รับการส่งเสริมให้เลี้ยงโคเนื้อและแพะ และ 4.ส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ จัดตั้งสหกรณ์ “โคบาลบูรพา”เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานส่งเสริมการเกษตรในรูปแบบแปลงใหญ่ ปัจจุบันโครงการดำเนินการมาเป็นปีที่ 3 และเริ่มถึงกำหนดชำระเงินคืนกองทุนตั้งแต่ปลายปี 2563 เป็นต้นไป

——————————-

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of ธนภัท กิจจาโกศล

ธนภัท กิจจาโกศล

"ธนภัท กิจจาโกศล" ผู้สื่อข่าวประจำ จ.สระแก้ว "ประสบการณ์ยาวนานกับงานสื่อสารมวลชนระดับประเทศ ในกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ จับงานด้านข่าว สกู๊ปและรายงานพิเศษ กว่า 22 ปี มุ่งสื่อสารความจริงและข่าวสารที่เป็นธรรม สู่ประชาชนในภูมิภาค ด้วยจรรยาบรรณของฐานันดรที่ 4 เพื่อสร้างความโปร่งใสการรับรู้ข่าวสารของสังคม"