สระแก้ว – คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสระแก้ว เตรียมรับมือแรงงานชาวกัมพูชากว่า 10,000 คน เข้าประเทศเพื่อตัดอ้อย พร้อมเสนอยกเลิกการอนุโลมให้พ่อค้าชาวกัมพูชาในตลาดโรงเกลือเข้ามาดูแลและขนสินค้า เพื่อปรับเปลี่ยนให้เข้ามาแบบถูกต้อง
เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.63 ผู้สื่อข่าวรายงาน ภายหลังเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่ประเทศกัมพูชาและจังหวัดชายแดนไทย-กัมพูชา ติดกับประเทศไทย จ.สระแก้ว ซึ่งนายเกียรติศักดิ์ จันทรา ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว ได้ร่วมประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดฯ โดยมีนายณัฏฐชัย นำพูลสุขสันติ์ ,นายธีระชัย ลิ้มประสิทธิ์ศักดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด ,นายทนง วีระแสงพงษ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว ,แรงงานจังหวัด ,ตำรวจ ,ทหาร, ตรวจคนเข้าเมืองสระแก้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และนายมนตรี คำพล นายกสมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพา เพื่อพิจารณาหาแนวทางป้องกันโรคโควิด-19 และรายงานสถานการณ์ของโรคดังกล่าวในพื้นที่ จ.สระแก้ว ซึ่งที่ประชุมได้เสนอให้มีการพิจารณาการอนุญาตให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรภายใต้ข้อกำหนดออกตามมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 13) มาพิจารณา และการเตรียมความพร้อมเรื่องการนำแรงงานต่างด้าว เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อให้สามารถดำเนินการได้ทันที และพิจารณาความเหมาะสม ความเป็นไปได้ในการนำแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายที่พ้นระยะเวลาในการกักกันตัว มาทำงานในประเทศ โดยเฉพาะแรงงานที่จะนำมาใช้ในการตัดอ้อยในฤดูกาลเปิดหีบอ้อยที่จะเริ่มขึ้นในวันที่ 3 ม.ค.64 นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมได้พูดคุยเรื่องการอุดหนุนการตรวจหาเชื้อโควิด19 เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของแรงงานและผู้ประกอบการ และเป็นแรงจูงใจให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาเพื่อให้เกิดประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว รวมทั้งสรุปมาตรการสาธารณสุขสำหรับการนำแรงงานกัมพูชาเข้ามาตัดอ้อย พร้อมการตรวจสอบวิธีการของการกักกันแรงงาน รวมไปถึงแนวทางการปฏิบัติสำหรับการผ่อนคลายอนุโลมให้ผู้ประกอบการ พ่อค้าแม่ค้าชาวกัมพูชาในตลาดโรงเกลือเดินทางเข้ามาดูแลและขนสินค้าในตลาดโรงเกลือวันละ 50 คัน ไม่เกิน 100 คนต่อวัน ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค.63 เป็นต้นมา ว่าจะมีการทบทวนหรือยุติมาตรการเข้าพื้นที่ของผู้ประกอบการค้าในตลาดโรงเกลือเพื่อดูสินค้าหรือไม่ ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้วเสนอในที่ประชุมให้มีการยุติการดำเนินการดังกล่าว โดยให้มีการพูดคุยกับทางจังหวัดบันเตียเมียนเจยก่อนวันที่ 15 ธ.ค.นี้ เพื่อปรับเปลี่ยนให้มีการเดินทางเข้ามาอย่างถูกต้อง
ข่าวน่าสนใจ:
- นายกรัฐมนตรีติดตามสถานการณ์อุทกภัย ณ ที่ว่าการอำเภอท่าฉาง พร้อมมอบถุงยังชีพช่วยเหลือผู้ประสบภัย
- ตรัง ชาวบ้านสืบสานอนุรักษ์การปลูกข้าวไร่ไว้กินเองครอบครัวเหลือขาย
- โครงการวิลล่าหรูเกาะสมุยฝืนคำสั่งรื้อถอนอาคาร ยังปล่อยให้ต่างชาติเช่าวิลล่า
- ตำรวจภูธรจังหวัดบุรีรัมย์ แถลงผลปฏิบัติการ “พิฆาตทรชนคนค้ายาอีสานใต้” ยึดยาบ้ากว่า 400,000 เม็ด
ทั้งนี้ นายเกียรติศักดิ์ จันทรา ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว ได้สรุปผลการหารือกับที่ประชุมว่า ให้ทางสมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพาหรือชาวไร่อ้อย ที่มีความจำเป็นต้องใช้แรงงานต่างด้าว นำข้อสรุปไปเสนอต่อ สบค.ถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการนำเข้าแรงงานกัมพูชา โดยแจ้งข้อสรุปที่ได้มีการหารือกับทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดฯว่า 1.สถานที่กักกัน จะเป็นการกักกันแบบกลุ่ม 14 วัน ภายใต้มาตรฐานของสาธารณสุขตามความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสระแก้ว 2.การตรวจหาเชื้อโควิด 19 จากเดิมตรวจ 1 ตัวอย่างต่อคน ค่าใช้จ่าย 1,700 บาท เป็นการตรวจแบบกลุ่ม 4 ตัวอย่าง ต่อ 1 ครั้ง ค่าใช้จ่ายหัวละ 1,000 บาท เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายการตรวจลง แต่ต้องมีการนำเสนอให้เป็นไปตามมาตรฐานของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ด้วย และ 3.ขอคำยืนยันจาก สบค. เรื่องการนำเข้าแรงงานกัมพูชา กรณีแรงงานประเภท MOU และการนำเข้าแรงงานแบบฤดูกาล หรือใช้บอร์ดเดอร์พาส (หนังสือผ่านแดน) เป็นไปตามประกาศ พรก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ฉบับที่ 12 และ 13 หรือไม่ และสามารถนำเข้ามาทำงานจากระยะ 30 วัน เป็น 90 วัน ได้เลยหรือไม่ เพื่อให้ทันฤดูการเปิดหีบอ้อยในวันที่ 3 ม.ค.64 โดยทางนายมนตรี คำพล นายกสมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพาจะนำข้อเสนอดังกล่าวไปยื่นต่อ สบค.ในช่วงต้นสัปดาห์หน้า และส่วนราชการสามารถเดินทางไปชี้แจงข้อปฏิบัติสำหรับกรณีดังกล่าวได้ด้วยเช่นกัน
ทางด้าน นายมนตรี คำพล นายกสมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพา กล่าวว่า สำหรับปีนี้ทางสมาคมและผู้ประกอบการชาวไร่อ้อย มีความต้องการแรงงานกัมพูชาสำหรับตัดอ้อยจำนวนมาก จึงเข้ามารับทราบแนวทางกับทางจังหวัดในการนำแรงงานเข้ามากักตัว ตามนโยบายควบคุมโรคโควิด19 ซึ่งก็พอเห็นแนวทางหลังปรับเปลี่ยนในการบริหารจัดการ และการขออนุญาตบอร์ดเดอร์พาสต่าง ๆ ได้พูดคุยกับทางกัมพูชาแล้ว เตรียมนำไปเสนอต่อ สบค.เพื่ออนุมัติเป็นหลักการ และยืนยันจะดำเนินการโดยผ่านการตรวจสอบของกระทรวงสาธารณสุขในการกักตัวอย่างเคร่งครัด ซึ่งเราได้ประเมินตัวเลขความต้องนำแรงงานกัมพูชาเข้ามาตัดอ้อยปีนี้ ประมาณ 10,200 คน
————————–
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: