สระแก้ว – ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้วหารือ 2 ผู้ว่าราชการจังหวัดประเทศกัมพูชา จ.พระตะบอง และ จ.บันเตียเมียนเจย บริเวณกลางสะพานมิตรภาพไทย-กัมพูชา เพื่อเจรจาหาข้อยุติการนำเข้าแรงงานตัดอ้อยชาวกัมพูชา 1 หมื่นคน ปัญหาการค้าขายในตลาดโรงเกลือฯ และอื่น ๆ
เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณกลางสะพานมิตรภาพไทย-กัมพูชา ด่านผ่านแดนถาวรบ้านเขาดิน ต.คลองหาด อ.คลองหาด จ.สระแก้ว นายเกียรติศักดิ์ จันทรา ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว ร่วมกับ นายณัฏฐชัย นำพูลสุขสันติ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด, นพ.ทนง วีระแสงพงษ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว, พ.อ.ชัยรัฐ เตระวิชชนันท์ รอง เสธ.กกล.บูรพา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องฝ่ายไทยอีกเกือบ 30 คน ร่วมประชุมกับตัวแทนฝ่ายกัมพูชา ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดพระตะบอง ,ผู้ว่าราชการจังหวัดบันเตียเมียนเจย , กงศุลกัมพูชาประจำประเทศไทย และรองผู้บัญชาการทหารภูมิภาคที่ 5 ประเทศกัมพูชา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องฝ่ายกัมพูชา อีกประมาณ 30 คน โดยกางเต็นท์ที่บริเวณจุดกึ่งกลางสะพานและตั้งโต๊ะหันหน้าเข้าหากัน พูดคุยผ่านล่ามแปลภาษาไทยและกัมพูชา ซึ่งแต่ละฝ่ายต่างนำข้อหารือต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาตามแนวชายแดนและการค้าระหว่างกัน ภายหลังมีการปรับเปลี่ยนวิธีการปฏิบัติโดยประเทศไทยประกาศปิดชายแดน ในช่วงสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นต้นมา
ทั้งนี้ นายเกียรติศักดิ์ จันทรา ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว เปิดเผยว่า ประเด็นที่มีการนำมาหารือเพื่อหาข้อยุติมี 4 ประเด็นใหญ่ คือ การนำแรงงานชาวกัมพูชาประมาณ 10,000 คน เข้ามาตัดอ้อยในพื้นที่ จ.สระแก้ว ภายใต้ประเด็นที่ต้องให้ความสนใจในด้านมาตรการสาธารณสุข จนนำมาสู่การเจรจาร่วมกันว่า จะต้องมีมาตรการอย่างไร เพื่อประโยชน์ทั้งสองประเทศ และภายใต้ความปลอดภัยด้านสาธารณสุข ซึ่งทั้งสองฝ่ายก็เห็นชอบร่วมกันในเรื่องรายละเอียด โดยต้องมีการกักตัว 14 วันและตรวจหาเชื้อโควิดก่อนเข้ามา ,เรื่องต่อมาคือ การเจรจาเกี่ยวกับเรื่องการนำเข้าหรือเข้ามาของคนกัมพูชา ที่จะเข้ามาค้าขายในตลาดโรงเกลือ ซึ่งก็เห็นด้วยในหลักการร่วมกันทั้งสองประเทศ แต่จะต้องมีมาตรการที่เข้มงวด เพราะคนที่เข้ามาจะต้องใกล้ชิดกับลูกค้าคนไทยที่มาซื้อขายสินค้า จึงเป็นประเด็นที่เห็นตรงกัน ส่วนรายละเอียดจะต้องมีการทำความตกลงให้ชัดเจนก่อน
ข่าวน่าสนใจ:
- พรรคประชาชนเปิดตัว นายแพทย์จิรชาติ เรื่องวัชรินทร์ หรือ หมอมุดสัง ชิง นายก อบจ.สุราษฎร์ ฯ สมัครจันทร์นี้
- หมดวาระอบจ.ตรัง รุ่งขึ้น “บุ่นเล้ง” เปิดตัวทันควัน ใช้ชื่อ “ทีมนายกบุ่นเล้ง” แทน “ทีมกิจปวงชน” ชูนโยบาย “รวมพลังที่ยิ่งใหญ่ ขับเคลื่อนตรังให้เป็น 1”
- ตรัง แม่ค้าร้านดังถูกหลอก อ้างเป็นเลขานายกฯสั่งข้าวกล่องช่วยน้ำท่วมสูญเงิน 3 พัน
- รวบสาวใหญ่ซิ่งมอไซค์ขนยาบ้า 516,000 เม็ด
ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว กล่าวอีกว่า ในส่วนการเจรจาเพื่อขอให้มีการเปิดด่านโดยเฉพาะสะพานมิตรภาพไทย-กัมพูชา เพิ่มเติม ที่บ้านหนองเอี่ยน-สตรึงบท เพื่อรองรับและระบายรถขนส่งสินค้า ที่บริเวณด่านผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึกให้เบาบางลง ซึ่งทั้งสองฝ่ายก็เห็นชอบร่วมกันในการดำเนินการ คาดว่า จะสามารถดำเนินการได้หลังจากเดือน ม.ค.64 นี้, ส่วนเรื่องที่สี่ ที่มีการพูดคุยกับทางกัมพูชา คือความต้องการเพิ่มเติม โดยเฉพาะเรื่องการค้าขายเพื่อให้เกิดความสะดวกและความปลอดภัยจากการใช้ยานพาหนะข้ามประเทศ เช่น การขยายเวลาในการเปิดด่าน เพื่อให้เกิดความเหมาะสมในการขนส่งสินค้า ซึ่งด่านผ่านแดนถาวรบ้านเขาดิน ก็จะสามารถขยายเวลาจากปิด 18.00 น.เป็น 20.00 น.ได้ ซึ่งจะได้นำไปหารือร่วมกันอีกครั้ง โดยการประชุมครั้งนี้ บรรยากาศการหารือเป็นไปด้วยดี ได้ข้อหารือและข้อตกลงที่ชัดเจน
“ทุกเรื่องที่นำมาหารือกัน เมื่อได้ข้อตกลงจะเริ่มดำเนินการให้เร็วที่สุด ซึ่งการนำแรงงานเข้ามาเป็นจำนวนมาก ทางตนก็เป็นห่วง ทำให้เป็นเหตุผลให้เราต้องมาเจรจากัน เพื่อนำมาตรการทางด้านสาธารณสุขเข้าไปหารือกับ สบค. แล้วมาแจ้งต่อที่ประชุม หลังจากนั้นจะนำไปหารืออีกครั้งเพื่อให้รับทราบ หากไม่ขัดข้องเราจะดำเนินการได้ทันที คาดว่า แรงงานกัมพูชาจะสามารถเดินทางเข้ามาได้อย่างเร็วที่สุด เพื่อให้ทันต่อการเปิดหีบอ้อยต้นเดือน ม.ค.นี้” นายเกียรติศักดิ์ กล่าว
ทางด้าน นายมนตรี คำพล นายกสมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพา กล่าวว่า ที่ประชุมวันนี้ถือว่า เป็นที่พอใจของชาวไร่อ้อยที่จะช่วยกันแก้ไขปัญหาในระหว่างภาคราชการและฝั่งกัมพูชา รุดหน้าไปได้ระดับหนึ่ง ซึ่งกรอบเวลาคงจะไม่ใช้เวลานานนัก คาดว่า ต้นปีใหม่น่าจะเรียบร้อยทั้งหมด แรงงานสามารถเข้ามาตัดอ้อยได้ ซึ่งฝั่งไทยและกัมพูชาได้หาข้อสรุปที่เป็นแนวทางแล้ว แต่ในทางปฏิบัติทางฝั่งไทยต้องดูแนวทางเรื่องรายละเอียดของจังหวัดเราเองเป็นหลัก ซึ่งค่าใช้จ่ายการนำแรงงานเข้ามานั้น เรื่องการตรวจโรคและการตรวจสอบตามที่สาธารณสุขกำหนด แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ดำเนินการฝั่งกัมพูชาให้แรงงานรับผิดชอบ ส่วนค่าใช้จ่ายหลังข้ามมาฝั่งไทยแล้ว นายจ้างจะออกให้ทั้งหมด เช่น ค่าตรวจโควิด 3 ครั้ง ตกคนละ 3000 กว่าบาท และการกักตัว 14 วัน
อย่างไรก็ตาม นายกสมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพา กล่าวอีกว่า ในส่วนของการกักตัว 14 วัน แรงงานชาวกัมพูชา จะมีการดูแลกันภายในแปลงอ้อย มีการควบคุมโดยเจ้าหน้าที่ตลอดเวลา ซึ่งได้นำเสนอ สบค.เห็นชอบในหลักการมาแล้ว ส่วนชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียงก็จะมีการประชาสัมพันธ์กับชาวบ้านใกล้เคียงไร่อ้อย ให้เข้าใจว่า แรงงานที่เข้ามามีการตรวจตามมาตรฐานและตรวจรายบุคคล ก่อนเข้ามาในประเทศไทยและหลังเข้ามาในประเทศไทยในช่วงเวลา 14 วัน ซึ่งจำนวนเบื้องต้นที่ต้องนำเข้าและมีรายชื่อแล้วประมาณ 5,000 คน และอยู่ระหว่างประสานกับฝั่งกัมพูชา ยังไม่ได้ส่งรายชื่ออีก 5,000 คน รวมประมาณ 10,000 คน
——————————
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: