ปราจีนบุรี – รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เดินทางลงพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี หนุนแล็บชาวบ้าน รพ.อภัยภูเบศรเสริมแกร่งเกษตร เพิ่มมูลค่าสมุนไพรไทยสู่ตลาดโลก
เมื่อวันที่ 29 มี.ค.64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เดินทางมาที่ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร เบื้องต้นได้รับการต้อนรับและแสดงความขอบคุณจากพยาบาล-แพทย์แผนไทย ในการได้รับบรรจุเป็นข้าราชการช่วงสถานการณ์โควิด-19 กว่า 130 คน ก่อนเดินทางรับฟังเรื่องรัฐวิสาหกิจชุมชน รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร หนุนการสร้างแล็บชาวบ้าน โดย ดร.สาธิต กล่าวถึงนโยบายสำคัญของรัฐบาล ในด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันจากสินค้าเกษตร โดยในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 นั้น ประเทศไทยได้รับการยอมรับถึงศักยภาพด้านการแพทย์เป็นอย่างมาก ในส่วนของสมุนไพรนั้น ก็มีการศึกษาวิจัยฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยโควิด-19 สิ่งเหล่านี้ ล้วนเป็นโอกาสในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการสุขภาพ โดยเฉพาะสมุนไพรนั้น เป็นสิ่งที่รัฐบาลตั้งเป้าในการพัฒนา เพราะจะเกิดประโยชน์ต่อประเทศเป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ ดร.สาธิต ยังกล่าวอีกว่า ยังจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาการวิจัย สร้างความรู้จากประสบการณ์การใช้ของคนไทย และสร้างให้กลุ่มเกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจพื้นฐาน ตั้งแต่การปลูก การผลิต การแปรรูปสมุนไพรขั้นต้นนั้น อันจะทำให้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรมีมาตรฐาน และมีโอกาสแข่งขันในตลาดโลกได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจประเทศเกิดการพัฒนาได้ โดยการมาตรวจเยี่ยมการดำเนินงานด้านสมุนไพรของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรครั้งนี้ ทางโรงพยาบาลได้นำเสนอโครงการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรเกษตรอินทรีย์ต้นแบบ โดยมีเป้าหมายในการเป็นพี่เลี้ยงให้กับเกษตร ให้สามารถต่อยอดเพิ่มมูลค่าสมุนไพร และยังเป็นการช่วยส่งเสริมกระตุ้นเศรษฐกิจด้านตลาดสมุนไพรไทยเติบโตได้
พญ.โศรยา ธรรมรักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า โปรเจ็กต์สร้างโครงการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรเกษตรอินทรีย์ต้นแบบ ให้เป็น แล็บชาวบ้านนั้น ทาง รพ.อภัยภูเบศร มีความตั้งใจอยากให้เกิดขึ้นโดยจะใช้ พื้นที่หาดยาง จ.ปราจีนบุรี ที่ได้รับงบประมาณมาส่วนหนึ่งแล้ว เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านสมุนไพรครบวงจร เพื่อให้ชาวบ้าน เกษตรกร ผู้ปลูกได้มาศึกษาพื้นฐาน ตั้งแต่การปลูกสมุนไพรเบื้องต้น การจัดการ การผลิตและแปรรูปขั้นพื้นฐาน เป็นแนวทางในการช่วยเพิ่มมูลค่ากับสมุนไพร มากกว่าแค่ให้พวกเขาทำได้ แค่การปลูกเท่านั้น แต่ยังต้องใช้งบประมาณอีกจำนวนหนึ่ง เพื่อให้โครงการสมบูรณ์ ในอนาคตเราคิดว่าสมุนไพร จะเป็นคำตอบให้กับสังคม ทั้งในแง่ของการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ ยา อาหาร และบริการ จะสามารถช่วยสร้างเม็ดเงินและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้
อย่างไรก็ตาม สำหรับการพัฒนาสมุนไพรให้ตอบโจทย์สังคมยังเป็นการเตรียมความพร้อม เพื่อเข้าสู่ยุคสูงวัยอย่างมีสุขภาวะ มีสุขภาพดี โดยตั้งเป้าการส่งเสริมการพัฒนาสมุนไพรที่คิดว่า เกษตรกรมีศักยภาพ และสามารถต่อยอดเองได้ใน 5 กลุ่มด้วยกัน คือสมุนไพรเพื่อสมองดี ด้วย บัวบก ตำรับกลีบบัวแดง สมุนไพรปรับสมดุลอารมณ์ เช่น กัญชา กัญชง สมุนไพรดูแลหัวใจดี คือ บัวหลวง สมุนไพรที่ดูแลกลุ่มกระดูกและข้อ เช่น ขมิ้นชัน เพชรสังฆาต และสมุนไพรเสริมภูมิคุ้มกันด้วยฟ้าทะลายโจร เป็นต้น โดยการพัฒนาสมุนไพรนี้เราไม่ได้เริ่มจากศูนย์ ทางโรงพยาบาลได้ศึกษาวิจัยมาก่อนหน้าแล้วส่วนหนึ่ง ดังนั้น หากได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ก็จะสามารถดำเนินการได้ภายในปี 65 และในขณะนี้คือการผลิตน้ำมันกัญชาเพื่อการรักษาโรค , การส่งเสริมเศรษฐกิจด้านอาหาร-เครื่องดื่ม จากกัญชา ตลอดรวมถึงการเป็นแหล่งเรียนรู้แก่ประชาชน
————————–
ข่าว-ภาพโดย/ลักขณา สีนายกอง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: