สระแก้ว – แรงงานชาวกัมพูชาทะลักชายแดน จ.สระแก้ว แต่เจ้าหน้าที่ไทยไม่สามารถผลักดันกับประเทศได้ เนื่องจากรัฐบาลกัมพูชาปิดด่านห้ามเข้า-ออก ต้องปล่อยให้อยู่กันตามยถากรรมในพื้นที่ทับซ้อนบริเวณแนวชายแดน ด้านผู้ว่าฯสั่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดลงพื้นที่และประสานช่วยเหลือ
เมื่อวันที่ 5 ส.ค.64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังรัฐบาลกัมพูชาประกาศปิดชายแดนและล็อคดาวน์ 8 จังหวัด ติดกันชายแดนไทย-กัมพูชา เพื่อสกัดกั้นโควิด-19 สายพันธ์เดลด้า โดยห้ามเข้า-ออกเด็ดขาด เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา ส่งผลทำให้แรงงานชาวกัมพูชาที่อยู่ตามแคมป์คนงานหรือจุดที่ถูกกำหนดในการกักกันพื้นที่ชั้นในของประเทศ หลบหนีออกมา แล้วเดินทางมุ่งหน้าไปยังชายแดน จ.สระแก้ว ตั้งแต่ อ.ตาพระยา อรัญประเทศและคลองหาด เพื่อต้องการกลับภูมิลำเนาในฝั่งกัมพูชา แต่ยังไม่สามารถผลักดันข้ามแดนไปได้ โดยที่ อ.ตาพระยา มีแรงงานกว่า 200 คน ถูกกันให้อยู่ในพื้นที่ทับซ้อน ต้องกางเต็นท์และพักอาศัยกันอยู่ในป่า เช่นเดียวกับที่ อ.อรัญประเทศ บริเวณบ้านหนองปรือ อ.อรัญประเทศ และเขตติดต่อ อ.คลองหาด มีแรงงานกัมพูชาถูกนำมาปล่อยทิ้งเกือบ 30 คน เจ้าหน้าที่ประสานผลักดันกลับประเทศ แต่ฝั่งกัมพูชาไม่ให้เข้าประเทศ ต้องอยู่กันบริเวณริมคลองน้ำใส เส้นเขตแดนไทย-กัมพูชา ทำให้เป็นภาระของเจ้าหน้าที่ไทย ต้องหาทางช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรมและไม่ให้มีการแพร่กระจายของเชื้อในพื้นที่
ล่าสุด นายเกียรติศักดิ์ จันทรา ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว ได้รับรายงานกรณีดังกล่าว พร้อมสั่งการให้ นายณัฏฐชัย นำพูลสุขสันติ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว ลงพื้นที่เพื่อประสานให้นายอำเภอทั้ง 4 อำเภอติดกับชายแดนกัมพูชา ตั้งแต่อำเภอตาพระยา โคกสูง อรัญประเทศ และอำเภอคลองหาด เร่งจัดหาเตรียมพื้นที่ไว้รองรับแรงงานชาวกัมพูชาอำเภอละ 1 จุด ส่วนแรงงานชาวกัมพูชาที่เดินทางเข้ามาในจังหวัดสระแก้วที่ต้องการเดินทางกลับไปยังประเทศกัมพูชา ขณะนี้มีอยู่ทั้งหมด 226 คน แบ่งเป็นที่อำเภอตาพระยา 200 คน และอำเภออรัญประเทศ 26 คน โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยได้ประสานงานร่วมกับฝ่ายกัมพูชาและจะให้ใช้พื้นที่นอแมนแลนด์ หรือ พื้นที่พิพาทที่ยังไม่มีการชี้แนวเขตเป็นของไทยหรือกัมพูชา เป็นจุดพักคอย โดยฝ่ายไทยจะดูแลในเรื่องความปลอดภัย ระบบสาธารณสุขและอำนวยความสะดวกในเรื่องภาชนะปรุงอาหาร ส่วนฝ่ายกัมพูชาจะดูแลในเรื่อง ข้าวสารอาหารแห้งและอาหารสดที่จะใช้ปรุงอาหาร รวมถึงหลังคาและฉากกั้นที่ใช้บังแดดบังฝน เช่นเดียวกับ ชาวกัมพูชาเกือบ 30 คน ในอำเภออรัญประเทศ จะกำหนดจุดพักคอยเอาไว้ที่บ้านป้ายเขียว ต.ทับพริก รอยต่ออำเภออรัญประเทศกับคลองหาด ให้อยู่กันไปจนกว่ารัฐบาลกัมพูชาจะมีคำสั่งเพิ่มเติม
ข่าวน่าสนใจ:
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวานนี้ มีแรงงานชาวกัมพูชาที่กลับเข้าประเทศตัวเองไม่ได้ บริเวณบ้านหนองปรือ อ.อรัญประเทศ ตรงข้ามกับ อ.มาไล ประเทศกัมพูชา ได้มายืนชักแถวกันบริเวณริมคลองห้วยน้ำใสที่กั้นเขตแดน โดยมีเจ้าหน้าที่ ตชด.กัมพูชา ยืนคุมไม่ให้ข้ามฟากเข้าประเทศ และมีรองผู้ว่าว่าราชการจังหวัดเมืองศรีโสภณ ลงพื้นที่มายืนขอร้องว่าให้อยู่ในเมืองไทยไปก่อน เพราะตอนนี้เมืองกัมพูชาล็อกดาวน์ประเทศอยู่ ส่วนที่บริเวณชายแดน อ.ตาพระยา เจ้าหน้าที่กงสุลกัมพูชา ได้จัดถุงยังชีพไปช่วยแรงงานกัมพูชาที่บริเวณแนวชายแดนใกล้กับด่านบึงตากวน ที่มีชาวกัมพูชากว่า 200 คน ปักหลักตั้งแคมป์รอเวลากลับเข้าประเทศอยู่ นอกจากนั้น ในพื้นที่ อ.โคกสูง พบว่า มีแรงงานชาวกัมพูชาและแม่ค้าในตลาดโรงเกลือหอบลูกหนีจากล็อคดาวน์ตลาดโรงเกลือ จะข้ามฝั่งไปปอยเปต โดยว่าจ้างชาวกัมพูชาให้นำทางข้ามแดนตามช่องทางธรรมชาติ บริเวณตรงข้ามปราสาทสด๊กก็อกธม ในช่วงกลางคืนแล้วตกร่องหลุมขนาดใหญ่จนขาหัก ไปไหนไม่ได้ เจ้าหน้าที่ ตชด.ฝั่งกัมพูชาต้องประสาน รพ.มงคลบุรี มาช่วยเหลือและตรวจพบว่า เธอติดเชื้อโควิด-19 มาจากตลาดโรงเกลือด้วย
นายเกียรติศักดิ จันทรา ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว เปิดเผยว่า กรณีนี้เป็นเรื่องสืบเนื่องจากกัมพูชาปิดด่านและห้ามเดินทางในพื้นที่ 8 จังหวัด ตั้งแต่คืนวันที่ 29 ก.ค.ที่ผ่านมาถึงวันที่ 12 ส.ค.64 รวม 14 วัน ซึ่งก็มีชาวกัมพูชาที่ได้รับผลกระทบในสถานการณ์โควิดหลังเข้ามาทำงานในประเทศไทย มีความต้องการที่จะกลับกัมพูชา ฉะนั้นช่วงนี้กลับไม่ได้ เพราะทางกัมพูชาสั่งผนึกไว้ ซีลไว้ อาจจะมีบ้างที่มาแล้วอยู่ในพื้นที่ ยืนยันว่า ทาง จ.สระแก้ว ได้ประสานกับทางจังหวัดที่ใกล้เคียง ไม่ว่าจะเป็น จ.บันเตียเมียนเจย หรือ พระตะบอง ที่จะดูแลพี่น้องชาวกัมพูชา ให้อยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม ซึ่งในขณะนี้เราพยายามหาพื้นที่กลาง โดยเฉพาะโนแมนแลนด์ทั้งหลาย จำกัดวงในการอยู่อาศัย เรื่องอาหารการกินทางกัมพูชาจะสนับสนุนเต็มที่ เราก็ดูแลภาพรวม ถ้าพบว่า มีคนป่วยทางกัมพูชาก็จะรับไปรักษา
“ตอนนี้มีทั้ง 4 อำเภอ ตาพระยาและในบางอำเภอ หลายคนที่พบว่า กลับไปไม่ได้ ก็กลับไปตั้งหลักที่ต้นทางที่มาก็มี คนที่อยากจะรอก็ต้องให้อยู่ภายใต้การดูแลของทั้งสองฝ่าย น่าจะไม่ใช่เรื่องของการนำมาทิ้งทั้งหมด ส่วนหนึ่งอาจะเป็นเรื่องผลกระทบของชาวกัมพูชาแล้วอยากจะกลับประเทศตัวเอง กรณีเรื่องของข่าวคราวจำนวนมากที่จะมีการปิดชายแดน 14 วัน จึงเป็นเหตุให้มีชาวกัมพูชามาเพื่อจะกลับกัน ฉะนั้นต้องรอให้ครบ 14 วันว่า จะมีมาตรการอย่างอื่นเพิ่มเติมหรือไม่ ” ผู้ว่าฯ สระแก้ว กล่าว
————————-
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: