X

กู้ภัยฯ สระแก้วเรียกร้องให้ จนท.ออกรับ-ส่งผู้ป่วยได้วัคซีนที่ดีมีคุณภาพให้คนที่ทำงานเสี่ยงติดเชื้อ

สระแก้ว – คณะกรรมการมูลนิธิกู้ภัยสว่างสระแก้ว เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่กู้ภัยฯ ที่ออกรับ-ส่งผู้ป่วยโควิด-19 ได้รับวัคซีน Pfizer ฉีดกระตุ้นหรือบูสเตอร์โดส ให้กับคนที่ทำงานเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อได้ตลอดเวลา

เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 10 ส.ค.64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังเจ้าหน้าที่กู้ภัยฯ จ.สระแก้ว ออกมาเรียกร้องให้มีการจัดสรรวัคซีน Pfizer ฉีดกระตุ้นหรือบูสเตอร์โดส ให้กับเจ้าหน้าที่กู้ภัยที่ออกรับ-ส่งผู้ป่วยโควิด-19 โดย นายสมชาย แต้ไพบูลย์ และนายอำนาจ เนตรวิเชียร คณะกรรมการบริหารมูลนิธิสว่างสระแก้วธรรมสถาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางมูลนิธิมีสมาชิกอยู่ทั้ง 6 อำเภอ รวมประมาณกว่า 1,400 คน แต่เราได้เรียกร้องให้มีการฉีดให้คนที่ทำงานจริง ๆ แค่ 6 โดส สำหรับคนที่ไปรับคนเจ็บป่วย เผาศพโควิด อยากให้เขาได้มีอะไรที่ช่วยป้องกันตัวเอง ในส่วนของคณะกรรมการเราไม่ได้อยากฉีด เราต้องการให้เด็กที่ทำงานได้ฉีดจริง ทุกวันนี้หน่วยงานต่าง ๆ ก็ไม่ได้สนับสนุนเรานัก เช่น ชุดพีพีอี แมสก์ และอุปกรณ์อื่น ๆ ต้องใช้ทุนส่วนตัวกัน และเราก็ทำงานอยู่กับ รพ.ด้วยกันตลอด ตำรวจ ทหาร เคยออกไปรับศพหรือรับคนป่วยไหม เห็นแบบนี้แล้วเราเหนื่อย บางทีเด็กที่ทำงานก็ท้อ เพราะไม่ได้รับความสนใจ

“เราขอไปแค่ 6 โดส หรือ 6 คน สำหรับคนที่ต้องสวมชุดพีพีอี รับคนติดเชื้อไปส่ง หรือคนที่ต้องไปรับศพคนที่เสียชีวิตมาเผา เค้าบอกให้รอก่อน ทุกวันนี้เด็กที่ทำงานฉีดวัคซีนซิโนแวค 1 เข็ม 2 เข็มบ้าง ส่วนใหญ่จะได้ฉีดตอนที่มีวัคซีนเหลือก็จะโทรมาแจ้งให้เข้าไปที่ละ 6 คน 7 คน เราต้องการให้มีการฉีดเข็มที่ 3 เพื่อเพิ่มภูมิให้คนทำงาน เขาบอกว่า วัคซีนไม่พอต้องรอก่อน ฉีดให้หมอ พยาบาล เราไม่ซีเรียส แต่เราเห็นฉีดให้ตำรวจ ทหาร สอบถามทางสาธารณสุขก็ไม่มีใครอธิบาย จึงออกมาเรียกร้องให้คนที่ทำงานใกล้ชิดผู้ป่วยได้วัคซีนที่ดีมีคุณภาพบ้าง เราอยากเรียกร้องให้เค้ามีการจัดสรรให้คนที่ทำงานจริง ๆ และเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ตลอดเวลา” นายสมชายกล่าวและว่า

ปัจจุบันเจ้าหน้าที่กูภัยสว่างสระแก้วฯ มีสมาชิกประมาณ 1,400 กว่าคนและคนที่เป็นด่านหน้าจริง ๆ ต้องไปรับไปส่งผู้ป่วย มีประมาณอำเภอละ 10 คน ประกอบด้วย เมืองสระแก้ว เขาฉกรรจ์ วังน้ำเย็น วังสมบูรณ์ คลองหาด, วัฒนานคร คนพวกนี้ควรดูแลเขาก่อน เราต้องการความปลอดภัยของลูกน้องเรา เฉพาะในพื้นที่อำเภอเมืองสระแก้ว มีรถรับ-ส่งผู้ป่วย 7 คัน มีประมาณ 10 เคส ต่อวัน ใช้ชุดพีพีอีไม่ต่ำกว่าวันละ 30 ชุด ถ้ารวมทั้งหมดน่าจะต้องวิ่งรับ-ส่ง ผู้ป่วยวันละไม่ต่ำกว่า 30 เคส และรถ 1 คัน ใช้บุคลากรไม่ต่ำกว่า 3 คน อย่างน้อยก็ต้องใช้ชุดพีพีอี 3 ตัว ที่ใส่แล้วทิ้ง ซึ่ง ณ วันนี้ ยังไม่มีข้อสรุปว่า จะจัดสรรวัคซีนให้เราบ้างหรือไม่ บางทีลูกน้องเราก็น้อยใจว่า ทำไมเขาไม่นึกถึงพวกเราบ้าง แต่ต่อให้อย่างไรก็ตาม พวกเราก็ยังปฏิบัติหน้าที่อยู่เหมือนเดิม เพราะเราอาสามาแล้ว ถ้าเราหยุดวิ่งชาวบ้านจะทำอย่างไร

อย่างไรก็ตาม สำหรับข้อกำหนดของกระทรวงสาธารณสุขสำหรับบุคลากรด่านหน้าที่จะได้ฉีดไฟเซอร์นั้น ต้องเป็นผู้ที่ฉีดซิโนแวค/ซิโนฟาร์ม ครบ 2 เข็ม, ฉีดวัคซีนใด ๆ มาแล้ว 1 เข็ม ให้ฉีดไฟเซอร์เป็นเข็ม 2 ,ไม่เคยฉีดวัคซีนมาก่อน ให้ฉีดไฟเซอร์ 2 เข็ม (ห่างกัน 3 สัปดาห์) และบุคลากรที่ติดโควิดและไม่เคยได้รับวัคซีน ให้ฉีด 1 เข็ม รวมทั้งได้ให้นิยามคำว่า “บุคลากรด่านหน้า” คือผู้ปฏิบัติงานที่ต้องสัมผัสผู้ป่วยโควิดจากการปฏิบัติงาน รวมทั้งคนขับรถกู้ภัย สัปเหร่อ ฯลฯ

—————————-

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of ธนภัท กิจจาโกศล

ธนภัท กิจจาโกศล

"ธนภัท กิจจาโกศล" ผู้สื่อข่าวประจำ จ.สระแก้ว "ประสบการณ์ยาวนานกับงานสื่อสารมวลชนระดับประเทศ ในกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ จับงานด้านข่าว สกู๊ปและรายงานพิเศษ กว่า 22 ปี มุ่งสื่อสารความจริงและข่าวสารที่เป็นธรรม สู่ประชาชนในภูมิภาค ด้วยจรรยาบรรณของฐานันดรที่ 4 เพื่อสร้างความโปร่งใสการรับรู้ข่าวสารของสังคม"