สระแก้ว – ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว ลงพื้นที่โรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรมและขยะพิษ นั่งหัวโต๊ะหาทางแก้ปัญหาชาวบ้านร้องเรียนคัดค้านการขนกากขยะอุตสาหกรรมผ่านชุมชน ของโรงงานโปรเฟสฯ หลังชาวบ้านได้ทำเรื่องร้องเรียนมายังคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัดสระแก้วในหลายประเด็น กรณีเกิดปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อชุมชนโดยรอบรัศมี 5 กม.
เมื่อเวลา 15.30 น.วันที่่ 7 ก.ย.64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเกียรติศักดิ์ จันทรา ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว เดินทางลงพื้นที่ บริษัทโปรเฟสชั่นแนล เทคโนโลยี (1999) จำกัด ต.ห้วยโจด อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว และเป็นประธานเพื่อร่วมประชุมติดตามการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียน กรณีประชาชนหลายหมู่บ้าน ขอคัดค้านการขนกากขยะอุตสาหกรรมผ่านเส้นทางชุมชน การขยายบ่อกลบกากขยะอุตสาหกรรมแห่งใหม่ ซึ่งโรงงานดังกล่าว ถือเป็นโรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรมและขยะพิษ ประเภท 101 ที่มีเพียง 3 แห่งในประเทศไทย โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง นายจักรพงษ์ พันธุ์โชติ นายอำเภอวัฒนานคร พร้อมด้วย นางสาววิลัยวรรณ สว่างชื่น ปลัดอำเภอศูนย์ดำรงธรรม เจ้าของพื้นที่ได้เข้าร่วมประชุมด้วย เนื่องจากกรณีดังกล่าว ชาวบ้านได้ทำเรื่องร้องเรียนมายังคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัดสระแก้ว ซึ่งมีผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานด้วย
ทั้งนี้ สำหรับข้อมูลการติดตามเรื่องร้องเรียน กรณีประชาชนขอคัดค้านการขนกากขยะอุตสาหกรรมและการขยายบ่อกลบขยะอุตสาหกรรม อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว สืบเนื่องจากมติที่ประชุม ก.ธ.จ.สระแก้ว ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 15 มี.ค.64 โดยมีนางสาวหิรัญญา บุญจารูญ ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เขตตรวจราชการที่ 9 เป็นประธานฯ ที่ประชุม และมีมติมอบหมายให้ นายสาโรจน์ ทองพรหม รองประธาน กธจ. นายสมิทธิ์ เย็นสบาย นายรักศักดิ์ อ่อนทรง และจ่าสิบเอกชริน อยู่ถาวร เป็นผู้แทน ก.ธ.จ.สระแก้ว ในการลงพื้นที่ติดตามข้อมูลจากพื้นที่ เช่น อบต.ห้วยโจด อบต.โนนหมากเค็ง อำเภอวัฒนานคร ชาวบ้านบ้านหนองป่าหมาก ฯลฯ และประสานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สนง.ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมสระแก้ว อุตสาหกรรมจังหวัดสระแก้ว นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว ฯลฯ เพื่อหารือแนวทางแก้ไขปัญหา เพื่อให้พี่น้องประชาชนอยู่ร่วมกับบริษัทผู้ประกอบการธุรกิจกำจัดกากอุตสาหกรรมอันตราย สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข
ข่าวน่าสนใจ:
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลการติดตามข้อมูลในจากการลงพื้นที่และประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่า คณะกรรมการหมู่บ้านหนองป่าหมาก ได้มอบสำเนาเอกสาร เรื่อง ขอเพิ่มเติมการร้องทุกข์ กรณีการใช้เส้นทางการขนส่งกากอุตสาหกรรม และแนวแบ่งระหว่างตำบล เพิ่มเติม ส่วน นายวิชัย บรรณสาร นายก อบต.ห้วยโจด ได้ให้ข้อมูลว่า ทาง อบต.ห้วยโจด ไม่มีเครื่องจักรในการทำถนน จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะนำเครื่องมือของราชการไปรับเหมางานและเอื้อประโยชน์ในการทำถนนขนส่งกากอุตสาหกรรมอันตรายของภาคเอกชน และให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าพื้นที่ที่ทางโรงงานปรับเส้นทางเพื่อขนส่งกากอุตสาหกรรมเข้าสู่โรงงาน ในตำบลโนนหมากเค็ง เป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ประเภท น.ส.3ก. มิใช่พื้นที่ป่าสงวนตามที่ชาวบ้านสงสัย
ส่วนนายเชาว์ชัยพัฒน์ ฉวีนิรมล นายก อบต.โนนหมากเค็ง และ ผู้นำชาวบ้านหมู่ 4 ประมาณ 10 คน ได้ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันโรงงานมีการซื้อที่ดินบริเวณรอบโรงงานเพิ่มเติม และมีการขออนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน เพิ่มเติม เช่น การก่อสร้างอาคารสำนักงาน อาคารรีไซเคิล อาคารคุมลานปรับเสถียร เป็นต้น ซึ่งทางชาวบ้านมีข้อสงสัยว่าเป็นการขยายการผลิตการกำจัดกากอุตสาหกรรมหรือไม่ อย่างไร รวมทั้งได้ให้ข้อมูลเกี่ยวปัญหาข้อพิพาทกับโรงงานกำจัดกากขยะอุตสาหกรรมอันตรายในเรื่องเกี่ยวกับการรั่วไหลของมลพิษ ทั้งในเรื่องกลิ่น และน้ำเสียจากหลุมกลบฝังขยะ โดยรวมตัวร่วมกันฟ้องร้องต่อศาลจังหวัดสระแก้ว ในปี 2549 เป็นที่มาของชุมชน ติดตามเรียกร้องให้ทางโรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรมอันตราย จ่ายเงินกองทุนชดเชยเยียวยาให้กับชุมชนอย่างทั่วถึง ในด้านด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมตลอดมา
ส่วนการประสานกับทางอำเภอวัฒนานคร ได้มีการหารือประเด็นในเบื้องต้น กรณีประชาชนขอคัดค้านการขนส่งกากขยะอุตสาหกรรมอันตราย และการขยายบ่อกลบขยะอุตสาหกรรม โดยมีข้อเสนอเพิ่มเติมของคณะกรรมการหมู่บ้านหนองป่าหมาก ยืนยันไม่ต้องการให้ใช้ถนนขนส่งกากอุตสาหกรรมผ่านพื้นที่หมู่บ้าน ทางอำเภอได้ดำเนินการประชุมคู่กรณี และได้ตรวจสอบเอกสารสิทธิ เส้นทางตัดถนนขนกากอุตสาหกรรมผ่านบริเวณหมู่บ้านหนองป่าหมาก รวมทั้งสำเนาเอกสารชี้แจงมาตรการในการปรับปรุงแก้ไขการขนกากอุตสาหกรรม และการชดเชยเยียวยาประชาชน ผ่านกองทุนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมเข้ามาช่วยดูแล โดยปัจจุบันได้มีกองทุนนี้อยู่แล้ว แต่อยู่ในระหว่างการสำรวจรายชื่อหมู่บ้านที่เกี่ยวข้องให้เรียบร้อย หลังจากนั้นก็จะใช้กองทุนนี้เข้ามาช่วยเหลือดูแลต่อ ขณะที่การประสานกับทางอุตสาหกรรมจังหวัดสระแก้ว และ ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสระแก้ว ประมาณ 2 ครั้ง เพื่อให้ทางหน่วยงานที่รับผิดชอบ และภาคีต่าง ๆ ทั้ง ผู้แทน กธจ. นักวิชาการสิ่งแวดล้อมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการติดตาม ศึกษาปัญหาและแนวแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนของประชาชน แต่ผลปรากฏว่า ไม่มีการดำเนินการแต่ประการใด เพียงทราบว่า ผู้ราชการจังหวัดไม่ลงนามแต่งตั้งตามที่อุตสาหกรรมจังหวัดเสนอ ไม่ทราบว่าติดขัดประการใด
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า รายงานสรุปข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ กธจ.ที่ได้รับการมอบหมายลงพื้นที่ติดตามข้อมูลจากพื้นที่ และประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามมติที่ประชุม กธจ.สระแก้ว ครั้งที่ 1/2564 วันที่ 15 มี.ค.64 นั้น สามารถสรุปแนวทางได้ 3 เรื่อง เนื่องจากมีข้อสงสัยว่า การตัดถนนเส้นใหม่เพื่อขนส่งกากอุตสาหกรรมของโรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรมผ่านตำบลห้วยโจดไปยังตำบลโนนหมากเค็ง ที่ตั้งโรงงานถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ และต้องขออนุญาตจากหน่วยงานใด ประกอบด้วย 1.การตัดถนนเพื่อขนกากขยะอุตสาหกรรม ที่เป็นสารพิษอันตราย ไม่ว่าจะเป็นถนนสาธารณะหรือถนนที่สร้างบนที่ดินของเอกชน อาจจะเข้าข่ายการขยายกิจการของโรงงาน ที่ไม่ได้กำหนดไว้ในการทำ EIA ฉบับเดิม จึงจำเป็นต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ที่อยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตร ของที่ตั้งโรงงานและจำเป็นต้องมีการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติมใหม่ ตามแนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการจัดทำรายงานเสนอต่อ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)พ.ศ.2562 อนุมัติก่อนการดำเนินการขนส่งกากขยะอุตสาหกรรมอันตรายทุกครั้ง
และ 2.จากกรณีปัญหาข้อพิพาทกับโรงงานกำจัดกากขยะอุตสาหกรรมอันตราย ในเรื่องเกี่ยวกับการรั่วไหลของมลพิษ ทั้งในเรื่องกลิ่น และน้ำเสียจากหลุมกลบฝังขยะ กับชาวบ้านบริเวณรัศมี 5 กิโลเมตรรอบโรงงาน และจากการศึกษาข้อมูลจากการจัดทำรายงาน EIA ฉบับสมบูรณ์ ในปี 2545 ทางคณะทำงานตั้งข้อสังเกตว่าหลุมฝังกลบขยะอุตสาหกรรมอันตรายที่กำหนดไว้ โดย หลุม L1-L4 ประเภทกากขยะอุตสาหกรรมอันตราย หลุม L5-L8 ประเภทขยะทั่วไป จากข้อมูลที่เกิดปัญหาในเรื่องกลิ่น และน้ำเสียจากหลุมกลบฝังขยะ อาจจะเกิดการไม่ปฏิบัติตามหลักวิชาการ หรือตามเงื่อนที่เขียนไว้ใน EIA ได้แก่ การจัดการกากขยะอุตสาหกรรมอันตราย ตะกรันอลูมิเนียม (Aluminium Dross) จัดเป็นของเสียอันตราย หากสัมผัสกับน้ำหรือความชื้น จะก่อให้เกิดก๊าซแอมโมเนีย ซึ่งเป็นก๊าซพิษส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและมนุษย์ โดยก๊าซแอมโมเนียจะทำลายระบบทางเดินหายใจและกัดกร่อนผิวหนัง สำหรับกำจัดตะกรันอลูมิเนียมที่ทำให้เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด คือการรีไซเคิล ด้วยการเติมสารเคมีให้จับตัวเป็นก้อน และนำกลับไปใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมใหม่ แต่วิธีการนี้มีต้นทุนสูง โรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่จึงนิยมกำจัดตะกรันอลูมิเนียมด้วยวิธีฝังกลบ หากฝังกลบไม่ดี จะทำให้เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม จึงตั้งขอสงสัยว่าจะมีการดำเนินงานตรงตามใน EIA จำนวนมากน้อยเพียงใด และเป็นเหตุให้เกิดปัญหามลพิษ ตามที่ชาวบ้านร้องเรียนมาตลอดจนถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ในส่วนข้อ 3. ประเด็นการหารือในเบื้องต้น กรณีประชาชนขอคัดค้านการขนขนส่งกากขยะอุตสาหกรรมอันตราย และการขยายบ่อกลบขยะอุตสาหกรรม ตามที่ทางโรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรมอันตราย ได้นำเสนอกับอำเภอวัฒนานคร ในประเด็น การปรับปรุงแก้ไขการขนกากอุตสาหกรรม และการชดเชยเยียวยาประชาชน ผ่านกองทุนเพื่อพัฒนา คุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม เข้ามาช่วยดูแล ทางคณะทำงาน กธจ.ตั้งข้อสังเกตว่า จากรายงาน EIA ของโรงงานฯ ฉบับเดิม ได้กำหนดให้มีการจัดตั้งกองทุนขึ้น 3 กองทุน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการการแก้ไขปัญหาผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคมต่อชุมชนบริเวณใกล้เคียง ได้แก่ กองทุนเพื่อพัฒนาชุมชน จำนวน 108.8 ล้านบาท (คิดจาก 10 บาทต่อ 1 ตันขยะ) ,กองทุนเพื่อการปิดโครงการ จำนวน 163.2 ล้านบาท (คิดจาก 15 ต่อ 1 ตันขยะ) และกองทุนเพื่อฟื้นฟูภายหลังปิดการดำเนินงานโครงการ จำนวน 108.8 ล้านบาท (คิดจาก 10 บาทต่อ 1 ตันขยะ) โดยจะต้องมีการจัดตั้งคณะกรรมการกองทุน ที่มาจากตัวแทนโรงงานฯ ตัวแทนจากกรมโรงงาน นักวิชาการสิ่งแวดล้อมที่เป็นกลาง เจ้าหน้าที่ในท้องถิ่น และตัวแทนจากชุมชนที่ได้รับผลกระทบอย่างครอบคลุมทั่วถึง ซึ่งกำหนดไว้ตามระเบียบราชการ และต้องดำเนินการตั้งแต่เริ่มประกอบการ ซึ่งปัจจุบันดำเนินการมาประมาณ 20 ปีแล้ว กองทุนต่างๆ ดังกล่าว มีคณะกรรมการดูแล มีวงเงินและผลการดำเนินการอย่างไร หากไม่มีการดำเนินการ อาจจะถือว่าไม่ปฏิบัติการตามเงื่อนไข EIA และหน่วยงานที่รับผิดชอบ ต้องดำเนินการติดตามตรวจสอบอย่างรวดเร็วและเข้มงวด เพื่อรายงานต่อผู้ตรวจราชการฯ ภายใน 15 วัน ด้วย
———————————
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: