ปราจีนบุรี – ชาวบ้านร่วมกับไล่ช้างป่า”เจ้าแข็งแกร่ง” ไม่ไปฝูงช้างป่าอ่างฤาไน เข้าหากินในป่าอ้อยข้างหมู่บ้าน ต.เขาไม้แก้ว อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี
เมื่อวันที่ 10 ธ.ค.64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช้างป่าเจ้าแข็งแกร่ง ซึ่งเป็นจ่าฝูงช้างป่าอ่างฤาไน เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน เขตป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ยังคงปักหากินในป่าอ้อยของชาวบ้านข้างหมู่ที่ 4 ต.เขาไม้แก้ว อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี โดยเจ้าแข็งแกร่งได้มาหากินบริเวณนี้เกือบ 10 วันแล้ว ซึ่งอาศัยหลบอยู่ในป่าอ้อยที่หนาทึบของชาวบ้านที่ปลูกอยู่ติดกับหมู่บ้านหลายร้อยไร่ โดยเจ้าแข็งแกร่งมักจะออกมาหากินในช่วงเย็นและช่วงดึก แต่ละวันจะปรากฏตัวให้ชาวบ้านเห็น ซึ่งยังคงหวาดผวาเกรงว่า ช้างป่าแข็งจะเข้ามาประชิดตัวบ้านและทำลายข้าวของเสียหาย ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้ประชุมหารือกับผู้นำหมู่บ้านหาแนวทางผลักดันช้างป่าออกจากพื้นที่โดยเร็ว ซึ่งที่ผ่านมาชุดผลักดันช้างป่าได้ผลักดันเจ้าแข็งแกร่งออกจากพื้นที่ทุกครั้งที่ได้รับแจ้ง แต่ก็หลบเจ้าหน้าที่แล้วย้อนกลับมาอีก ทำให้เกิดความเสียหายทางพืชผลการเกษตรของชาวบ้านหลายราย ทางจังหวัดได้ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติฯ เพื่อให้การช่วยเหลือแล้ว
นายไพรัตน์ สาคร ชาวบ้านเขาไม้แก้ว กล่าวว่า เห็นเจ้าแข็งแกร่งเข้ามาหากินในพื้นที่หลายวันแล้ว ไล่ไปก็กลับมาอีกและยังพบฝูงช้างป่ามาหากินในพื้นที่อีก 20 ตัว คาดว่า น่าจะหลบซ่อนตัวอยู่ในป่าอ้อยติดกับหมู่บ้านคาดว่า จะยังไม่ไปไหน ซึ่งเจ้าหน้าที่แจ้งว่า ขั้นตอนการให้การช่วยเหลือกรณีช้างป่าทำให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แจ้ง อบต. หรือเทศบาล ให้รายงานเหตุด่วนสาธารณภัยไปยังอำเภอ ทางอำเภอรายงานด่วนสาธารณภัยไปยังสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดปราจีนบุรี ขอประกาศเป็นเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยในเบื้องต้นก่อน เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพื้นที่นั้น ๆ ใช้ประกอบการดำเนินการให้ความช่วยเหลือด้านดำรงชีพทันที ซึ่งตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2560 และ2561
โดยไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากจังหวัดดังนี้ บ้านที่ได้รับความเสียหายจะได้รับความช่วยเหลือเป็นค่าวัสดุซ่อมแซมที่อยู่อาศัยหลังละไม่เกิน 49,500บาท ยุ้งข้าว โรงเรือนเก็บพืชผลทางการเกษตร คอกสัตว์ ได้รับความเสียหายจ่ายจริง ครอบครัวละ 5,700 บาท ค่าเครื่องมือประกอบอาชีพ หรือเงินทุน สำหรับผู้ประสบภัยพิบัติที่เป็นอาชีพหลักในการหาเลี้ยงครอบครัวผู้ประสบภัยพิบัติได้รับความเสียหายครอบครัวละ 11,000 บาท ค่าช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ กรณีบาดเจ็บสาหัสต้องรักษาในสถานพยาบาลตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป ให้จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นเป็นเงิน 4,000 บาท เจ็บจนพิการไม่สามารถประกอบอาชีพตามปกติได้ ให้ช่วยเหลือเบื้องต้นเป็นเงิน 13,000 บาท ค่าจัดการศพผู้เสียชีวิตรายละไม่เกิน 29,700 บาท
ทั้งนี้ ให้ อบต หรือเทศบาล ดำเนินการตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรส่วนปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 ช่วยเหลือราษฎรตามหลักเกณฑ์ในการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามกระทรวงการคลังกำหนดไว้ หากเกิดความเสียหายด้านพืช จำนวน 2 รายขึ้นไป ที่เข้าข่ายเป็นสาธารณภัย ให้อำเภอรายงานเหตุด่วนสาธารณภัย เพื่อประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีฉุกเฉิน เพื่อใช้เงินในอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด กรณีให้ความช่วยเหลือด้านพืช โดยขอรับการสนับสนุนเงินในอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด (ด้านการเกษตร) อำเภอจะต้องจัดประชุมคณะกรรมการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติระดับอำเภอ (ก.ช.ภจ.) เพื่อนำเข้าที่ประชุมฯเสนอต่อคณะกรรมการช่วยเหลือผู้ประสบภัยระดับจังหวัด(ก.ช.ภ.จ) เพื่อพิจารณาช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่อไป
อย่างไรก็ตาม หลักเกณฑ์ในการการช่วยเหลือมีดังนี้ เกษตรกรจะต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกร กับหน่วยงานที่กำกับดูแลเกษตรกรแต่ละด้านของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เช่น ด้านพืชจะต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกับสำนักงานเกษตรอำเภอ ด้านประมงขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประมงอำเภอ ด้านปศุสัตว์ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานปศุสัตว์อำเภอ ในพื้นที่นั้น ๆ และเกษตรกรจะต้องขึ้นทะเบียนก่อนเกิดภัยพิบัติแล้วเท่านั้น พืชผลทางการเกษตรจะต้องได้รับความเสียหายโดยสิ้นเชิง ไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ การให้ช่วยเหลือตามจำนวนพื้นที่เพื่อปลูกที่เสียหายจริง ไม่เกินรายละ 30 ไร่ อัตราให้ความช่วยเหลือ ตามหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2556 ,ข้าว ไร่ละ1,113 บาท ,พืชไร่ ไร่ละ 1,148 บาท และพืชสวนอื่นๆ ไร่ละ 1,690บาท
————————-
ข่าว-ภาพโดย/ทองสุข สิงห์พิมพ์
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: