สระแก้ว – เครือข่ายประชาชนตะวันออก รวมตัวจัดประชุมสัมมนาระดมความคิดกำหนดยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงภาคตะวันออกให้เป็นธรรมและยั่งยืน ยืนยันเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้ คนตะวันออกจะต้องเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์การพัฒนา พร้อมประกาศปฏิญญาทับลาน 21 ธ.ค.64 เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก ได้มารวมตัวกัน ประกาศความต้องการและความใฝ่ฝันของผู้คนในภาคตะวันออกของเรา เราใฝ่ฝันถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน และการเปลี่ยนแปลงที่เป็นธรรม ให้ชาวตะวันออกได้เติบโตไปด้วยกัน
เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่เวโรน่า บูทีค โฮเทล อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี ได้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการ “บทเรียนภาคประชาชน สู่การจัดการสิ่งแวดล้อมท้องถิ่นในสถานการณ์ใหม่” ระหว่างวันที่ 20-21 ธันวาคม พ.ศ.2564 ในหัวข้อ “RE-DESIGN : ขับเคลื่อนตะวันออกที่เป็นธรรมและยั่งยืน โดยมีเครือข่ายภาคประชาชนและองค์กรหน่วยงานภาคีเครือข่ายภาคตะวันออก เข้าร่วมประชุมกว่า 100 คน โดยมีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับองค์การต่าง ๆ ร่วมกันจัดขึ้นเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงภาคตะวันออกให้เป็นธรรม ภายหลังได้รับการประกาศให้หลายพื้นที่เป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้ โดยประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออกมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ สำหรับการประชุมดังกล่าว มีนักวิชาการและแกนนำเครือข่ายเข้าร่วมแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดความรู้ เปิดเวทีพูดคุยทบทวนยุทธศาสตร์ตะวันออก โครงการพัฒนาและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ อาทิ อ.จำรูญ สวยดี ภาคประชาสังคมภาคตะวันออก , กัญจน์ ทัตติยะกุล เครือข่ายเพื่อนตะวันออก , ครรชิต เข็มเฉลิม มูลนิธิวนเกษตรเพื่อสังคม, อรชา ตรีเดช สมาคมเกษตรทางเลือกฉะเชิงเทรา , อ.ไพบูลย์ โสภณสุวภาพ มหาวิทยาลัยบูรพา , ดร.สมนึก จงมีวศิน EEC Watch, พรพนา ก๊วยเจริญ Land Watch , อ.ศุภกิจ นันทะวรากร มูลนิธินโยบายสุขภาวะ ,ดร.จักรพันธ์ นาน่วม ม.บูรพาวิทยาเขตสระแก้ว ,ดร.พรพิมล วราทร ผอ.สำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และนายมาโนช วีระกุล ประธานกรรมการ เดอะเวโรน่า แอ็ท ทับลาน ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ด้วย เป็นต้น ซึ่งมีการแบ่งกลุ่มพูดคุยประเด็นเชิงพื้นที่และเชิงประเด็น เพื่อเสนอผลจากกลุ่มไปสู่เป้าหมายการขับเคลื่อน และออกแบบการทำงานร่วมกันจากพื้นที่ย่อยสู่ภาพรวมภาค และร่างกลไกการทำงานร่วมกันของเครือข่ายภาคตะวันออก
นายชาญเชาวน์ ไวยานุกิจ กรรมการกำกับทิศทางด้านสิ่งแวดล้อมกับสุขภาพ สสส. กล่าวว่า กรณีของเครือข่ายตะวันออกหากสามารถวางสถานะของกลุ่มเครือข่ายให้เป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายใต้แนวคิดอีอีซีของรัฐ และเอาบทบาทของ สสส.มารวมกันเป็นหุ้นส่วนแบบทั้ง Onsite และ Online ในฐานะที่ตนเคยอยู่ในองค์การภาครัฐ จึงต้องการแลกเปลี่ยนข้อมูล สร้างเครือข่าย แต่จะออกแบบแบบไหนให้สอดคล้องกับบริบทที่มีความหลากหลายมาก ฉะนั้น ต้องออกแบบให้ดีเหมาะสมกับคำว่า เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ซึ่งจะทำงานกับภาครัฐได้ดี เพราะจะข้ามความเป็นไซโลของภาครัฐได้ นอกจากนั้น หากสามารถบูรณาการความเห็นของเราร่วมกับความเห็นของรัฐได้ ไม่ว่าจะเป็นการจับคู่ หรือเป็นการรวมกลุ่ม นี่คือจุดแข็งของภาคประชาชน ซึ่งมีความหลากหลาย ขณะที่ภาครัฐทำงานตามภารกิจหรือตามฟังก์ชั่นเท่านั้น ไม่สามารถทำนอกฟังก์ชั่นหรือตามอำนาจหน้าที่เท่านั้น จะทำอย่างไรให้ความหลากหลายของเครือข่ายตะวันออกเป็นจุดแข็งให้ได้ นอกจากนั้น ชุดข้อมูลของภาคประชาชนจะแตกต่างจากภาครัฐ ซึ่งบางคนบอกว่า ความแตกต่างของเราเป็นจุดอ่อน แต่ความจริงไม่ใช่ หากเราเอาชุดข้อมูลที่แตกต่างจากรัฐให้เป็นพลังเสริมให้เกิดความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ให้มันไปด้วยกันได้แบบวินวิน ที่จะมากกว่าการเป็นหุ้นส่วนที่หมายถึงการปรับโครงสร้างการพัฒนาได้
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงก่อนปิดเวที ทางกลุ่มเครือข่ายตะวันออก ได้ร่วมกันร่างคำประกาศ “ปฏิญญาทับลาน 21 ธันวาคม 2564” โดยมี น.ส.อินทิรา มานะกุล ตัวแทนเครือข่ายภาคตะวันออกจาก จ.จันทบุรี เป็นผู้อ่านคำประกาศ เครือข่ายประชาชน ภาคตะวันออก ระบุว่า “เราคือคนตะวันออก เรามีชุมชน มีประวัติศาสตร์ มีเกษตรกร แรงงาน นักวิชาการ คนรุ่นใหม่ มีป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ที่เป็นป่าที่ราบผืนสุดท้ายในภูมิภาค มีที่ดิน ภูเขา ผืนน้ำ ทะเล และทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์ ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา เราเป็นกลุ่มคนที่ต้องถูกบังคับให้ปรับตัว จากนโยบายและอำนาจของรัฐ รัฐใช้กฎหมายพิเศษ ที่สนับสนุนคุ้มครองการลงทุน และการพัฒนาอุตสาหกรรม ทั้งหมดนั้น ล้วนมาจากความต้องการของรัฐ และกลุ่มทุน บางกลุ่ม ที่คิดแทน บีบบังคับให้เราต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง สู่สังคมเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม ภายใต้ตัวเลขการเติบโต ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)
เราถูกละเลยการมีส่วนร่วมในการกำหนดยุทธศาสตร์ ทิศทางการเปลี่ยนแปลง ของภาคตะวันออก ไม่มีสิ่งใดเป็นหลักประกันให้แก่ ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ที่ดิน แม่น้ำ เกษตรกร คนงาน หรือการพัฒนาชุมชนและสังคม ราคาผลผลิตของเกษตรกร และค่าแรงตกต่ำ แต่กลับมีค่าครองชีพราคาสูง เกษตรกรไม่มีความมั่นคงในที่ดิน การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจชุมชน ไม่ได้รับการสนับสนุน ประชาชนที่ต้องคอยสูดดมอากาศที่ปนเปื้อน และสิ่งแวดล้อมที่ยังถูกช่วงชิงทำลาย ทั้งนี้ เราไม่ได้หมายถึง การแช่แข็งการเปลี่ยนแปลงไปของชุมชน และสังคม หากแต่เราเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงไปของสังคม ควรจะถูกกำหนดร่วมกันโดยประชาชน ชุมชน และสังคมที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันทั้งหมด ในวันนี้ เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก ได้มารวมตัวกัน ประกาศความต้องการและความใฝ่ฝันของผู้คนในภาคตะวันออกของเรา เราใฝ่ฝันถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน และการเปลี่ยนแปลงที่เป็นธรรม ให้ชาวตะวันออกได้เติบโตไปด้วยกัน
โดยเรามียุทธศาสตร์ที่จะทำงานร่วมกัน ด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เราจะสร้าง ระบบนิเวศ (ECOSYSTEM)ให้สนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนและการท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์บนฐานอัตลักษณ์ของชุมชน หนุนเสริมด้วยนวัตกรรมและโมเดลธุรกิจที่สร้างรายได้อย่างยั่งยืน ,ด้านการเกษตร เราจะรวมกลุ่มเครือข่ายสร้างศูนย์กลางความมั่นคงทางอาหารตะวันออกเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีและสมดุลทรัพยากร ,ด้านการจัดการทรัพยากรต้องจัดสรรอย่างสมดุลและเป็นธรรมส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิในการถือครองที่ดิน กระจายน้ำอย่างทั่วถึง ใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างเป็นธรรม จัดการขยะและมลพิษอย่างเป็นระบบ ไม่สร้างภาระให้ชุมชน ,และส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยออกแบบการเรียนรู้สำหรับคนทุกช่วงวัยให้เข้าถึงง่าย อิสระ หลากหลายช่องทาง และรูปแบบ ตามความสนใจ และออกแบบการเรียนรู้ได้ตามความถนัดของแต่ละคน
สุดท้ายนี้ เราขอยืนยันว่าเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้ คนตะวันออกจะต้องเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์การพัฒนา ความใฝ่ฝันที่จะกำหนดยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงภาคตะวันออกให้เป็นธรรมและยั่งยืน จะเกิดขึ้นได้ก็จากความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน ช่วยกันประกอบสร้างกันขึ้นมา เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ของชาวตะวันออก และส่งมอบผืนดินอันอุดมสมบูรณ์ แก่ ลูก หลาน นี่คือเจตนารมณ์ที่เราจะร่วมกันสร้างสรรค์ ” ประกาศ ณ ทับลาน วันที่ 21 ธันวาคม 2564
————————–
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: