สระแก้ว – ตรวจพบอาการคล้ายโรคใบด่างมันสำปะหลัง ในพื้นที่ตำบลตาพระยา จ.สระแก้ว เพิ่มอีก สั่งเร่งให้ความรู้เกษตรกรและเร่งสแกนค้นหาต้นมันสำปะหลังทุกต้น เพื่อควบคุมโรค หวั่นอุตสาหกรรมมันสำปะหลังไทยเสียหายหนัก ล่าสุด พบต้นมันมีอาการโรคคล้ายใบด่าง ในพื้นที่ตำบลทัพเสด็จและตำบลทัพไทย โดยได้ดำเนินการเข้าควบคุมและฝังกลบตามหลักวิชาการ จำนวน 2 ไร่ โดยต้องส่งตัวอย่างไปตรวจวิเคราะห์ผลที่ประเทศเกาหลี
เมื่อวันที่ 21 พ.ย.61 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศาลาอเนกประสงค์บ้านทัพสยาม หมู่ 15 ตำบลตาพระยา อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว สำนักงานเกษตรอำเภอตาพระยา ได้จัดอบรม การเฝ้าระวังและป้องกันการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลัง ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ตำบลตาพระยาและพื้นที่ใกล้เคียง หลังพบต้นมันสำปะหลังในพื้นที่ มีอาการคล้ายโรคใบด่างจำนวนหลายต้นในแปลงปลูกของเกษตรกร และเจ้าหน้าที่ได้ยืนยันว่า เป็นโรคอาการคล้ายใบด่างฯ
ข่าวน่าสนใจ:
ทั้งนี้ นายอารยันต์ ท่าใหญ่ นายอำเภอตาพระยา ได้เป็นประธานเปิดการอบรมเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ที่เดินทางเข้าร่วมรับการอบรม ประมาณ 200 คน โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานเกษตรจังหวัดสระแก้ว กลุ่มอารักขาพืช ศูนย์วิจัยพืชระยอง ศูนย์ส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีการอารักขาพืช จังหวัดชลบุรี ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรสาขาตาพระยา ภาคเอกชนและผู้แทนโรงงานแปรรูปมันสำปะหลังมาร่วมทำ MOU รับซื้อมันจากเกษตรกรด้วย
นางอรทัย สมใส รักษาการแทนเกษตรอำเภอตาพระยา กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์ของโรคใบด่างมันสำปะหลัง หรือ Cassva Mosaic Disease:CMD ในประเทศใกล้แนวชายแดนประเทศไทย-กัมพูชา ซึ่งโรคใบด่างมันสำปะหลังที่มีสาเหตุจากเชื้อไวรัสชนิด Sri Lankan cassava mosaic virus (สีลัวกาคาสซว่าโมเสคไวรัส) มีความรุนแรงของโรคทำให้ผลผลิตเสียหาย ร้อยละ 80-100 สามารถเข้าทำลายมันสำปะหลังได้ทุกระยะการเจริญเติบโต
“ลักษณะอาการของพืชที่เป็นโรค ใบจะแสดงอาการด่างเหลือง ลดรูป ต้นแคระแกร็น การแพร่ระบาดของโรคมีแมลงหวี่ขาวเป็นพาหะ และสามารถติดไปกับท่อนพันธุ์ โรคใบด่างมันสำปะหลังมีพืชอาศัยหลายชนิด เช่น สบู่ดำ ละหุ่ง พืชตระกูลถั่ว และพืชวงศ์ Euphorbiaceae (ยูโฟเบียซิอี้) ปัจจุบันยังไม่มีรายงานว่า พบโรคใบด่างมันสำปะหลังในประเทศไทย แต่มีรายงานแพร่กระจายของโรคนี้เข้ามาใกล้ชายแดนประเทศไทยมากขึ้น จึงมีความเสี่ยงที่จะแพร่ระบาดเข้ามาในประเทศไทยในอนาคต และประเทศไทยเองยังไม่มีพันธุ์มันสำปะหลังที่ต้านทานต่อเชื้อไวรัส สาเหตุของโรคใบด่างฯด้วย” นางอรทัยกล่าวและว่า
หากเกษตรกรจะปรับปรุงพันธุ์ต้องใช้เวลาอีกหลายปี เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์การระบาดของโรคดังกล่าว จึงจำเป็นต้องให้ความรู้ เพื่อสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ ป้องกันโรคอย่างเร่งด่วน ป้องกันการนำท่อนพันธุ์ติดโรคไปปลูก หมั่นสำรวจแปลงปลูก หากพบอาการคล้ายโรคใบด่าง ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตร เพื่อตรวจสอบและทำลายตามหลักวิชาการเพื่อป้องกันการระบาดของโรคทันที
อย่างไรก็ตาม สำหรับพื้นที่จังหวัดสระแก้ว พบต้นมันมีอาการโรคคล้ายใบด่างมันสำปะหลัง ในพื้นที่ตำบลทัพเสด็จและตำบลทัพไทย ได้ดำเนินการเข้าควบคุมและฝังกลบตามหลักวิชาการ จำนวน 2 ไร่ โดยต้องส่งตัวอย่างไปตรวจวิเคราะห์ผลที่ประเทศเกาหลี ซึ่งต้องรอผลการตรวจยืนยันว่า จะเป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์ดังกล่าวหรือไม่ เพื่อจะได้ดำเนินการในขั้นต่อไป
——————————-
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: