สระแก้ว – คนวังสมบูรณ์เตรียมรวมตัวคัดค้านแนวทางแก้ไขปัญหาที่ดิน 10,805 ไร่ อ.วังสมบูรณ์ จ.สระแก้ว ให้เป็นที่ราชพัสดุและ สปก.แบบแปลงรวม ระบุอยู่กันมากว่า 50 ปี ต่อไปจะต้องให้เช่าที่ดินไปชั่วลูกชั่วหลานหรือ? เรียกร้องให้ดำเนินการตามแนวทางจัดตั้งนิคมสหกรณ์ เช่นเดียวกับพื้นที่ อ.วังน้ำเย็น อ.เขาฉกรรจ์ และ ต.วังใหม่ อ.วังสมบูรณ์ ที่ดำเนินการไปแล้วก่อนหน้านี้
เมื่อวันที่ 11 มี.ค.65 ผู้สื่อข่าวรายว่า ภายหลังรัฐบาลมอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีสำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดสระแก้ว ร่วมกับปลัดจังหวัดสระแก้ว นายอำเภอวังสมบูรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ร่วมกับคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบาย แนวทางและมาตรการการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน เพื่อสำรวจพื้นที่ป่าปลายคลองห้วยไคร้-คลองพระสทึง เมื่อวันที่ 4 ก.พ.65 ที่ผ่านมา ตามคำสั่งของคณะอนุกรรมการจัดการที่ดินแห่งชาติ โดยมอบหมายให้ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สำรวจข้อมูลการถือครองที่ดินและใช้ประโยชน์ ในโครงการจำแนกพื้นที่ป่าถาวรและพื้นที่ป่าไม้ตามมติคณะรัฐมนตรีฯ ช่วงระหว่างวันที่ 9-12 มี.ค.65 นี้ เพื่อนำไปพิจารณาดำเนินการมติคณะรัฐมนตรีฯ ภายหลังเห็นชอบให้ดำเนินการเปลี่ยนพื้นที่ตลาดวังสมบูรณ์เป็นที่ราชพัสดุ โดยกรมธนารักษ์ ส่วนพื้นที่เกษตรกรรม ให้ออกเป็นเอกสารสิทธิ์ สปก.แบบแปลงรวม ภายหลังชาวบ้านในพื้นที่ อ.วังสมบูรณ์ จ.สระแก้ว เรียกร้องให้แก้ไขปัญหาเรื่องเอกสารสิทธิ์ที่ดินพื้นที่ดังกล่าวมานานเกือบ 20 ปี ส่งผลให้ตัวแทนชาวบ้าน แกนนำและเจ้าของกิจการร้านค้าในพื้นที่ตลาดวังสมบูรณ์กว่า 50 คน เดินทางมารวมตัวกัน ที่ห้องประชุมเทศบาลตำบลวังสมบูรณ์ เมื่อช่วงบ่ายวานนี้(10 มี.ค.) เพื่อเตรียมร้องคัดค้านแนวทางดังกล่าว
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การรวมตัวของชาวบ้าน มีนายชาตรี สง่าพล นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลวังสมบูรณ์ ซึ่งรับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านและผู้ประกอบการในพื้นที่ตลาดวังสมบูรณ์ ซึ่งไม่เห็นด้วยกับแนวทางการจัดการที่ดินดังกล่าว และได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากองค์กรต่าง ๆ มาร่วมหารือ อาทิ พ.ต.อ.พายัพ ทองชื่น อดีต สว.สระแก้ว ,ร.อ.ทองวราห์ มากสาคร รองประธานสภา อบจ.สระแก้ว ,นายสาโรจน์ ทองพรหม รองประธานคณะธรรมาภิบาลจังหวัด ,นายสมิทธ์ เย็นสบาย กรรมการธรรมาภิบาลจังหวัด และนายอมตะ จันทร์ประเสริฐ นักกฎหมายและผู้เดือดร้อนในพื้นที่ โดยมีกำนันตำบลวังสมบูรณ์ ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกเทศบาล เจ้าของกิจการ และผู้ประกอบการร้านค้า รวมถึงประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับแนวทางการจัดการที่ดิน ได้มาร่วมพูดคุยและวางแนวทาง เพื่อคัดค้านการดำเนินการดังกล่าว เนื่องจากอยู่กันมามากกว่า 50 ปี ต่อไปจะต้องให้เช่าพื้นที่ไปชั่วลูกชั่วหลานหรืออย่างไร
ข่าวน่าสนใจ:
นายสมิทธิ์ เย็นสบาย นักวิชาการ กล่าวว่า ข้อสรุปของหน่วยงานรัฐที่ดำเนินการ ได้ตั้งธงไว้ชัดเจน ระบุว่า “การประชุมหารือการจำแนกประเภทที่ดินจังหวัดสระแก้ว เพชรบุรี และปัตตานี เมื่อวันที่ 29 ธ.ค.64 โดยที่ประชุมมีมติ เห็นชอบการจำแนกประเภทที่ดินพื้นที่ป่าไม้ถาวร “ป่าปลายคลองห้วยไคร้-พระสทึง” จังหวัดสระแก้ว เนื้อที่ประมาณ 10,805 ไร่ ที่มีการจำแนกการใช้ประโยชน์ที่ดิน 2 ประเภท คือ 1.ประเภทที่อยู่อาศัยและร้านค้า ,ตลาด, ปั๊มน้ำมัน, วัด, สวนสุขภาพ, โรงงาน, ที่ว่างเปล่า และลานมัน เนื้อที่ประมาณ 1,256 ไร่ โดยให้กรมธนารักษ์ไปดำเนินการ 2.ประเภทพื้นที่เกษตรกรรม ,ทุ่งเลี้ยงสัตว์ ถนนและพื้นที่น้ำ (คลอง ,ลำน้ำ, สระน้ำ) เนื้อที่ประมาณ 9,549 ไร่ โดยให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรไปดำเนินการ” ซึ่งมีความชัดเจนมาก เชื่อว่า หากมีการสำรวจข้อมูลการถือครองที่ดินครบถ้วน เพื่อนำเสนอไปยังคณะอนุกรรมการจัดการที่ดินแห่งชาติและกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เชื่อว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือน เมื่อถึงเวลานั้น ชาวบ้านจะถูกเปลี่ยนฐานะจากเจ้าของที่ดินเป็นผู้เช่าที่ดินราชพัสดุทันที
นายอมตะ จันทร์ประเสริฐ นักกฎหมายและผู้เดือดร้อนในพื้นที่ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้มีการเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาที่ดินพื้นที่นี้ 5 แนวทาง แต่รัฐบาลกลับเลือกแนวทางที่ 5 คือให้กรมธนารักษ์และ สปก.มาดำเนินการ ขณะที่แนวทางที่ 3 ซึ่งน่าจะเหมาะสมกับพื้นที่ที่สุดกลับไม่ถูกเลือก โดยแค่ขยายพื้นที่เขตนิคมสหกรณ์มาให้ครอบคลุมพื้นที่ อ.วังสมบูรณ์ เหมือนกับที่ดำเนินการมาแล้วใน อ.เขาฉกรรจ์ อ.วังน้ำเย็น และ ต.วังใหม่ อ.วังสมบูรณ์ ซึ่งเดิมมีโครงการมาถึงเขต ต.วังสมบูรณ์ แต่ไม่ได้ดำเนินการ ฉะนั้นตอนนี้แค่เพียงขยายเขตนิคมฯมาให้ครอบคลุมพื้นที่ ต.วังสมบูรณ์ โดยทิศตะวันออกของถนนสาย 317 ห่าง 2 กม. และทิศตะวันตก 2 กม. แล้วให้ชาวบ้านที่ถือครองที่ดินอยู่ ไปสมัครสมาชิกสหกรณ์และดำเนินการไปตามขั้นตอนของกรมส่งเสริมสหกรณ์ ใช้เวลาประมาณ 15-20 ปี ชาวบ้านก็จะได้รับเอกสารสิทธิ์โฉนดที่ดิน เช่นเดียวกับพื้นที่ อ.เขาฉกรรจ์ วังน้ำเย็น และวังสมบูรณ์ บางส่วน
สำหรับพื้นที่ดังกล่าว ครม.ได้กำหนดป่าปลายคลองห้วยไคร้-พระสทึง เป็นป่าไม้ถาวร เมื่อวันที่ 22 ก.ย.2513 จากนั้น ครม.เมื่อวันที่ 7 ก.ย.2525 มอบพื้นที่ป่าไม้ถาวรส่วนหนึ่งของป่าปลายคลองห้วยไคร้-พระสทึง ให้จัดตั้งนิคมสหกรณ์ เนื้อที่ 103,707 ไร่ ซึ่งมีการจัดตั้งนิคมสหกรณ์ในพื้นที่บางส่วน และยังคงเหลืออีก 10,805 ไร่ ที่ยังเป็นป่าไม้ถาวรและราษฎรร้องขอให้เพิกถอนป่าเรื่อยมา กระทั่ง มติที่ประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาที่ดิน จ.สระแก้ว วันที่ 8 ก.พ.62 ให้จำแนกพื้นที่ออกจากป่าไม้ถาวรเป็นที่ทำกินและใช้ประโยชน์อื่น และมติที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาที่ดิน 16 ธ.ค.62 เห็นชอบตามที่คณะอนุกรรมการพัฒนาที่ดินจังหวัดสระแก้วเสนอ จึงนำเสนอเข้าสู่คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 ก.พ.63 โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีส่งเรื่องคืนให้กระทรวงเกษตรฯ เมื่อวันที่ 6 พ.ย.63 โดยให้เหตุผลว่า จะต้องผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.)ก่อนเสนอ ครม. เนื่องจากมีการประกาศใช้ พรบ.คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ.2562 รวมทั้งรอผลการพิจารณาของคณะกรรมการจัดที่ดินว่า จะดำเนินการอย่างไร ตาม พรบ.(แก้ไขเพิ่มเติม)ประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2562 ทำให้หลักเกณฑ์การดำเนินการเปลี่ยนแปลงไป
กระทั่ง มติคณะทำงานติดตามและขับเคลื่อนนโยบาย แนวทางและมาตรการ การบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน เมื่อวันที่ 4 เม.ย.64 เห็นชอบให้ส่งมอบให้ สปก.ดำเนินการ หลัง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ จ.สระแก้ว เมื่อวันที่ 8 ต.ค.64 พบว่า มีการถือครอบ ภบท. และ สปก. ส่วนอาชีพมีทั้งเกษตรกรรม 40.74% ค้าขาย 37.78 % และรับจ้าง 34.07% จึงให้กลับไปทบทวนและพิจารณาพื้นที่นี้ใหม่ กระทั่ง วันที่ 29 ธ.ค.64 ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบ ให้พิจารณาจำแนกที่ดิน 10,805 ไร่ โดยให้กรมธนารักษ์ไปดำเนินการ 1,256 ไร่ และให้ สปก.ไปดำเนินการแบบแปลงรวม 9,549 ไร่ ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ล่าสุด ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านและผู้เดือดร้อนจากมติแนวทางดังกล่าว ได้รวมตัวกันเพื่อจัดตั้งเป็นคณะทำงานขับเคลื่อนฯ เพื่อคัดค้านแนวทางดังกล่าวเพื่อให้มีการดำเนินการปรับตามแนวทางให้ชาวบ้านได้ประโยชน์สูงสุด ไปจนถึงขั้นฟ้องร้องต่อศาลปกครอง เพื่อให้มีการคุ้มครองชั่วคราวกรณีถูกละเมิด รวมทั้งเตรียมติดป้ายคัดค้านแนวทางดังกล่าวของรัฐบาลทั่วพื้นที่ อ.วังสมบูรณ์ จ.สระแก้ว ด้วย
—————————–
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: