สระแก้ว – วิจารณ์แซดตามหาเสาไฟกินรีติดตั้งถี่ยิบ พบแล้วอยู่ริมคลองพระสทึง อยู่ที่เขตเทศบาลเมืองสระแก้ว อ.เมือง จ.สระแก้ว โดยเทศบาลฯระบุ ไม่ได้ใช้งบก่อสร้าง แค่รับมอบมาดูแลตั้งแต่ปี 2560 ส่วนผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว สั่งในที่ประชุมให้สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองชี้แจงกรณีนี้และให้ถอดเสาไฟออก ให้มีระยะห่างที่เหมาะสม เพื่อนำไปใช้ในพื้นที่อื่นให้เกิดประโยชน์ หลังใช้งบประมาณของกรมโยธาธิการและผังเมือง จำนวน 10 ล้านเศษ ก่อสร้างตั้งแต่ปี 2558
เมื่อวันที่ 22 มี.ค.65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังเพจ”สำรวจโลก” ได้เผยแพร่ภาพเสาไฟจากสระแก้ว ของทางบ้านคุณ @tum Uttaphol ส่งมาให้ดูกัน ระบุว่าที่เมืองของท่านมีเสาไฟฟ้าส่องสว่าง น่าสนใจ ส่งมาประกวดประขันกัน ที่ inbox” กลายเป็นที่ฮือฮาในสื่อโซเชียลมีเดียและถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ไม่แพ้กรณีของเสากินรีในพื้นที่ อบต.ราชาเทวะ จ.สมุทรปราการ โดยมีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก อาทิ บอกว่า “พวกคุณเอางบไปพัฒนาโรงเรียนให้เงินเดือนครู บรรจุให้เขาพัฒนาโรงพยาบาลตามชนบท ยังมีประโยชน์กว่านะ เจอแบบนี้สงสารประเทศจริง ๆ” หรือความคิดเห็นของคุณ Songphon Booranaphas บอกว่า “ห่างกันแทบจะก้าวต่อก้าวเลยเนอะ เป็นห่วงสวัสดิภาพ ปชช.ดีจัง หรือบางคนก็ให้ความเห็นทำนองต่อว่า “หมดอะไรที่จะทำแล้วหรอ ,สระแก้วดังอีกแล้ว, ถี่เหลือเกิน ชีวิตต้องการแสงสว่าง”
ข่าวน่าสนใจ:
เช่นเดียวกัน คุณ Nawadol Korchitmet ให้ความเห็นว่า “เพื่อให้เอกชนมีรายได้ ตามนโยบายที่มีมาช้านานของหน่วยงานภาครัฐบางแห่งที่เกี่ยวข้อง นั่นเอง ส่วนเอกชนเจ้านั้นจะมี Return ให้เป็นค่าน้ำใจรึเปล่า อันนี้คงต้องดูเอกสารจัดซื้อละว่า มันสอดคล้องมั้ย เพราะเป็นเงินประชาชนที่เขาสามัคคีกันจ่ายกึ่งโดนบังคับทั้งนั้น (Vat บ้าง อย่างอื่นบ้าง) เรื่องนี้ถ้ารัฐบาลผู้มีอำนาจตรวจสอบนิ่งเงียบ นอกจากดูไร้ความหมายแล้ว ยังอาจถูกมองว่า มีส่วนรู้เห็นกับดีลที่ไม่ Make Sense นี่ด้วยนะครั๊บบ” ,ส่วนคุณ Wichit Sangprakhon บอกว่า “ขอแบ่ง เอามา ปลูก ตามสี่แยก สามแยก ทางม้าลาย บ้างได้รึเปล่า ไม่มีไฟ คนเดินข้าม ถึงทางแยก มองไม่เห็น คนข้าม มองไม่เห็นทางแยก ทางโค้ง มืดตึ๊บ บางที่ มีแต่หลอดขาด ช่วยแก้ไขให้ด้วย ป้ายรถเมล์ จะเป็นรังโจรแล้ว บางที่ไม่มีไฟแสงสว่างเลย ช่วยดำเนินการด้วย ขอบคุณครับ” เป็นต้น
ผู้สื่อข่าว จ.สระแก้ว เดินทางลงพื้นที่จุดก่อสร้างดังกล่าว พบว่า อยู่บริเวณริมคลองพระสทึง ฝั่งเทศบาลเมืองสระแก้ว เขตชุมชนย่อยที่ 20 สระแก้ว-สระขวัญ ถนนเทศบาล 6 ใกล้กับสะพานข้ามคลองพระสทึงไปยังพื้นที่ ต.สระขวัญ อ.เมือง สระแก้ว ก่อสร้างโดยสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสระแก้ว ได้รับการจัดสรรงบประมาณ โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมคลองพระสทึงฯ ความยาว 100 เมตร จากกรมโธยาธิการและผังเมือง งบประมาณปี 2558 จำนวน 2.1 ล้านบาท ,งบผูกพันปี 2559 จำนวน 8.4 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 10.5 ล้านบาท โดยมีห้างหุ้นส่วนจำกัดชื่อดังแห่งหนึ่ง ในพื้นที่ อ.อรัญประเทศ เป็นผู้รับจ้างโครงการ ตามสัญญาจ้างเลขที่ 137/2558 ลงวันที่ 29 พ.ค.58 วงเงินสัญญาจ้าง 10,277,000 บาท โดยมีการบันทึกส่งมอบและรับมอบ ทรัพย์สินสิ่งปลูกสร้างโครงการดังกล่าว ให้กับเทศบาลเมืองสระแก้ว เป็นผู้ดูแล เมื่อวันที่ 31 ก.ค.60
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว เป็นเขื่อนป้องกันตลิ่งความยาวประมาณ 100 เมตร มีเสาไฟกินรีติดตั้งชิดกันระยะห่างระหว่างเสาประมาณ 2.5 เมตร จำนวน 34 ต้น ปัจจุบันมีเถาวัลย์และต้นไม้ปกคลุมบางส่วน ประชาชนที่จะเข้าไปใช้งาน ต้องเดินลัดเลาะไปบริเวณริมคลอง เพื่อเดินขึ้นไปบนสันเขื่อน ซึ่งดูจากสภาพที่เห็น คาดว่า จะมีคนในพื้นที่เข้าไปใช้งานน้อยมาก ขณะที่หลอดไฟบางหลอด มีสภาพที่ใช้งานไม่ได้ บริเวณสวิทต์ไฟถูกรื้อถอดออกหลายเสา ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่บางรายเห็นว่า มีการก่อสร้างแล้วแทบไม่ได้มีการใช้งาน จึงถ่ายภาพดังกล่าวส่งไปเผยแพร่ในเพจดัง จนถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก
นายตระกูล สุขกุล นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองสระแก้ว มอบหมายให้ นายหฤษฎ์ สุขกุล รองนายกเทศมนตรีเมืองสระแก้ว ชี้แจงกรณีนี้ว่า โครงการนี้ไม่ใช่โครงการของเทศบาล เป็นโครงการของกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งจัดสรรงบ 10 ล้านกว่าบาท มาก่อสร้างแล้วมอบให้เทศบาลเมืองสระแก้ว เป็นผู้ดูแล ซึ่งสาเหตุที่มีการก่อสร้างเสาไฟถี่ขนาดนั้น ตนไม่ทราบ ขึ้นอยู่กับแบบที่ทางโยธาและผังเมืองกำหนด ถือว่าเราได้ประโยชน์เพราะไม่ได้ก่อสร้างเอง และได้รับมอบมาตามแบบที่เขาก่อสร้าง ประชาชนได้ประโยชน์ ช่วยป้องกันตลิ่งพัง ปรับภูมิทัศน์ แต่ไม่ทราบว่า สาเหตุที่เสาไฟตั้งถี่ขนาดนี้เพราะอะไร ซึ่งโครงการก่อสร้างลักษณะนี้มีอีก 2 แห่ง ในเขตเทศบาล แต่ไม่ได้มีการติดตั้งเสาไฟถี่แบบนี้
ทางด้าน นายปริญญา โพธิสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว ได้สั่งการในที่ประชุมจังหวัดภายหลังเรื่องนี้ตกเป็นข่าวและถูกวิพากษ์วิจารณ์ พร้อมกับให้สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองสระแก้ว ชี้แจงกรณีนี้ให้สังคมเข้าใจ หลังใช้งบประมาณของกรมโยธาธิการและผังเมือง จำนวน 10 ล้านเศษ ก่อสร้างตั้งแต่ปี 2558 ด้วย
อย่างไรก็ตาม นายวิทยา ไวนุสิทธิ์ นายช่างโยธาชำนาญงาน สำนักงานโยธาธิการและผังเมือง ให้ข้อมูลว่า การสร้างเขื่อนที่ตกเป็นข่าว ได้ขออนุญาตกรมเจ้าท่าอย่างถูกต้อง ความยาว 100 เมตร ใช้เสาไฟ 36 ต้น ราคาต้นละ 11,500 บาท รวมทั้งระบบการติดตั้งทั้งหมด โดยสร้างเมื่อปี 2558 เสร็จสิ้นปี 2559 และส่งมอบให้ทางเทศบาลดูแลตั้งแต่ปี 2560 ส่วน นายสุรศักดิ์ โสภัณฑ์ นายช่างโยธาธิการอาวุโส กล่าวว่า ในที่ประชุมจังหวัดผู้ว่าฯ ได้สั่งการให้ผู้ดูแลโครงการฯ ชี้แจงในส่วนที่มีการใช้เสาไฟกินรีจำนวนมาก โดยแนะนำให้มีการขยับออกไป โดยให้รื้อถอนและจัดระยะห่างให้เหมาะสม พร้อมกับนำเสาไฟส่วนที่ถอดออก ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป
———————————
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: